5 แนวทางแก้วิกฤตพนักงานลาออก




แปลและเรียบเรียง : เจษฏา ปุรินทวรกุล

    ในการทำธุรกิจจริง คงไม่มีอะไรที่จะแย่ไปเสียยิ่งกว่าการที่นายจ้างเจอลูกจ้างที่เพอร์เฟค เป็นดาวเด่นขององค์กร ปั้นขึ้นมากับมือ คอยสอนงาน และเฝ้าดูการเติบโตของเขาอย่างภาคภูมิใจ พร้อมกับคาดหวังว่าเขาคนนั้นจะคอยช่วยเหลือบริษัทหรือเป็นผู้นำได้ในอนาคต แต่แล้วเจ้าตัวกลับลาออกจากบริษัทไปในเวลาเพียงไม่นาน ซึ่งจากการศึกษาของบริษัท Millennial Branding บริษัทที่ศึกษาพฤติกรรมของพนักงานช่วงอายุ Gen-Y พบว่าในปี 2013 หลายๆ บริษัทในสหรัฐฯ ต้องสูญเสียพนักงานที่ปั้นขึ้นมากับมือไปเป็นจำนวนมาก อย่างไรก็ตามนั่นไม่ใช่สิ่งเลวร้ายเสมอไป

    เพราะ Andre Lavoie ซีอีโอจากบริษัท ClearCompany ได้แนะนำเคล็ดลับจากการสูญเสียอัตราพนักงานเข้าออก (Turnover) ไว้ว่า เพียงปรับแนวคิดและกลยุทธ์ในการทำงานนิดๆ หน่อยๆ เราก็จะสามารถพลิกวิกฤตมาสร้างโอกาสในการเติบโตของบริษัทได้ โดยกุญแจสู่ความสำเร็จจะมีดังต่อไปนี้

    1. เรียนรู้ว่าอะไรสำคัญที่สุดต่อกระบวนการทำงานที่แท้จริง ทุกบริษัทจะมีรูปแบบการทำงานที่แตกต่างกัน พนักงานแต่ละตำแหน่งก็มีหน้าที่ต่างกันไปเล็กน้อยตามรายละเอียดปลีกย่อย แต่คุณต้องหากุญแจสำคัญของการทำงานในแต่ละตำแหน่งให้ออก เพื่อให้ในเวลาที่เราสูญเสียลูกน้องมือดีไป แล้วมีคนใหม่เข้ามาก็สามารถเข้าใจกุญแจสำคัญในการทำงานตำแหน่งนั้นๆ พร้อมกับลงมือทำได้ แม้จะไม่เทียบเท่ากับมือดีคนเก่า แต่แค่ทำได้ตามมาตรฐานในระยะแรก และพร้อมเรียนรู้เพิ่มเติมในเวลาต่อมาได้ก็ถือว่ายอดเยี่ยมแล้ว   
 

    2. หาคนที่เหมาะกับวัฒนธรรมองค์กรและปรับปรุงกระบวนการจ้างพนักงาน ถ้าคุณพบว่าตัวเองกำลังสูญเสียพนักงานที่ดีไปอย่างต่อเนื่อง ลองทบทวนดูสิว่าคุณจ้างคนมาผิดหรือเปล่า ฝ่ายบุคคลคัดกรองคนมาพลาดหรือไม่ ถ้ามาจากฝ่ายบุคคลก็ต้องพัฒนาด้านการเลือกพนักงานให้ดีขึ้น แต่ถ้าไม่ใช่ สิ่งสุดท้ายที่ต้องคิดให้รอบคอบก็คือ พนักงานที่จ้างมาเหมาะสมกับวัฒนธรรมองค์กรมากน้อยแค่ไหน ถ้าเขาไม่เหมาะกับวัฒนธรรมองค์กรที่เราสร้างขึ้นมา เขาอาจไม่ต้องการที่จะฝืนตัวเองก็เป็นได้ สิ่งสำคัญที่เราจะทำได้ คือ หาพนักงานที่เหมาะกับวัฒนธรรมองค์กรให้ได้

    3.  คุณค่าของผลตอบแทนที่มอบให้กับพนักงาน หากคุณต้องการคนเก่ง คุณต้องมีผลตอบแทนที่คุ้มค่าให้กับเขา ดังนั้น ทางองค์กรต้องคอยประเมินผลการทำงานของพนักงาน ว่าพวกเขาได้รับเงินเดือนที่คุ้มค่ากับความสามารถที่พวกเขามีอยู่ หรือคุ้มค่ากับงานที่พวกเขาทำอยู่หรือไม่ แน่นอนละ ถ้าคุณใช้งานพนักงานหามรุ่งหามค่ำ แต่ให้ผลตอบแทนสุดแสนจะธรรมดา คงไม่มีใครทนทำงานกับคุณได้นานนักหรอก

    4. ตรวจสอบการแข่งขัน ลองดูซิว่าพนักงานของคุณออกไปอยู่บริษัทไหน แล้วถ้าล้วงความลับลึกไปกว่านั้นได้ ก็พยายามหาข้อมูลให้ได้ว่าบริษัทนั้นยื่นข้อเสนออะไรให้กับอดีตมือดีของเรา ซึ่งคุณต้องหาสิ่งจูงใจที่พนักงานต้องการให้พบ ว่าเขาต้องการอะไร ทำไมเขาถึงจากเราไปซบไหล่บริษัทใหม่ได้ เงินเดือนที่สูงกว่า โบนัส 10 เดือน หรือบรรยากาศการทำงานที่ดีกว่า สิ่งนี้คือการเรียนรู้ด้านการแข่งขันเรื่องการจ้างพนักงาน เพราะถ้าคุณเข้าใจสิ่งที่พนักงานต้องการ ให้ในสิ่งที่พวกเขาต้องการได้ตามความเหมาะสม อัตราการลาออกของพนักงานย่อมลดลงและช่วยให้องค์กรเดินหน้าไปได้ราบรื่นมากยิ่งขึ้น
 

 

    5. ให้คุณค่ากับพนักงานในปัจจุบันด้วย พนักงานที่มีความรู้สึกว่าตัวเองไม่ค่อยมีคุณค่าในที่ทำงาน ไม่ค่อยได้รับความชื่นชม มีแนวโน้มที่จะไปหางานที่อื่นทำสูงมากๆ ซึ่งวิธีการแก้ปัญหาก็ไม่ยาก แค่ทำให้พวกเขามีความสุขที่ได้มาทำงาน ยกตัวอย่างเช่น บริษัทแห่งหนึ่งจัดงานเลี้ยงในบริษัทขึ้นทุกวันศุกร์สิ้นเดือน เพื่อให้พนักงานได้สังสรรค์เฮฮาพูดจากันตามภาษาพนักงาน นอกจากนี้คุณก็สามารถให้กำลังใจพนักงานด้วยคำพูดง่ายๆ ว่า “ขอบคุณนะ คุณทำงานได้ดีมากทีเดียว” หรือถ้าคุณมีไอเดียที่จะทำให้พนักงานรู้สึกว่าตัวเองมีค่ามากขึ้น ก็นำมาใช้ได้เลย

      การทำธุรกิจให้ประสบความสำเร็จไม่ใช่เรื่อง่าย เพราะเราต้องคอยตระหนักถึงความท้าทาย รวมถึงเรียนรู้จากอุปสรรคและความผิดพลาด ซึ่งอัตราการ Turnover เป็นหนึ่งในความท้าทายและโอกาสที่เราจะปรับปรุงการเติบโตของบริษัทให้ดียิ่งขึ้นในระยะยาว

Create by smethailandclub.com

RECCOMMEND: MANAGEMENT

เขียนสัญญาเช่ายังไงให้รัดกุม ธุรกิจไม่เสียเปรียบ

สัญญาเช่า เรื่องใกล้ตัวผู้ประกอบการหลายคนอาจมองว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่รู้ไหมการมีสัญญาเช่าที่ดีและรัดกุม สามารถป้องกันปัญหาและความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นได้มากมาย

ทำงานให้ได้งาน 4 เทคนิคบริหารเวลา เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน

ทำไมบางคนงานท่วมหัว ทำงานยุ่งอยู่ตลอดเวลา แต่งานกลับไม่หมดซะที แถมยังส่งงานไม่ทันกำหนด เราเลยมีเทคนิค เช่น Eisenhower Matrix, Eat that frog, Pomodoro และ กฎ 80/20  ซึ่งจะช่วยให้บริหารเวลาได้อย่างมีประสิทธิภาพและชีวิตการทำงานไม่เครียดอีกต่อไป

ประชุมยังไงให้ได้งาน เทคนิคจาก 4 คนดังที่ประสบความสำเร็จ 

การประชุมที่มีประสิทธิภาพนำไปสู่ความสำเร็จ มักจะมีปัจจัยหลายอย่างเข้ามาเกี่ยวข้อง เราจึงมีเคล็ดลับการประชุมที่แตกต่างกันของคนดังที่ประสบความสำเร็จ  พร้อมแนะนำเทคนิคที่จะช่วยให้การประชุมมีประสิทธิภาพมาฝาก