แปลและเรียบเรียง : เจษฎา ปุรินทวรกุล
วิธีการแก้ปัญหาด้านความเข้าใจระหว่างการสนทนาที่ดีที่สุดคงหนีไม่พ้นการพัฒนาหรือไม่ก็ขัดเกลาทักษะการรับฟังให้ดียิ่งขึ้น เพราะถ้าคุณฟังไม่เข้าใจ ก็ยากที่จะสนทนาโต้ตอบกับคู่สนทนาได้ ยิ่งเป็นการเจรจาทางธุรกิจก็คงยิ่งมีความสำคัญและจะปล่อยให้มีข้อผิดพลาดเกิดขึ้นไม่ได้อย่างเด็ดขาด
แม้ว่าคุณจะไม่ได้มีทักษะด้านการสนทนาที่ดีมาตั้งแต่แรก ทว่า Jacqueline Whitmore ผู้เชี่ยวชาญด้านมารยาทและเป็นผู้ก่อตั้ง The Protocol School of Palm Beach ได้ออกมาแนะนำเคล็ด (ไม่) ลับ ที่จะช่วยให้คุณสามารถพัฒนาทักษะด้านการสนทนาให้ดียิ่งขึ้นได้ และนี่คือ 6 เคล็ดลับที่จะทำให้คุณเป็นคู่สนทนาและผู้ฟังที่สมบูรณ์แบบมากยิ่งขึ้น ไม่ใช่การฟังเพื่อคาดหวังว่าเขาจะพูดสิ่งนั้นสิ่งนี้ตามที่คุณต้องการจะได้ยินเหมือนเช่นที่ผ่านมาอย่างแน่นอน
1. แสดงความสนใจอย่างจริงใจ เมื่อคุณพูดคุยกับใครก็ตาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานที่วุ่นวาย มีเสียงดังรอบด้าน คุณยิ่งต้องให้ความสนใจอย่างเต็มที่ ถ้าหากพยายามตั้งใจฟังแล้วยังไม่ค่อยเข้าใจ ลองชวนหรือแนะนำให้ย้ายไปคุยบริเวณอื่นที่เงียบสงบกว่านี้
นอกจากนี้ต้องพยายามเข้าใจการสื่อสารทางสายตาและทางอารมณ์ด้วยว่า ขณะนั้นผู้พูดมีความรู้สึกอย่างไร หากผู้พูดรู้สึกแย่ ให้ถามคำถามเพื่อชวนพูดคุยพร้อมกับให้กำลังใจ ซึ่งแม้ว่าคุณจะไม่ได้ตกอยู่ในสถานการณ์เดียวกันกับผู้พูด แต่ลองยกตัวอย่างเรื่องที่คล้ายคลึงกันเพื่อบอกเขาบอกคุณรู้สึกอย่างไรและแก้ปัญหาเหล่านั้นได้อย่างไร
2. ใช้ประโยคสุดวิเศษ “บอกฉัน” ผู้คนส่วนใหญ่มักชื่นชอบที่จะหาโอกาสแบ่งปันเรื่องเล่าและประสบการณ์ต่างๆ ให้คนอื่นรับรู้ ดังนั้น วิธีเริ่มต้นบทสนทนาเพื่อให้บรรยากาศผ่อนคลายและเป็นไปในทางที่ดีจึงควรเริ่มที่คำว่า “บอกฉัน” หรือ “เล่าให้ฟังนิดนึงได้ไหมว่า...” ทั้งนี้การพูดคุยเชิงสนทนาไม่ควรถามคำว่าให้ผู้ตอบตอบว่า “ใช่” หรือ “ไม่ใช่” แต่ควรเป็นคำถามปลายเปิดที่ทำให้การสนทนาดำเนินต่อไปได้
ยกตัวอย่างเช่น “เล่าให้ฟังหน่อยได้ไหมว่าอะไรเป็นสิ่งที่กระตุ้นให้คุณเริ่มต้นทำธุรกิจ” เมื่อคุณเริ่มการสนทนาที่แสดงให้เห็นถึงความสนใจต่อคู่สนทนา ก็จะทำให้การพูดคุยเป็นไปอย่างราบรื่นมากยิ่งขึ้น
3. พูดชื่อของคู่สนทนา การเจรจาทางธุรกิจจะดูน่าประทับใจมากยิ่งขึ้นหากคู่สนทนาจดจำชื่อของเราได้ ดังนั้น หากคุณมีปัญหาด้านการจดจำชื่อบุคคลอื่น ให้รีบพัฒนาและปรับปรุงซะ เพราะเมื่อคุณนัดพบกับใคร สิ่งแรกที่ควรทำเมื่อพบหน้ากันเป็นครั้งแรกคือการกล่าวทักทายเขาพร้อมกับชื่อ ยกตัวอย่าง “ยินดีที่ได้พบคุณครับ คุณแฟรงค์” จากนั้นก็หาโอกาสเรียกชื่อของคู่สนทนาอีกซัก 2 ครั้งในระหว่างการสนทนา ก่อนจะปิดท้ายการโบกมืออำลาด้วย “ผมดีใจจริงๆ ที่ได้มาพบคุณแฟรงค์ในวันนี้” เป็นต้น
4. เห็นด้วยเต็มที่ ไม่เห็นด้วยเบาๆ ในการสนทนา เมื่อคู่สนทนาเห็นด้วยกับคุณ คุณจะรู้สึกว่าเขามีอะไรคล้ายๆ หรือค่อนข้างตรงกันกับคุณ
อย่างไรก็ตามเมื่อเราอยู่ในโลกของการทำธุรกิจ ก็ควรมีความเป็นมืออาชีพ คุณจึงควรมีความเคารพและชื่นชมในความคิดเห็นของผู้อื่นแม้เขาจะเห็นต่างกับเรา เพราะความอดทนและเคารพต่อผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดของเรามีความสำคัญต่อความสำเร็จได้ด้วย
ดังนั้น พึงระวังไว้ หากคุณไม่เห็นด้วยกับความคิดของใคร ค่อยๆ หาทางบอกเขาและถามถึงเห็นผลดู “รบกวนบอกผมทีได้ไหมครับ ว่าทำไมคุณถึงไม่เห็นด้วยกับ...” ดีกว่าที่จะพูดพร้อมกระชากอารมณ์ว่า “ไอเดียนี้มันดีแล้ว คุณไม่เห็นด้วยได้ยังไงกัน ?” คงไม่ต้องถามแล้วกระมัง ว่าแบบไหนดีกว่ากัน
5. พูดให้น้อยลง แต่ฟังให้มากขึ้น เมื่อมีใครมาคุยกับคุณ จงอย่าใช้หูเพื่อรับฟังเพียงอย่างเดียว แต่พยายามฝึกใช้ร่างกายของคุณในการรับฟังเขา เช่น พยักหน้า ตาสบตา (Eye Contact) และมีส่วนร่วมเต็มที่ในสิ่งที่คู่สนทนากล่าว
การรับฟังด้วยความใส่ใจจะช่วยสร้างความไว้วางใจและสร้างความสัมพันธ์ระหว่างคู่สนทนาได้อย่างยอดเยี่ยม และเมื่อได้รับโอกาส จงพยายามถามคำถามที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อสนทนา สิ่งนี้จะแสดงให้เห็นว่าคุณสนใจการสนทนาครั้งนี้มากแค่ไหน
และในกรณีที่คุณไม่เข้าใจหรือไม่แน่ใจให้ถามเจาะลึกลงไป เช่น “ถ้าผมเข้าใจไม่ผิด คุณพูดว่า (หรือหมายความว่า) ... ถูกต้องไหมครับ” มันเป็นเรื่องที่ดีที่สุดที่จะทำให้คุณเข้าใจเนื้อหาการสนทนาทั้งหมดอย่างแท้จริง ดีกว่าไปนั่งมโนเอาเองว่ามันคงเป็นแบบนั้นแบบนี้ละมั้ง
6. อย่าขัดจังหวะหรือพยายามเปลี่ยนหัวข้อการสนทนา ระหว่างการสนทนา ถ้าคุณไปขัดประโยคของคู่สนทนาเข้า นั่นหมายความว่าคุณขัดขวางการแสดงความคิดเห็นของเขาอย่างเต็มที่เลยทีเดียว
ถ้าคิดในแง่ดี คู่สนทนาอาจมองว่าคุณเจตนาดี คุณมีความรู้ที่จะบอกว่าสิ่งที่เขาพูดมันไม่ถูก จึงรีบขัดขึ้นมา (แต่เชื่อเถอะ น้อยคนมากๆ จะคิดในแง่ดี) แต่ถ้าคิดในแง่ร้าย เขาอาจคิดว่าคุณก็แค่พยายามขัดขวางการสนทนาเพื่อให้เขาเงียบ หรืออยากโชว์ว่าคุณมีความรู้มากกว่าเขา
ดังนั้น พยายามให้คู่สนทนาแสดงความคิดเห็นให้จบเสียก่อน จึงเริ่มพูดคุยโต้ตอบ ความอดทนและความมีน้ำใจของคุณจะได้รับการชื่นชมจากคู่สนทนา
Create by smethailandclub.com