เรื่อง : ดร.วราธัช ตันติวรวงศ์ บ.ภ.
ผู้อำนวยการ เครือข่ายลูกค้าผู้ประกอบการ 1
สายงานธุรกิจลูกค้าผู้ประกอบการ ธนาคารกสิกรไทย
varatad.t@kasikornbank.com
ผมได้มีโอกาสชมภาพยนตร์เรื่อง “ต้องรอด” (The Revenant) ซึ่งเป็นเรื่องราวของพระเอกที่ต้องดิ้นรนเพื่อให้ตัวเองมีชีวิตรอดจากการถูกหมีทำร้าย และสภาพของช่วงหน้าหนาวในรัฐไวโอมิงทางตอนเหนือของประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเรียกว่าเป็นบริเวณที่มีอากาศที่หนาวเหน็บ เพื่อให้ตัวเองมีชีวิตรอดเพื่อที่จะล้างแค้นให้กับลูกชายที่ถูกผู้ร้ายฆ่าตาย ได้เห็นสัญชาตญาณของมนุษย์ของการที่ต้องดิ้นรนให้ตัวเองอยู่รอด ไม่ว่าจะเป็นการเอาตัวไปซุกอยู่ในตัวม้าเพื่อให้ผ่านพ้นคืนที่พายุหิมะพัดกระหน่ำ เป็นต้น
สัญชาตญาณของการเอาตัวรอดของพระเอกในเรื่องอุปมาได้กับผู้ประกอบการ SME ไทยในยุคปัจจุบันที่ต้องเผชิญกับปัญหารุมเร้ามากมาย ไม่ว่าจะเป็นสภาพการชะลอตัวของตลาดโลก กำลังซื้อของผู้บริโภคในประเทศที่หดตัวอย่างมีนัย ทำให้ปีที่ผ่านมานับเป็นปีที่ยากลำบากสำหรับผู้ประกอบการ SME ไทย เชื่อไหมครับว่า หลายธุรกิจประสบปัญหาขาดทุนเป็นครั้งแรกในรอบ 30 ปี เถ้าแก่หลายท่านกำลังมึนว่าจะเอาเงินที่ไหนมาจ่ายโบนัสให้กับพนักงาน เรียกว่าเป็นปีที่ยากลำบากจริงๆ ครับ
สำหรับเรื่องของการปรับตัวเพื่อให้สามารถอยู่รอดในปีวอกหลังจากที่ผมได้มีโอกาสพูดคุยกับผู้ประกอบการ SME หลายราย น่าจะสรุปเป็นประเด็นสำคัญได้ดังนี้ครับ
เดินหน้าลดค่าใช้จ่าย
เมื่อรายได้หดหาย การลดค่าใช้จ่ายให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมก็เป็นเรื่องที่หลีกเหลี่ยงไม่ได้ ผู้ประกอบการหลายท่านเรียนรู้การทำธุรกิจแบบไม่ประมาท เรื่องที่จะจ่ายค่าใช้จ่ายไปก่อน และเชื่อว่ารายรับจะมาชดเชยในส่วนของค่าใช้จ่ายที่ออกไปก่อนนั้น ก็ต้องมานั่งคิดให้รอบคอบเพราะถ้าจ่ายออกไปมาก สุดท้ายเงินไม่มา ก็ชักเนื้ออยู่ดีครับ ฉะนั้นค่าใช้จ่ายในส่วนที่ไม่จำเป็น เช่น การโฆษณาทางการตลาดที่ใช้เม็ดเงินจำนวนมากก็เริ่มถูกแช่แข็ง เน้นเอาเงินไปพัฒนาบุคลากรที่มีส่วนกับการเพิ่มยอดขาย น่าจะเป็นกลยุทธ์ที่เหมาะสมกับช่วงสภาวะเศรษฐกิจในช่วงนี้ครับ
หาตลาดศักยภาพในกลุ่ม AEC
เมื่อกำลังซื้อของคนไทยเริ่มหยุดนิ่งไม่ขยับ การมองหาโอกาสจากประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC จากประชากรในประเทศแค่ 60 ล้านคน เป็นประชากรที่มากถึง 600 ล้านคน ก็น่าจะเป็นตัวเลขที่น่าจะช่วยทำให้ยอดขายของผู้ประกอบการไทยมีแนวโน้มที่ดีขึ้น คำถามที่มักจะได้ยินจากผู้ประกอบการ SME ไทยที่จะไปทำธุรกิจใน AEC คือ แล้วจะเริ่มต้นในการทำธุรกิจที่ประเทศนี้อย่างไร ผู้ประกอบการ SME ไทยของเราต้องถามตัวเองก่อนว่า ก้าวแรกของการเข้าไปลงทุนในประเทศนั้นๆ เป็นเรื่องที่ “เสี่ยง” หรือ “ท้าทาย” หรือไม่ ถ้าความเสี่ยง สร้างความกังวลให้กับผู้ประกอบการไทย กลยุทธ์ในเรื่อง Know Who มากกว่า Know How น่าจะตอบโจทย์มากกว่า
การรู้จักคอนเน็กชัน (Connection) เป็นสิ่งสำคัญมากในการทำธุรกิจในประเทศเกิดใหม่ (Emerging Market) ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยจำนวนไม่น้อยจึงเลือกใช้วิธีการทำธุรกิจในต่างแดน โดยการขายสินค้าผ่านบริษัทเทรดดิ้งท้องถิ่นที่มีทักษะในเรื่อง Know Who เป็นอย่างดี เช่น MK Myanmar Group บริษัทเทรดดิ้งอันดับหนึ่งของเมียนมา ซึ่งเป็นตัวแทนรับสินค้าจากเมืองไทยมาขายมากที่สุด ซึ่งการเลือกขายสินค้าผ่านตัวแทนดังกล่าวจะช่วยในเรื่องของการลดความเสี่ยงในการทำธุรกิจในประเทศที่ไม่คุ้นเคยได้เป็นอย่างดี
เพิ่มเงินสด ลดเครดิต
สภาพคล่อง เงินสด เป็นปัจจัยที่ทำให้ SME ไทย ต้องรอดได้ในสภาวะเศรษฐกิจแบบนี้ ผู้ประกอบการหลายท่านเริ่มเปลี่ยนวิธีการบริหารจัดการเรื่องของสภาพคล่อง ลูกค้ารายไหนที่เริ่มประสบปัญหาในเรื่องเครดิต เช็คเด้งสัปดาห์เว้นสัปดาห์ ก็ต้องเริ่มมีการเจรจาเปลี่ยนวิธีการซื้อ-ขายเป็นเงินสด เพื่อเป็นการป้องกันความเสี่ยงและเพื่อให้แน่ใจว่า จะได้รับเงินสดมาตามกำหนดที่วางแผนไว้ ส่วนลูกค้ารายไหนที่เป็นรายใหญ่ก็ต้องให้เป็นเครดิตต่อไป แต่อาจจะเปลี่ยนวันรับเช็คจากเดิม 1 เดือนให้คนไปรับเช็คเป็น 2 สัปดาห์ครั้ง เพื่อกระจายยอดบิลจากเดือนละครั้งเป็น 2 สัปดาห์ครั้ง เพื่อให้จำนวนเงินในหน้าเช็คน้อยลง แต่ได้มาหลายๆ ใบ การผ่านเช็คจะได้สะดวกขึ้น เป็นต้น
นี่แหละครับ วิธีการบริหารจัดการของผู้ประกอบการ SME ไทยเพื่อทำให้ธุรกิจ “ต้องรอด” ก็ขอเป็นกำลังใจช่วย SME ไทยทุกท่านครับ
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี