เรื่อง : อภิวุฒิ พิมลแสงสุริยา
apiwut@riverorchid.com
www.orchidslingshot.com
twitter@apiwutp และ www.facebook.com/OrchidSlingshot
เมื่อหลายอาทิตย์ก่อนมีโอกาสได้ฟังการสัมมนาผ่านทางอินเตอร์เน็ต (Webinar) ซึ่งเป็นรูปแบบการเรียนรู้ที่กำลังได้รับความนิยมอย่างมากในซีกโลกตะวันตก
โดยหัวข้อจั่วไว้น่าสนใจมาก ซึ่งเมื่อแปลเป็นไทยแล้วคงได้ประมาณ “เลวโดยไม่ได้ตั้งใจ” โดยวิทยากรในการสัมมนาครั้งนั้นชื่อว่า Liz Wiseman ซึ่งเธอเขียนหนังสือเล่มหนึ่งขายดีมาก ชื่อ Multiplier
เนื้อหาในการสัมมนาเธอเล่าให้ฟังว่า หัวหน้านั้นมี 2 แบบด้วยกัน คือ หัวหน้าแบบที่ทำงานด้วยแล้วมีความสุข มีพลัง สนุกที่ได้ร่วมงานกัน เรียกว่า “หัวหน้าตัวคูณ” (Multiplier)
ส่วนหัวหน้าอีกประเภทซึ่งตรงกันข้าม ทำงานด้วยแล้วมีแต่ความทุกข์ หมดสนุก ขาดพลัง เรียกว่า “หัวหน้าตัวหาร” (Diminisher)
ทั้งนี้ คุณ Liz เธอได้อธิบายไว้ว่า หัวหน้าตัวคูณมีคุณสมบัติหลักๆ อยู่ 5 ประการ นั่นคือ
1) Talent Magnet – เป็นแม่เหล็กดูดคนเก่ง เป็นผู้นำประเภทที่มีคนเก่งๆ อยากมาร่วมงานด้วย เป็นไอดอล (Idol) ของคนอื่นๆ หลายๆ คน
2) Liberator – เป็นผู้ให้อิสรภาพ เป็นผู้นำที่รู้จักใช้จุดแข็งของผู้อื่นให้เป็นประโยชน์ ช่วยให้เขาได้ค้นพบศักยภาพที่มีอยู่ในตัวและนำออกมาใช้จนประสบความสำเร็จ
3) Challenger – เป็นนักท้ายทาย เป็นผู้นำที่ผลักด้นให้ลูกทีมไปไกลเกินกว่าที่ตัวเขาเองเคยคิดว่าจะไปถึง
4) Debate Maker – เป็นผู้พิสมัยการถกเถียง ไม่ปิดกันความคิดตนเอง ไม่ครอบงำความคิดคนอื่น เคารพความเห็นที่แตกต่าง มองการถกเถียงเป็นวิธีการหนึ่งในการแลกเปลี่ยนไอเดียอันจะนำไปสู่ข้อสรุปที่ดีขึ้น
5) Investor – เป็นนักลงทุนในการสร้างคน ยอมสละเวลาในการพัฒนาทีมงานและเชื่อมั่นในการลงทุนกับคนแม้ผลตอบลัพธ์จะยังมองไม่เห็นชัดเจนในระยะสั้นก็ตาม
สรุปง่ายๆ ก็คือ ผู้นำแบบตัวคูณนั้นมักจะมองว่าคนทุกคนมีศักยภาพในตัว ฉลาดพอที่จะคิดหาทางออกในการแก้ปัญหาและค้นหาแนวทางที่เหมาะสมในการทำงานได้ด้วยตนเอง (People are smart and will figure it out)
ส่วนผู้นำแบบตัวหารนั้น ก็จะมีลักษณะที่ตรงกันข้าม นั่นคือ
1) Empire Builder – เป็นนักสร้างอาณาจักร เล่นพรรคเล่นพวก มีเด็กฉันเด็กแก เข้าค่าย “ค่าของคนอยู่ที่เป็นคนของใคร”
2) Tyrant – เป็นนักเผด็จการตัวยง ยึดมั่นในแนวทางและความคิดของตน ไม่สนใจรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่างของคนอื่น
3) Know-it-all – เป็นคนประเภทรู้ทุกอย่าง เก่งทุกเรื่อง ใครบอกอะไร ก็สวนทันทีว่า “รู้แล้ว รู้แล้ว!” จนไม่มีใครอยากจะบอกอะไร
4) Decision Maker – ทุกอย่างฉันตัดสินใจ รวบอำนาจ ไม่ไว้ใจใคร คนอื่นไม่มีใครตัดสินใจได้ดีเท่า “ฉัน” !
5) Micromanagers – จู้จี้จุกจิก คิดเล็กคิดน้อย ยึดติดกับรายละเอียดปลีกย่อยมากจนเกินไป เข้าไปวุ่นวายก้าวก่ายทุกเรื่อง จนคนทำงานขาดอิสระในการคิดและทำ รู้สึกเหมือนถูกจ้องจับผิดตลอดเวลา
สรุปง่ายๆ ผู้นำแบบตัวหารมักมองว่าคน ส่วนใหญ่คิดเองทำเองไม่ได้ถ้าไม่มีฉัน (People wouldn’t figure it out without me)
แต่สิ่งน่าสนใจอยู่ที่งานวิจัยของคุณ Liz ซึ่งพบว่า ผู้นำแบบตัวหาร ชนิด 100 เปอร์เซ็นต์นั้นไม่มี ส่วนใหญ่เป็น “ผู้นำตัวหารแบบไม่ได้ตั้งใจ” (Accidental Diminisher) ซะมากกว่า
ผู้นำแบบที่ว่านี้มีหน้าตาเป็นอย่างไร ลองมาดูกัน
1) Idea Guy – เป็นหัวหน้าที่ขยันคิดโครงการใหม่ๆ ประมาณว่า “จ้าวไอเดีย” เรื่องที่หนึ่งยังไม่ทันได้เริ่มต้น เรื่องที่สองสามสี่ก็ตามมาติดๆ คนทำงานทำต่อไม่ทัน ไม่รู้จะเริ่มเรื่องไหน ให้ความสำคัญและจัดลำดับอย่างไร สุดท้ายเลยหมดพลังไปโดยปริยาย
2) Always On - เป็นหัวหน้าประเภท 7-11 คือเปิดตลอด 24 ชั่วโมง 7 วัน คิดอะไรได้ตอนไหน โทรทันที ไม่ว่าจะดึกดื่นเที่ยงคืน เสาร์อาทิตย์ วันหยุด พักร้อน ฯลฯ ไม่เป็นปัญหา เพราะข้า “เปิดตลอด”
3) Rescuer - เป็นหัวหน้าประเภทหน่วยกู้ภัย คือถ้าใครมีปัญหาอะไร ติดขัดเรื่องใด หัวหน้าพร้อมเข้าไป “กู้ภัย” ให้เสมอ ลูกน้องทำผิด ทำช้า เสียเวลา “พี่ทำเอง”!
4) Pacesetter - หัวหน้าประเภทใจร้อน ทุกอย่างต้องเร็ว พูดเร็ว คิดเร็ว ทำเร็ว ตัดสินใจเร็ว เปลี่ยนเร็ว ทุกอย่างเร็วไปหมด คนข้างหลังตามไม่ทัน ไม่รู้พี่จะเร็วไปไหน ลูกน้องส่วนใหญ่เลยคิดว่า “ถ้าพี่อยากไปเร็ว...ไปคนเดียวเลย”
5) Optimistic - หัวหน้าประเภทที่มองว่าทุกอย่างเป็นเรื่อง “ง่ายๆ” ไม่เข้าใจว่าทำไมลูกน้องทำไม่ได้ เพราะเรื่องนั้นก็ง่าย เรื่องนี้ก็ง่าย พอลูกน้องติดขัดทำไม่ได้ ก็มักได้ยินคำพูดว่า “ไม่เห็นจะยากเย็นอะไร ไม่เข้าใจทำไมทำกันไม่ได้” ฟังแบบนี้บ่อยๆ คนทำงานเลยเสียกำลังใจ บ่อยๆ ไป เลยพาลคิดว่า “ถ้าง่าย พี่ก็เอาไปทำเองเลยซิ”
ฟังแล้วรู้สึกตกใจ เพราะหลายๆ อย่างที่บอกมา ตัวเองก็เคยคิดว่าน่าจะเป็นสิ่งที่ดีที่หัวหน้าควรทำ จนกระทั่งได้ฟังข้อมูลจากงานวิจัยนี่แหละ เลยถึงบางอ้อว่าที่ผ่านมาเราก็ “เลวโดยไม่ได้ตั้งใจ” ไปหลายครั้งเลย...
แล้วคุณล่ะ เป็นหัวหน้าตัวหารอย่างไม่ได้ตั้งใจ บ้างไหม?
Create by smethailandclub.com