‘ที่ขายดีไม่ใช่แค่ผมคนเดียว แต่ทั้งทีมเราใส่ใจกับงานของเรา’ คำพูดแรกของ ทิวา ยอร์ค ผู้เรียกตัวเองว่าเป็น Head Coach ของทีม ไม่ใช่ CEO หรือผู้บริหาร การเป็นโค้ชในที่นี่ของทิวา คือการที่เขาวางตำแหน่งตัวเองเป็นโค้ชที่ทำหน้าที่ฝึกฝน Push ทีมของเขาให้ชนะการแข่งขันด้วยกันไปทั้งทีม ไม่ใช่แค่ใครคนใดคนหนึ่งชนะในเกมนี้ นี่คือวิธีการบริหารงานแบบคนรุ่นใหม่ที่ทำให้ Kaidee.com กลายเป็นองค์กรที่น่าทำงานด้วย
เมื่อเดินเข้ามาในออฟฟิศของ Kaidee ทำให้เราลบภาพออฟฟิศแบบเดิมๆ ไปได้เลย สิ่งแรกที่เจอคือโต๊ะของดีเจส้ม เธอเป็น Front คอยต้อนรับผู้มาเยือนอยู่ด้านหน้าพร้อมกับทำหน้าที่สำคัญคือการเปิดเพลงให้คนทั้งออฟฟิศได้ฟังกัน จากนั้นคุณจะได้เห็นพื้นที่ส่วนกลาง ซึ่งมีความสบายๆ นั่งทำงานได้ชิลล์ๆ ริมหน้าต่างดูวิว มีโต๊ะวางอาหารโต๊ะใหญ่อยู่ใจกลางห้อง โดยมีมุมที่เป็นที่รักของทุกคนคือมุมไอศกรีม ที่เต็มไปด้วยไอศกรีมหลากรสในนั้น อยากได้ของหวานเมื่อไหร่ก็มาตักไปได้เลย ส่วนในตู้เย็นก็มีเบียร์ ที่ทุกเย็นวันศุกร์จะมีช่วงเวลาของการ Sharing ณ Town Hall หรือสเตเดี้ยมที่อยู่โซนในสุดของพื้นที่ส่วนกลาง เปิดให้คนในและคนนอกสามารถมาแชร์เรื่องราวต่างๆหยิบเบียร์ หยิบไวน์มากินพร้อมกับรับประทานอาหารร่วมกัน
นอกจากนี้ยังมีการเลี้ยงอาหารกลางวันเพื่อทำให้ทุกคนในออฟฟิศได้เจอหน้ากันเพื่อเป็นพื้นที่ที่ทุกคนจะได้สื่อสารกันอย่างเต็มที่ ส่วนถ้าใครเครียด ที่นี่ยังมีโต๊ะปิงปอง มี Streaming Karaoke ไปจนถึงห้องฟีฟ่า ที่ให้คนชอบเล่น PS4 ได้มานั่งเล่นก่อนกลับบ้าน หรือแม้แต่ถ้าใครง่วงนอนระหว่างวัน Hangover อยากงีบสักพัก ก็ยังมีห้องนอนเอาไว้รองรับอีกด้วย
Cr : Kaidee
งานที่ดี เริ่มต้นจากคนที่มีความสุข
‘ธีมของออฟฟิศเราคือ Eat Work Play’ ทิวาได้พูดถึงว่าทำไมออฟฟิศของ Kaidee จึงเต็มไปด้วยโซนที่สร้างความสนุกสนานและผ่อนคลายให้พนักงานได้มากมายขนาดนี้ เพราะทิวามองเรื่องของทีมมาเป็นอันดับแรก ทำให้เขาใส่ใจในการสร้าง Environment ขององค์กรให้น่าอยู่ ให้พนักงานมีความสุขกับการทำงาน
“ผมรู้สึกว่าสิ่งที่เราต้องการไม่ใช่แรงงาน เราต้องการไอเดีย ต้องการ Creativity ต้องการให้ทุกคนใส่ใจ เพราะฉะนั้นเราจึงต้องสร้าง Environment ที่เขามีความสุขกับการทำงาน เขาจะรู้สึกว่าใส่ใจกับงานที่ทำ มีไอเดียใหม่ๆ เข้ามา สิ่งสำคัญคือการกล้าแสดงออก ปัญหาของไทยคือการกล้าแสดงออก คนมีฝีมือ มีไอเดีย แต่ขาดตรงนี้ ถ้าเราสร้างวัฒนธรรมให้เขากล้าแสดงออก บริษัทจะได้ของที่ดีจากเขา”
นอกจากนี้ทิวายังบอกอีกว่าไอเดียที่ดีนั้นสามารถมาได้จากทุกคนในองค์กร ไม่ใช่แค่ตัวผู้นำเองแต่แม้กระทั่งแม่บ้านก็สามารถมอบไอเดียในการพัฒนาธุรกิจให้คุณได้
“เราต้องสร้างพื้นที่ที่ทุกคนช่วยกันทำ ถ้าใครมีคำแนะนำ บอกผมหน่อย ผมอยากรู้ ผมไม่ใช่ Steve Jobs หรอก Steve Jobs คือ Genius แต่ผมไม่ใช่ ผมแค่ฉลาดพอที่จะจ้างคนเก่งๆ มาอยู่รอบข้าง มาช่วยกันทำ”
Cr : Kaidee
Make sure your team WIN
อีกเรื่องที่สำคัญคือการที่ทุกคนต้องไปด้วยกันเป็นทีม ถ้าใครคนใดคนหนึ่งชนะ แต่ทีมแพ้ นั่นหมายความว่าคุณแพ้แล้ว โดยที่ Kaidee ไม่จำเป็นว่าคุณต้องมา 8 โมง กลับ 5 โมง คุณจะมากี่โมงก็ได้ แต่ถ้าทีมต้องการคุณ คุณต้องอยู่ตรงนั้น Be there for your team
“คุณต้อง Show off for the game, be there for your team ถ้าสมมติเราเป็นทีมฟุตบอล ต้องซ้อมกันทุกวัน แต่คุณคนเดียวมาเลทไปกว่าทีม ก็ไม่ใช่ เราต้องไปอยู่พร้อมกันกับทีม สิ่งสำคัญสุดคือ Make sure your team win เพราะตอนสุดท้ายของการทำธุรกิจมันไม่ใช่การแข่งกีฬาเดี่ยว แต่คือการแข่งเป็นทีม ต้อง Win ด้วยกันเป็นทีม นั่นคือเหตุผลว่าทำไมตำแหน่งของผมคือ Head coach เพราะหน้าที่ของผมคือโค้ชของทีม”
Team, Ownership, Passion 3 คำสำคัญที่บอกว่าคุณควรทำงานที่ Kaidee หรือเปล่า
ถ้าคุณเดินเข้าไปที่ออฟฟิศของ Kaidee จะเห็นป้ายไฟที่ขาวโดดเด่นเขียนว่า Team, Ownership, Passion ซึ่ง 3 คำสั้นๆ นี่แหละคือคำสำคัญและเป็น Value ขององค์กรที่จะบอกว่าคุณนั้นเหมาะกับการทำงานที่นี่หรือไม่ โดยที่ Kaidee จะมีการรีวิวและให้ Feedback กัน ด้วยการประเมิน 3 อย่างนี้และจะแบ่งย่อยออกมาอีกอย่างละ 2 ข้อ
Team ทำงานโดยให้เกียรติกัน, นึกถึงทีมเป็นอันดับแรก
Ownership รับผิดชอบต่อหน้าที่, ทำงานให้เสร็จตามเวลาและคุณภาพ
Passion สนับสนุน ใส่ใจในสิ่งที่ Kaidee ทำ, ร่วมผลักดันให้สำเร็จ
อย่าจ้างคนใหม่ทั้งๆ ที่ไม่ได้ให้ใจกับคนเก่าเต็มที่
ความผิดพลาดของหลายๆ องค์กรที่มักจะทำให้เสียลูกน้องฝีมือดีไปคือการจ้างคนใหม่เข้ามาโดยที่ผลตอบแทนสูงกว่าคนเก่า โดยทิวาได้เล่าให้ฟังว่า Turnover rate ของที่ Kaidee อยู่ที่ 8%-10% ต่อปี นับว่าค่อนข้างต่ำทีเดียว ซึ่ง Kaidee จะมีการพิจารณาขึ้นเงินเดือนให้กับพนักงาน 2 ครั้งต่อปี โดยดูจากฝีมือการทำงาน ค่าแรงในตลาดในขณะที่จะจ้างคนใหม่
“เรารู้สึกว่าพนักงานของเรา เราต้องใส่ใจเขา ลงทุนกับเขา อย่างที่หลายองค์กรอาจจะทำพลาดคือการขึ้นเงินเดือน 1 ครั้งต่อปี ครั้งละ 3% - 5% สมมติว่านาย A เข้ามาเป็นจูเนียร์ในองค์กร เงินเดือน 3 หมื่น พัฒนาตัวเองมาเรื่อยๆ 5 ปีต่อมาเงินเดือน 4 หมื่น แต่ปรากฏว่ามีนาย B เข้ามาสมัครงาน ประสบการณ์ 2 ปี เรียกเงินเดือนที่ 5 หมื่น ผมอยากได้ ผมจ้างเข้ามา แต่คนที่ทำมาก่อน เงินเดือนน้อยกว่าอีก สักวันนาย A ก็จะรู้ว่านาย B เงินเดือนเยอะกว่า นาย A ก็จะรู้แล้วว่าถ้าอยากได้เงินเยอะ ต้องเปลี่ยนงาน เพราะสุดท้ายแล้วความเสี่ยงที่สุดของบริษัทก็คือการรับคนใหม่เข้ามานี่แหละ นาย B ทำไปสักพัก อาจจะไม่โอเค ลาออก ส่วนนาย A น้อยใจ หางานใหม่ ลาออก ผมก็อาจจะยืนอยู่ตรงนั้น ไม่เหลือใครเลย เพราะงั้นเราต้องทำสิ่งที่ถูกต้อง เราจะดูเงินเดือนของเขาปีละ 2 ครั้งว่าเหมาะกับตลาดไหม ถ้าไม่เหมาะก็ปรับแก้ให้ ก่อนที่เราจะจ้างคนใหม่ เราจะดูราคาตลาด ดูฝีมือ ดูตำแหน่ง เพื่อปรับขึ้นให้พนักงาน แต่ถ้าคุณทำเหมือนเดิม ไม่ได้พัฒนาอะไร ก็แบบเดิม แฟร์ๆ”
ทิวาได้ปิดท้ายว่าการบริหารงานของ Kaidee ว่า ‘ถ้าเราบริหารทีมได้ดี Kaidee ก็จะชนะเกม ชนะ Season และชิงแชมป์ได้’ นี่แหละคือเหตุผลที่ทำให้องค์กรรุ่นใหม่อย่าง Kaidee กลายเป็นองค์กรที่หลายคนอยากทำงานด้วย
Cr : Kaidee
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี