นางสาวแสงเดือน ตั้งธรรมสถิตย์ ผู้ร่วมก่อตั้งและหัวหน้าผู้บริหารด้านปฏิบัติการ เว็บไซต์จ๊อบไทยดอทคอม (JobThai.com) กล่าวว่า ปัจจุบันในโลกที่เทคโนโลยีการสื่อสารมีการพัฒนาและมีบทบาทสำคัญในชีวิตประจำวันของผู้คนมากขึ้น หลายคนต่างก็มีโซเชียลมีเดีย (Social Media) เป็นของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ อินสตาแกรม ไลน์ ฯลฯ ไว้สำหรับติดตามข่าวสาร รวมถึงบอกเล่าหรือแชร์เรื่องราวมากมายที่พบเจอผ่านช่องทางเหล่านั้น หลายคนเข้าใจว่าโซเชียลมีเดียคือพื้นที่ส่วนตัวที่สามารถแสดงพฤติกรรมได้อย่างอิสระ แต่ในความเป็นจริงแล้วพฤติกรรมทั้งหมดที่แสดงออกบนโซเชียลมีเดียกลับกลายเป็นส่วนสำคัญและส่งผลกระทบในโลกการทำงาน หลายคนอาจไม่ตระหนักว่าโซเชียลมีเดียได้เข้ามามีบทบาทมากขึ้น โดยเฉพาะในขั้นตอนการพิจารณาคัดเลือกรับคนเข้าทำงาน ซึ่ง HR ในหลายๆ องค์กรเริ่มมีการนำชื่อหรืออีเมลของผู้สมัครงานไปค้นหาโซเชียลมีเดียเพื่อทำความรู้จักให้มากขึ้นและใช้ประกอบการพิจารณาเข้าทำงานนอกเหนือจากข้อมูลในใบสมัครหรือการสัมภาษณ์ จ๊อบไทยดอทคอม ได้ทำการศึกษารวบรวมข้อมูลและพบว่ามี 3 สิ่งบนโซเชียลมีเดียของผู้สมัครงานที่ HR มักเลือกใช้ประกอบการพิจารณาว่าจะรับหรือไม่รับเข้าทำงานกับบริษัท ดังนี้
• รูปภาพ ถือเป็นสิ่งแรกที่ HR จะเข้าไปดู ไม่ว่าจะเป็นรูปภาพที่โพสต์เอง หรือแชร์ออกไปให้ผู้อื่นรับทราบ ว่ามีลักษณะอย่างไร มีความรุนแรง และเหมาะสมหรือไม่ เนื่องจากสิ่งเหล่านี้ล้วนแสดงให้เห็นถึงตัวตนและภาพลักษณ์ของผู้สมัคร
• ข้อความที่โพสต์หรือการแสดงความคิดเห็น อาทิ การโพสต์เนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับสิ่งผิดกฎหมาย-ของมึนเมา การแสดงความคิดเห็นในด้านลบต่อที่ทำงาน เจ้านาย หรือเพื่อนที่ทำงาน ซึ่งเหล่านี้มักแสดงให้เห็นถึงอารมณ์ ทัศนคติ และวุฒิภาวะของเจ้าของข้อความได้เป็นอย่างดี ทำให้ HR สามารถประเมินผู้สมัครงานได้เบื้องต้นว่าเหมาะสมกับตำแหน่งงานหรือองค์กรหรือไม่
• ไวยากรณ์ที่ใช้และการสะกดคำ ทักษะการสื่อสารรวมถึงการใช้คำศัพท์ที่ถูกต้องและถูกกาลเทศะถือเป็นเรื่องที่สำคัญในการทำงาน องค์กรจะพิจารณาว่าผู้สมัครมีการสื่อความผิดเพี้ยน ใช้ภาษาวัยรุ่นหรือภาษาที่ถูกดัดแปลง ทำให้การสื่อสารคลาดเคลื่อนหรือไม่ แต่หากเขียนภาษาได้อย่างถูกต้องตามหลัก จะเป็นการแสดงให้เห็นถึงทักษะในการสื่อสารของผู้สมัคร ยิ่งหากต้องทำงานที่มีความเกี่ยวข้องกับการใช้ภาษา จะยิ่งช่วยเสริมให้ผู้สมัครดูมีภาษีที่ดีกว่าอย่างแน่นอน
อย่างไรก็ตาม โซเชียลมีเดียไม่ได้ส่งผลเสียเสมอไป หากผู้สมัครมีเนื้อหาบนโซเชียลมีเดียได้อย่างเหมาะสม จะทำให้โซเชียลมีเดียกลายเป็นพื้นที่สร้างภาพลักษณ์ที่ดี โดยเนื้อหาที่เหมาะสมสำหรับการใส่ลงบนโซเชียลมีเดีย คือ เรื่องที่มีประโยชน์ต่อการตัดสินใจรับเข้าทำงาน เช่น ระดับการศึกษา ประสบการณ์การทำงานที่ผ่านมา ภาพการเข้าร่วมอบรมเพื่อพัฒนาศักยภาพของตัวเอง หรือถ้าเป็นนักศึกษาจบใหม่ก็อาจใส่ภาพที่ไปออกค่ายหรือทำกิจกรรมร่วมกับมหาวิทยาลัย นอกจากจะใส่เนื้อหาที่ส่งเสริมภาพลักษณ์ตัวเองลงไปแล้ว ในบางสายอาชีพยังสามารถใช้โซเชียลมีเดียเป็นพื้นที่แสดงผลงานได้อีกด้วย เช่น สายงานกราฟิกใช้อินสตาแกรมไว้สะสมภาพผลงาน หรือคนที่อยากเป็นนักเขียนสามารถใช้เฟซบุ๊กส่วนตัวหรือเปิดแฟนเพจเป็นพื้นที่ทดสอบฝีมือและยังเก็บผลงานไว้ให้ HR ดูในวันสัมภาษณ์งานได้อีกด้วย นางสาวแสงเดือน กล่าวทิ้งท้าย
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี