เรื่อง วิมาลี วิวัฒนกุลพาณิชย์
ก่อนที่โดนัลด์ ทรัมป์จะเข้าพิธีสาบานตนรับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯอย่างเป็นทางการเมื่อต้นม.ค.ที่ผ่านมา เขาได้เชิญบรรดาผู้บริหารบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำเข้าพบ อาทิ ไอบีเอ็ม แอปเปิ้ล อเมซอน เฟสบุ๊ก อินเทล ออราเคิล และอีกหลายบริษัทเพื่อหารือเกี่ยวกับการสร้างงานในประเทศซึ่งเป็นนโยบายหลักอันหนึ่งที่ทรัมป์เคยหาเสียงไว้
หนึ่งในข้อเสนอที่น่าสนใจมาจากจินนี่ โรเมตตี้ ประธานและซีอีโอหญิงแห่งไอบีเอ็มเกี่ยวกับ new collar job อันเป็นแรงงานที่จะเกิดในอนาคต ผู้บริหารหญิงของไอบีเอ็มยังตอกย้ำเรื่องนี้ที่เวทีการประชุม World Economic Forum ที่เพิ่งเสร็จสิ้นลงที่เมืองดาวอส สวิตเซอร์แลนด์อีกด้วย
การเอ่ยถึง new collar job ของหญิงแกร่งแห่งบริษัทคอมพิวเตอร์ยักษ์ใหญ่ทำให้หลายฝ่ายหันมามอง เราอาจจะเคยได้ยินประเภทของการทำงานแบบ white collar กับ blue collar ที่แบ่งกันชัดเจนระหว่างฝ่ายแรกที่เป็นกลุ่มเชิ้ตขาว ทำงานนั่งโต๊ะในห้องแอร์อันเป็นตัวแทนของมนุษย์เงินเดือน กับฝ่ายหลังที่ทำงานใช้แรงงาน เช่น คนงานหรือช่างสาขาต่าง ๆ
แล้ว new collar คืออะไร โรเมตตี้อธิบายว่าเป็นงานที่ไม่ต้องใช้เวลาร่ำเรียนในมหาวิทยาลัยนานหลายปี ไม่จำเป็นต้องจ้างบัณฑิตจบปริญญาตรี คนที่เข้ามาทำไม่ต้องมีความรู้ทุกอย่างแต่สามารถฝึกฝนจนเกิดทักษะและความชำนาญได้
พูดง่าย ๆ new collar ในความหมายของโรเมตตี้ก็คือการผลักดันให้เด็กนักเรียนมัธยมปลายเข้าเรียนสายอาชีวะสาขาต่าง ๆโดยเฉพาะด้านเทคโนโลยีและเปิดโอกาสการอบรมและฝึกฝนจนเชี่ยวชาญจนมีประสิทธิภาพก่อนจะปล่อยเข้าตลาดงานที่กำลังขาดแคลน นั่นคืองานเกี่ยวกับไอทีผนวก health care
อย่างบริษัทไอบีเอ็มเองก็ออกแบบหลักหลักสูตรรับเด็กมัธยมปลายเข้ามาเรียน และฝึกด้านเทคโนโลยี ให้เด็กสั่งสมประสบการณ์จนสามารถเข้าสู่โลกการทำงานจริง ๆ ได้ ทั้งนี้ 1 ใน 3 ของพนักงานไอบีเอ็มทั้งหมด เป็นพนักงานที่ไม่มีดีกรีปริญญา
งานที่เกี่ยวข้องกับ new collar ได้แก่ งานด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ (cyber security) งานด้านวิทยาศาสตร์ข้อมูล (data science) และงานเกี่ยวกับหุ่นยนต์หรือปัญญาประดิษฐ์ (artificial intelligence) ยกตัวอย่างตำแหน่งงาน new collar ที่มีการจ้างงานกันอยู่ในขณะนี้ ก็เช่น pharmacy technical คือตำแหน่งงานที่ทำงานร่วมกับเภสัชกร โดยทำหน้าที่จัดการใบสั่งยา ใบสั่งจากแพทย์ ดูแลประวัติผู้ป่วย คลังยา ไปจนถึงงานธุรการและงานบริการคนไข้
หรือตำแหน่ง Diagnostic Medical Sonographer ที่ทำงานกับแพทย์ เป็นผู้ช่วยเตรียมอุปกรณ์เครื่องมือ คอยสแกนภาพ เก็บภาพอัลตร้าซาวน์ให้แพทย์อ่านผล ตำแหน่ง DMS ต้องผ่านการอบรมด้านนี้ให้ได้รับใบประกาศนียบัตรก่อนจึงจะทำงานได้ และตำแหน่ง cloud administrative ผู้ดูแลระบบคลาวด์ เป็นสาขาที่กำลังขาดแคลน ทั้งกูเกิ้ลและไมโครซอฟท์ต่างเปิดอบรมด้านนี้ โดยผู้เข้าอบรมไม่จำเป็นต้องจบปริญญาตรีแต่พอจะมีพื้นฐานด้านคอมพิวเตอร์
พอจะเห็นภาพแล้วใช่ไหมว่า new collar คืองานแบบไหนสรุปคือตำแหน่งงานที่ไม่ต้องมีปริญญา แต่ผ่านหลักสูตร การอบรมด้านเทคโนโลยีจะสาขาไหนก็ว่าไป มีการฝึกจนชำนาญ จนสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เห็นว่าใน 4 ปีข้างหน้า ไอบีเอ็มตั้งเป้าจ้าง new collar ถึง 25,000 ตำแหน่ง โดยปีนี้มีแผนจ้าง 6,000 ตำแหน่ง นี่คือค่านิยมการจ้างงานในอนาคต แม้จะไร้ดีกรี แต่ถ้าทำงานได้ นายจ้างก็แฮปปี้
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี