ทักษะมีวันหมดอายุ! How to เพิ่มสกิลคนให้เก๋าในทุกสถานการณ์

TEXT : นิตยา สุเรียมมา





Main Idea
 
  • มีการกล่าวไว้ว่าการเรียนรู้ย่อมไม่มีที่สิ้นสุด มนุษย์เราสามารถเรียนรู้และปรับเปลี่ยนตนเองได้ตลอดเวลา การทำธุรกิจก็เช่นกัน หากจะประสบความสำเร็จได้ ก็ต้องไม่หยุดนิ่งอยู่กับที่ ทักษะไหนที่ดีอยู่แล้ว ก็ทำให้ดียิ่งขึ้นไปอีก หรือสิ่งไหนที่ไม่รู้ก็ควรเพิ่มเติมเข้ามา
 
  • เพราะไม่แน่ว่าทักษะเดิมที่เราอาจคุ้นเคยและมีอยู่ วันหนึ่งอาจไม่สามารถใช้ได้ หรือเพียงพอต่อการทำธุรกิจ ณ ปัจจุบันหรืออนาคตภายหน้าก็ได้ การพัฒนาบุคลากรในองค์กรให้มีความพร้อมเตรียมรับมืออยู่เสมอ จึงเป็นสิ่งจำเป็น
 

 

     เพราะโลกไม่ได้หยุดนิ่งอยู่กับที่ และมนุษย์เรามักถูกบังคับให้ต้องเรียนรู้ตลอดเวลา การจะตั้งรับกับการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ได้ บางครั้งก็ต้องหาทักษะใหม่ๆ เข้ามาเสริม รวมไปถึงพัฒนาทักษะเดิมที่มีอยู่ให้ก้าวหน้าเพิ่มมากขึ้น ซึ่งในการทำธุรกิจก็เช่นกัน เพื่อให้องค์กร และบุคลากรสามารถรับมือกับความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้ รวมถึงนำพาธุรกิจให้เติบโต การพัฒนาองค์ความรู้ใหม่ๆ นำเทคโนโลยีมาใช้นับว่าเป็นสิ่งจำเป็น เพราะบางครั้งทักษะเดิมที่มีอยู่อาจไม่เพียงพอต่อการทำงาน หรือทำธุรกิจในยุคปัจจุบัน หรือเรียกว่าทักษะอาจมีวันหมดอายุได้





     เหตุผลของการ Up-skill
จากทักษะเดิมที่มีอยู่ให้พัฒนามากขึ้น หรือการแสวงหาทักษะใหม่ๆ (Re-skill) เพิ่มเข้ามา มีหลายข้อด้วยกัน ทั้งเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของรูปแบบการทำงานใหม่ เทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป การลดต้นทุนค่าใช้จ่าย ลดข้อบกพร่องในการทำงาน รวมถึงใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างคุ้มค่า และสร้างความแข็งแกร่งให้ทัดเทียมหรือเหนือกว่าคู่แข่งได้นั่นเอง ซึ่งวิธีการที่จะสามารถเพิ่มทักษะให้กับพนักงานได้มีดังนี้
 
  • จับตาความเปลี่ยนแปลงที่เข้ามา
           
     เพื่อทำองค์กรให้เป็นองค์กรที่มีความทันสมัยอยู่เสมอ เราควรจับตามองสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เข้ามารอบตัว ไม่ใช่เพื่อเปลี่ยนแปลงตามทุกอย่าง แต่เพื่อสำรวจ วิเคราะห์ถึงผลกระทบและความเกี่ยวข้อง เพื่อเตรียมตัวตั้งรับเอาไว้ล่วงหน้า เพราะบางครั้งจุดเล็กๆ ก็อาจกลายเป็นปัญหาใหญ่ในภายภาคหน้า หรือโอกาสที่ล้ำค่าก็ได้ องค์กรจึงควรวิเคราะห์กับสิ่งต่างๆ ที่เข้ามา ไม่ปล่อยผ่านเลยไป จนวันหนึ่งอาจปรับเปลี่ยนไม่ทันก็ได้
 


 
  • เสริมทักษะหลักสูตรอบรมที่จำเป็น
               
     ถึงแม้จะมีการเปลี่ยนแปลงจากภายนอกเข้ามา หรือไม่มีก็ตาม เมื่อถึงช่วงเวลาหนึ่งองค์กรควรมีการสำรวจตัวเอง พัฒนาตนเอง และบุคลากรที่มีอยู่เสมอ บางทักษะอาจดูว่าไม่จำเป็นในตอนนี้ หรือไม่เกี่ยวข้องเลยก็ได้ แต่ในอนาคตอาจกลับกลายเป็นพื้นฐานที่สำคัญ รวมถึงการสร้างประโยชน์ให้เกิดขึ้นในภายภาคหน้าแก่ธุรกิจก็เป็นได้ ดังนั้นเพื่อองค์กรมีความคิดสร้างสรรค์อยู่ตลอดเวลา ควรหาทักษะหรือจัดอบรมหลักสูตรที่จำเป็นต่างๆ หรือสร้างพื้นฐานที่ดีแก่พนักงานเข้ามาเสริมนอกเหนือจากการทำงานประจำด้วย เพราะอย่างน้อยๆ สิ่งที่ได้กลับมาเลยก็คือ การทำให้พนักงานมีความตื่นตัวแอคทีฟอยู่ตลอดเวลา เป็นการฝึกนิสัยขึ้นมาก็ได้
 


 
  • มีพื้นที่ให้ปล่อยของ
               
     สิบปากว่าไม่เท่าตาเห็นยังไง การได้ทดลองทำจากประสบการณ์จริง ได้เรียนรู้ด้วยตัวเอง ก็ย่อมสร้างความเข้าใจและทำให้มองเห็นปัญหาที่อาจเกิดขึ้นจริงในอนาคตได้มากกว่า ฉะนั้นแล้วนอกจากการเรียนรู้ตามหลักทฤษฏี องค์กรธุรกิจควรสร้างโอกาสหรือโครงงานทดลองขึ้นมา เพื่อให้พนักงานได้ร่วมกันคิด ร่วมกันลงมือปฏิบัติจริง อาจเป็นโครงการเล็กๆ ก็ได้ เพราะหากเป็นผลสำเร็จก็สามารถนำมาต่อยอดให้กับองค์กรต่อไปได้ หากไม่สำเร็จก็ถือว่าเจ็บตัวน้อย และได้งเป็นประสบการณ์เรียนรู้ไป
               

     โดยว่ากันว่าการเพิ่มทักษะการทำงานให้กับพนักงานได้กว่า 70 เปอร์เซ็นต์นั้นมาจากประสบการณ์ทดลองทำงานจริง ที่เหลือ 20 เปอร์เซ็นต์มาจากการได้รับคำแนะนำปรึกษาจากผู้รู้ และอีก 10 เปอร์เซ็นต์ คือ เรียนรู้ด้วยตนเอง เช่น การอ่านหนังสือ การเข้าอบรมหลักสูตรต่างๆ
 


 
  • มีเป้าหมายทุกครั้ง               
     
     เมื่อถึงเวลาที่ต้องเพิ่มทักษะจริงจัง ไม่ว่าเป็นทักษะที่จำเป็นกับการทำงานโดยตรง หรือทักษะเสริมต่างๆ ก็ตาม ควรมีการตั้งเป้าหมายขึ้นมาถึงสิ่งที่ต้องการจะได้รับจากการ Up-skill และ Re-skill นั้นๆ ด้วย เพื่อเป็นตัวกำหนดทิศทางในการพัฒนาทักษะ และสุดท้ายจะได้นำมาใช้ประโยชน์กับการทำงาน หรือรู้ว่าเราควรจะได้รับอะไรจากการเพิ่มทักษะหรือจากการเรียนรู้นั้นๆ เพื่อไม่ให้เกิดความสูญเปล่า
 
  • มีแนวทางการดำเนินการแลวัดผลที่ชัดเจน

     นอกจากเป้าหมายที่ชัดเจนแล้ว การเพิ่มทักษะต่างๆ จะสามารถบรรลุวัตถุประสงค์ได้ ก็ต้องมีกระบวนการเรียนรู้และวัดผลที่ชัดเจน เพื่อให้ผู้เรียนสามารถประเมินตนเองได้ รวมถึงบริษัทเองจะได้รู้ว่าสามารถบรรลุสิ่งที่ตั้งใจไว้ได้หรือไม่ ถ้าไม่ได้ต้องทำอย่างไรเพิ่มเติม จงจำไว้ว่าการเรียนรู้หรือเพิ่มทักษะที่ดี ไม่ใช่แค่ครั้งเดียวจบ หรือเป็นตัวตัดสินได้แค่ครั้งเดียว เพราะบุคลากรแต่ละคนอาจมีความสามารถที่แตกต่างกันไป ต้องให้เวลา และรูปแบบการเพิ่มทักษะที่แตกต่างกันไปบ้างตามความเหมาะสม เพื่อสร้างพื้นฐานทักษะให้มีความเท่าเทียมใกล้เคียงกันที่สุดนั่นเอง
 


 
  • ได้ประโยชน์ด้วยกันทั้งสองฝ่าย
               
     ข้อสุดท้ายไม่ว่าการเพิ่มพูนทักษะใดๆ ก็ตาม องค์กรควรคำนึงถึงประโยชน์ที่จะได้รับด้วยกันทั้งสองฝ่าย ไม่ว่าบริษัทหรือตัวพนักงานเอง ที่สำคัญเพื่อให้การเรียนรู้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดควรเริ่มจากการสร้าง Mindset ที่ดีให้กับผู้เรียนรู้ก่อน บริษัทควรอธิบายทำความเข้าใจถึงเหตุผลในการเรียนรู้ ไปจนถึงฉายภาพให้พนักงานได้เห็นถึงประโยชน์ที่จะได้รับด้วย เพราะการเปิดใจยอมรับที่อยากเรียนรู้ด้วยตัวเอง ย่อมดีกว่าต้องทำเพียงเพราะความจำเป็นอย่างเดียวแน่นอน
               



     เมื่อใดที่ควรอัพสกิล เราจะรู้ได้อย่างไรว่าควรจะเพิ่มเติมทักษะเข้าไปเมื่อไหร่ เริ่มต้นอาจดูจากสิ่งที่บริษัทต้องการ พนักงานต้องการ หรือความต้องการของลูกค้าก่อนก็ได้ หรือหากยังไม่รู้ว่าควรเพิ่มทักษะด้านใดบ้าง อาจลองสังเกตจากเป้าหมายของธุรกิจที่ตั้งไว้ในแต่ละส่วนว่ามีสิ่งใดบ้างที่จะเป็นปัญหาอุปสรรคต่อการไปถึงเป้าหมายนั้นๆ และนั่นแหละ คือ สิ่งที่เราควรเพิ่มเติมทักษะเข้าไปให้กับบุคลากรในองค์กรนั่นเอง
 


www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
 

RECCOMMEND: MANAGEMENT

เขียนสัญญาเช่ายังไงให้รัดกุม ธุรกิจไม่เสียเปรียบ

สัญญาเช่า เรื่องใกล้ตัวผู้ประกอบการหลายคนอาจมองว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่รู้ไหมการมีสัญญาเช่าที่ดีและรัดกุม สามารถป้องกันปัญหาและความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นได้มากมาย

ทำงานให้ได้งาน 4 เทคนิคบริหารเวลา เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน

ทำไมบางคนงานท่วมหัว ทำงานยุ่งอยู่ตลอดเวลา แต่งานกลับไม่หมดซะที แถมยังส่งงานไม่ทันกำหนด เราเลยมีเทคนิค เช่น Eisenhower Matrix, Eat that frog, Pomodoro และ กฎ 80/20  ซึ่งจะช่วยให้บริหารเวลาได้อย่างมีประสิทธิภาพและชีวิตการทำงานไม่เครียดอีกต่อไป