เลือกกลยุทธ์(แบบไหน) ให้เหมาะกับองค์กรธุรกิจ

 



     “การวางแผนกลยุทธ์” เป็นสิ่งจำเป็นต่อทุกองค์กร เพราะเป็นเรื่องของการกำหนดวิสัยทัศน์ กำหนดเป้าหมายระยะยาวที่ชัดเจน พร้อมกับวิเคราะห์อนาคตเพื่อตอบสนองการเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้น อย่างไรก็ดี จากข้อมูลของบริษัทที่ปรึกษา เอพีเอ็ม กรุ๊ป ผู้ดำเนินธุรกิจที่ปรึกษาเพื่อการพัฒนาองค์กรและบุคลากรของไทย ได้สรุปประเภทของกลยุทธ์ที่เหมาะกับองค์กร โดยแบ่งจากบริบททางธุรกิจในรูปแบบต่างๆ 4 ประเภทด้วยกัน ดังนี้

    กลยุทธ์ Advance – คือ องค์กรที่ต้องการยกระดับ มีเป้าหมายที่จะเลื่อนขึ้นไปอีกขั้นหนึ่งในเชิงธุรกิจ เช่น ต้องการปรับยอดจากหมื่นล้านเป็นแสนล้าน หรือต้องการเปลี่ยนจากองค์กรระดับภูมิภาคเป็นระดับโลก โดยองค์กรประเภทนี้มักจะเกิดความซับซ้อนขึ้นในเรื่องของแนวทาง ทิศทาง เป้าหมาย และสิ่งที่ตามมาคือ คนในองค์กรพัฒนาตัวเองตามไม่ทัน หากจะเอาคนนอกที่ทำงานในระดับ mid-career มาก็เกิดปัญหาที่ว่าต่างคนต่างมาจากหลากหลายที่ และทำงานด้วยกลยุทธ์ที่แตกต่างกันมาก่อน เชื่อว่าตัวเองเก่งที่สุด เมื่อเป็นเช่นนี้งานก็ไม่เดินอีก 

    ดังนั้น ทางออกหนึ่งที่องค์กรจะทำได้คือ ต้องมีการวางแผนพัฒนาคนระยะยาว เพื่อให้คนในที่อยู่ด้านล่างสามารถพัฒนาขึ้นได้ทันและสามารถปฏิบัติตามกลยุทธ์ที่มาจากด้านบนได้อย่างตอบโจทย์


    กลยุทธ์ Recover– คือ องค์กรที่กำลังประสบปัญหาหรืออยู่ในขาลง โดยปัญหาที่เกิดขึ้นอาจจะมาจากปัจจัยภายในหรือภายนอกก็ได้ ดังนั้นสิ่งสำคัญคือต้องทำให้คนเข้าใจถึงกลยุทธ์ที่เปลี่ยนไปว่า มันจะทำให้องค์กรดีขึ้นได้ นั่นคือเรื่องของการเปลี่ยน mindset ของพนักงาน 

    ยกตัวอย่าง เช่น เมื่อองค์กรกำลังประสบปัญหาขาดทุนอย่างหนักต้องการจะฟื้นสภาพคล่องของธุรกิจ โดยการเปลี่ยนเป้าหมายขององค์กร กลยุทธ์หลักในการทำงานจึงต้องเปลี่ยนตาม หากแต่คนที่ทำอยู่แล้วรู้สึกหมดกำลังใจในการทำงานไปนานแล้ว เขาไม่รู้สึกว่ากลยุทธ์ใหม่จะช่วยให้อะไรดีขึ้น ดังนั้นกลยุทธ์ที่ควรจะต้องนำไปใช้สำหรับองค์กรที่ประสบปัญหาแบบนี้คือ ต้องเป็นกลยุทธ์ที่ผูกเอาเรื่องของวัฒนธรรมในองค์กรเข้าไปด้วย

    กลยุทธ์ Transform– คือ องค์กรที่ต้องการพลิกโฉม ต้องการเปลี่ยนแปลงหลายๆ อย่าง เพื่อตอบโจทย์ใหม่หรือเป้าหมายใหม่ที่องค์กรต้องการ อาจด้วยสาเหตุบางอย่างที่ทำให้ใช้กลยุทธ์เดิม เป้าหมายเดิมไม่ได้อีกแล้ว ดังนั้นกลยุทธ์ที่ใช้กับองค์กรประเภทนี้อาจเป็นการเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดจากภายนอก หรืออาจเป็นกลยุทธ์ที่ส่งผลโดยเฉพาะต่อคนภายใน เพื่อให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงแค่ภายใน เช่น เปลี่ยนระบบหรือการปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานของบุคลากร

    กลยุทธ์ Start Up – คือ องค์กรที่ต้องการแตกไลน์ธุรกิจมาทำธุรกิจใหม่ นั่นคือการเริ่มจากศูนย์ ดังนั้นการทำเรื่องของกลยุทธ์ให้กับองค์กรประเภทนี้ จึงอาจต้องเริ่มตั้งแต่การรวบรวมไอเดีย ไปจนถึงการกำหนดแผนกลยุทธ์ให้เห็นเป็นรูปธรรมจับต้องและนำมาปฏิบัติได้อย่างชัดเจน 

    ทั้งนี้ นอกจากการเลือกกลยุทธ์ที่ถูกต้องและเหมาะสมกับองค์กรของคุณแล้ว หลายๆ ครั้งปัญหาที่เกิดขึ้นคือ แม้ว่าจะมีการกำหนดกลยุทธ์ไว้อย่างสวยหรู แต่กลับไม่สามารถนำไปปฏิบัติได้จริง เหตุเพราะว่าระดับผู้บริหาร ซึ่งเป็นฝ่ายคิดกลยุทธ์ไม่เข้ามามีส่วนร่วมในการทำให้กลยุทธ์นั้นๆ เกิดขึ้นจริง และคนที่คิดกลยุทธ์ (strategist) กับคนที่นำกลยุทธ์มาปฏิบัติ (executor) เป็นคนละกลุ่มกัน มีความต้องการและความเข้าใจไม่ตรงกัน 

    ทางออกอย่างหนึ่งก็คือ การนำเอาเรื่องของ collective wisdom เข้ามาใช้ นั่นคือ การร่วมกันแชร์ความคิด ความรู้กันคนละเล็กคนละน้อย เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมของฝ่ายคิดและฝ่ายทำ เพื่อให้ทั้งสองฝ่ายเชื่อว่าเรื่องกลยุทธ์ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดหรือการปฏิบัติ ล้วนแต่เป็นความรับผิดชอบร่วมกันของทุกคนในองค์กร

Create by smethailandclub.com

RECCOMMEND: MANAGEMENT

เขียนสัญญาเช่ายังไงให้รัดกุม ธุรกิจไม่เสียเปรียบ

สัญญาเช่า เรื่องใกล้ตัวผู้ประกอบการหลายคนอาจมองว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่รู้ไหมการมีสัญญาเช่าที่ดีและรัดกุม สามารถป้องกันปัญหาและความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นได้มากมาย

ทำงานให้ได้งาน 4 เทคนิคบริหารเวลา เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน

ทำไมบางคนงานท่วมหัว ทำงานยุ่งอยู่ตลอดเวลา แต่งานกลับไม่หมดซะที แถมยังส่งงานไม่ทันกำหนด เราเลยมีเทคนิค เช่น Eisenhower Matrix, Eat that frog, Pomodoro และ กฎ 80/20  ซึ่งจะช่วยให้บริหารเวลาได้อย่างมีประสิทธิภาพและชีวิตการทำงานไม่เครียดอีกต่อไป

ประชุมยังไงให้ได้งาน เทคนิคจาก 4 คนดังที่ประสบความสำเร็จ 

การประชุมที่มีประสิทธิภาพนำไปสู่ความสำเร็จ มักจะมีปัจจัยหลายอย่างเข้ามาเกี่ยวข้อง เราจึงมีเคล็ดลับการประชุมที่แตกต่างกันของคนดังที่ประสบความสำเร็จ  พร้อมแนะนำเทคนิคที่จะช่วยให้การประชุมมีประสิทธิภาพมาฝาก