เรื่อง : อภิวุฒิ พิมลแสงสุริยา
apiwut@riverorchid.com
www.orchidslingshot.com
twitter@apiwutp และ www.facebook.com/OrchidSlingshot
ปัญหาเรื่องการรักษาคนเก่งไว้กับองค์กรยังคงเป็นความท้าทายอันดับต้นๆ ของทุกกิจการ ในช่วงต้นปีอย่างนี้ หลังจากรับโบนัสก็เป็นฤดูกาลที่พนักงานเก่งๆ หลายคน ตัดสินใจแยกย้ายจากค่ายเดิม ไปหาองค์กรใหม่ที่เชื่อว่าน่าจะมีอนาคตที่ดีกว่า
เมื่อวันก่อนได้อ่านงานวิจัยฉบับหนึ่งของต่างประเทศ เขารวบรวมเหตุผลที่พนักงานเก่งๆ ตัดสินใจลาออกจากองค์กร ผ่านการสัมภาษณ์เมื่อพนักงานลาออก (Exit Interview) พบว่ามีสถิติบางอย่างน่าสนใจ
40 เปอร์เซ็นต์ ของพนักงานเก่งๆ ที่ลาออก ตอบว่าเขาไปเพราะไม่เชื่อถือและศรัทธาในตัวหัวหน้า
50 เปอร์เซ็นต์ บอกว่าเขาตัดสินใจจากไปเพราะมีความคิดเห็นหรือแนวทางในการทำงานที่แตกต่างจากหัวหน้า
60 เปอร์เซ็นต์ ตัดสินใจเปลี่ยนงานเพราะคิดว่าสิ่งที่องค์กรหยิบยื่นให้ เช่น งานใหม่ หรือ ตำแหน่งใหม่ ไม่ใช่สิ่งที่ตนเองต้องการและไม่ตรงกับความสามารถที่มี
70 เปอร์เซ็นต์ ลาออกเพราะรู้สึกว่าตั้งแต่ทำงานมาไม่ค่อยได้รับคำชมเชยจากหัวหน้า แต่ถ้าทำพลาดมักถูกตำหนิอย่างรุนแรง
อ่านแล้วแม้จะรู้สึกว่าข้อมูลที่ได้มาดูโอเวอร์ไปนิด เพราะไม่คิดว่าหัวหน้าจะมีอิทธิพลมากถึงเพียงนี้
แต่ถึงกระนั้นก็ตาม ผลการสำรวจนี้ดูจะสอดคล้องกับคำพูดของกูรูด้านการบริหารจัดการหลายท่านที่ยืนยันตรงกันว่า “พนักงานเข้าทำงานเพราะองค์กร แต่ลาออกเพราะพฤติกรรมของหัวหน้า” (People join organization but leave their boss)
ดังนั้นสิ่งที่น่าสนใจคือพฤติกรรมอะไรของหัวหน้าที่ทำให้คนเก่งๆ ตัดสินใจจากไป
1. ล้มเหลวที่จะให้พนักงานแสดงพลังอย่างเต็มที่ (Fail to Unleash Passion) คนเก่งๆ ส่วนใหญ่มีพลังเหลือเฟือในการทำงาน แต่หลายคนกลับถูกสกัดดาวรุ่ง ด้วยพฤติกรรมที่เหนื่อยหน่ายเฉื่อยงานของหัวหน้าที่อยู่มานาน พอบ่อยเข้าพนักงานเหล่านี้เลยตัดสินใจลาออกไปใช้พลังที่มีกับองค์กรอื่นที่เปิดโอกาสให้ได้แสดงพลังอย่างเต็มที่
2. ล้มเหลวที่จะให้พนักงานคิดสร้างสรรค์และใช้สติปัญญาที่มี (Fail to Challenge Intellect and Fail to Engage Creativity) คนเก่งๆ ไม่ชอบอยู่ในโลกที่น่าเบื่อซ้ำซากจำเจ พวกเขาชอบเห็นการพัฒนาและการเปลี่ยนแปลงเพื่อไปสู่สิ่งที่ดีขึ้นเสมอๆ ที่สำคัญเขาอยากเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงนั้น หากเจ้านายไม่สามารถหาอะไรที่ท้าทายสติปัญญาและความคิดสร้างสรรค์ได้ ไม่นานนักเขาคงไปหาที่ใหม่ที่ได้ใช้สมองมากขึ้นเป็นแน่แท้
3. ล้มเหลวที่จะพัฒนาทักษะและความรู้ความสามารถของพนักงานเท่าที่ควร (Fail to Develop Skills) คนเก่งๆ มักไม่ยอมหยุด “เก่ง” พวกเขาทำงานส่วนหนึ่งเพราะอยากเรียนรู้และได้พัฒนาตนเอง จากประสบการณ์ที่ผ่านมาผมยืนยันสิ่งนี้ได้ เพราะเห็นคนเก่งๆ หลายคนลาจากองค์กรไป เพียงเพราะรู้สึกไม่ค่อยได้รับการพัฒนาทักษะและความรู้ของตนเองเท่าที่ควร ที่สำคัญไม่คิดว่าหัวหน้าเก่งกว่าและมีอะไรให้เรียนรู้ได้อีก
4. ล้มเหลวที่จะฟังความคิดเห็นของพนักงาน (Fail to Give Them a Voice) คนเก่งมักมีความคิดดีๆ ไอเดียใหม่ๆ หรือสังเกตเห็นอะไรบางอย่างที่คนปกติคาดไม่ถึง หากเจ้านายไม่รับฟังความคิดของเขา รับรองได้ว่าพนักงานเหล่านี้จะไปที่อื่นที่พร้อมรับฟังสิ่งที่เขาพูดมากกว่า
5. ไม่สนใจและไม่ใส่ใจในความเป็นคน (Fail to Care) จริงอยู่คนทุกคนมาทำงานเพื่อรายได้ แต่นั่นไม่ใช่เหตุผลเพียงอย่างเดียวที่ทำให้คนทำงานกับองค์กร จากผลการวิจัยของหลายๆ สำนักพบว่า เงินไม่ใช่เหตุผลสำคัญที่สุดในการทำให้พนักงานรักและผูกพันกับองค์กร ความรู้สึกได้รับการสนใจเอาใจใส่จากหัวหน้าและองค์กรต่างหากที่ทำให้เขารู้สึกว่า“ที่นี่เห็นคุณค่าของเขา”
6. หัวหน้าไม่ได้ทำหน้าที่ที่ตนเองควรจะทำ (Fail to Lead) ธุรกิจไม่ล้มเหลว สินค้าไม่ล้มเหลว โครงการไม่ล้มเหลว ทีมงานไม่ล้มเหลว แต่สิ่งที่ล้มเหลวคือ “ผู้นำ” การที่หัวหน้าขาดภาวะผู้นำ จะทำให้พนักงานเก่งๆ ตัดสินใจได้เร็วขึ้นในการไปแสวงหาผู้นำที่อี่นที่มี “ภาวะผู้นำ” ตามที่เขาศรัทธาและมองหา
7. ไม่เห็นคุณค่าและไม่มีคำชมเชยในความสำเร็จที่พนักงานมีส่วนผลักดัน (Fail to Recognize Their Contributions) ผู้นำที่ดีย่อมไม่เก็บคำชมไว้เพียงคนเดียวแต่จะแบ่งปันคำชมนั้นให้กับพนักงานทุกคนที่ควรค่าแก่การชมเชย การมองไม่เห็นคุณค่าในสิ่งที่คนอื่นทำไม่ได้หมายความเพียงว่า “ฉันไม่เห็นหัวแก” แต่เหมือนเป็นการบอกกลายๆ ว่า “แกไปได้แล้ว!”
8. ไม่ไว้วางใจให้พนักงานมีความรับผิดชอบเพิ่มขึ้น (Fail to Increase Responsibility) คนเก่งโดยมากมักอยากพัฒนาตนเองด้วยการเรียนรู้งานใหม่ๆ เพิ่มขึ้น การมอบหน้าที่ความรับผิดชอบให้เพิ่มเติม เป็นส่วนหนึ่งของการเปิดโอกาสให้พนักงานได้พัฒนาและเติบโต การหวงงานไว้ไม่มอบหมายงานและความรับผิดชอบให้มากขึ้น จะเป็นตัวเร่งที่ดีที่ทำให้พนักงานเก่งๆ ตัดสินใจลาจากองค์กรไป
9. ล้มเหลวในการรักษาสัญญาที่ให้ไว้ (Fail to Keep Commitments) ไม่มีอะไรเลวร้ายกว่าการไม่รักษาสัญญา พนักงานหลายๆ คนรู้สึกผิดหวังและจากองค์กรไป ด้วยเหตุผลที่ว่า “หัวหน้าไม่ทำตามที่พูดไว้” ดังนั้นยอมให้พนักงานโกรธที่ไม่รับปากดีกว่าทำให้พนักงานโกรธที่รับปากแล้วไม่ทำ!
สำหรับ 9 ข้อนี้แม้จะดูเป็นเรื่องง่ายๆ ใกล้ตัว แต่กลับเป็นสิ่งที่ถูกมองข้ามไป ลองทำใจให้เป็นกลาง ประเมินตนเองอย่างไม่มีอคติ ดูซิว่า “เราทำได้ดีแล้วหรือยังในเรื่องเหล่านี้”
บางทีการเปลี่ยนแปลงที่เริ่มต้นจากตัวเรา อาจเป็นจุดเริ่มต้นเล็กๆ ที่ยิ่งใหญ่ก็ได้...ใครจะรู้!
Create by smethailandclub.com