เรื่อง : อภิวุฒิ พิมลแสงสุริยา
กรรมการบริหาร สลิงชอท กรุ๊ป
เคยมีโอกาสบรรยายให้องค์กรแห่งหนึ่ง เรื่องการเป็น “ผู้นำมืออาชีพ” ระหว่างเบรกมีผู้เรียนแวะเวียนมาถามมากหน้าหลายตา แต่ที่จำได้และชอบใจ คือคำถามว่า “ทำอย่างไรเมื่อต้องกลายเป็นเจ้านายของเพื่อนร่วมงาน”
ผมเชื่อว่าปัญหานี้น่าจะเป็นเรื่องจุกอกของใครหลายคน!
มีข้อแนะนำดังนี้…
เก่งแล้วอย่ากร่าง
การมีโอกาสเจริญก้าวหน้าเร็วกว่าเพื่อนๆ (ถ้าไม่ใช่เพราะการเมือง) เป็นสิ่งที่ควรภาคภูมิใจว่าคงมีอะไรดี เป็นที่ต้องตากรรมการ ดังนั้น อย่าคิดว่าเป็นปัญหา ให้คิดว่าเป็นโอกาสในการเรียนรู้และพัฒนา เพื่อนที่ทำงานด้วยกันมาแต่โตช้ากว่า ซ้ำร้ายกลายมาเป็นลูกน้องของเราด้วย แค่นี้เขาก็ช้ำใจมากพออยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องช่วยเติมความหมั่นไส้ด้วยการวางก้ามแสดงท่าทางแอคอาร์ตทว่า “ข้าใหญ่...เป็นเจ้านายเอ็ง” ทำนุ่มๆ เนียนๆ ไป ไม่ต้องเที่ยวประกาศให้ใครๆ รับทราบหรอก
อย่าเหมือนเดิม...แต่อย่าเปลี่ยนไป
ฟังดูสับสนนิดหน่อย แต่ต้องการหมายความอย่างนั้นจริงๆ อย่าเหมือนเดิม แปลว่า อย่าทำตัวสนิทสนมกันมากเหมือนเดิม อย่ารับประทานข้าวด้วยกัน 2 คนเหมือนเดิม อย่านั่งคุยกันแบบเมาท์แตกด้วยกันนานๆ เหมือนเดิม เป็นต้น เพราะต้องเข้าใจว่า พฤติกรรมต่างๆ ที่หัวหน้าแสดงออก ย่อมเป็นที่จับตามองของลูกน้องทุกคนอยู่แล้ว หากทำตัวอย่างเดิม อาจนำมาซึ่งคำครหานินทา และเป็นที่มาของการขาดความเคารพยำเกรงได้ ในทางกลับกัน ก็อย่าเปลี่ยนไป กลายเป็นคนละคน จนทำให้เพื่อนรู้สึกว่าเหมือน “คางคกขึ้นวอ” เช่น ตั้งแต่รับตำแหน่ง ก็ทำตัวเหินห่าง ไม่คุยเล่น ไม่ทักทาย ไม่รับประทานข้าวด้วย ฯลฯ จนเป็นที่สังเกตเห็นได้ชัดเจน
“อ้าว…แล้วจะให้ทำอย่างไร ใกล้ไปก็ไม่ได้ ห่างไปก็ไม่ดี!
ทำตามข้อถัดไปนี่เลย…
รักษาระยะห่างให้พอดี
ทันทีที่ได้เลื่อนตำแหน่ง อย่าบอกว่า “เราเป็นเพื่อนกันเหมือนเดิม” เพราะในความเป็นจริง “เราไม่เหมือนเดิม” อย่างน้อยสถานะก็ไม่ใช่แล้ว นอกจากนั้น ห้ามบอกว่า “อย่าถือว่าเป็นนายเป็นลูกน้อง เราเป็นเพื่อนกัน” เพราะยังไงๆ เราก็เป็นนาย-ลูกน้องกันอยู่ดี สิ่งที่ควรทำคือ รักษาระยะห่างให้พอดี หมายความว่า หากเดิมเคยไปรับประทานข้าวกลางวันดัวยกันทุกมื้อ ก็อย่าหยุดไป แต่อาจแบ่งเวลาใหม่ให้เหมาะสม หาโอกาสไปรับประทานข้าวกับลูกน้องคนอื่นๆ บ้าง กระจายๆ กันไป ไม่ใช่ติดอยู่กับคน คนเดียว หรืออีกทางเลือกหนึ่งคือ แทนที่จะรับประทานกันแค่ 2 คนเหมือนเดิม ก็ชวนลูกน้องคนอื่นๆ ไปรับประทานด้วยกันเลย ไปเป็นก๊วนใหญ่ๆ จะได้ไม่มีปัญหาว่าใครเป็นเด็กใคร เป็นต้น
วางตัวให้เป็นกลาง ปล่อยวางความขัดแย้งในอดีต
หากที่ผ่านมามีปัญหากระทบกระทั่งกันบ้างในการทำงานกับเพื่อนร่วมงาน ทันทีที่ได้รับตำแหน่ง ให้ถือว่าเป็นวันกดปุ่ม “รีเซ็ต” ตั้งแต่นี้ต่อไปเรื่องราวความไม่ลงรอยกันในอดีตต้องจบลง หน่วยความจำเดิมต้องถูกลบทิ้งไป เริ่มต้นกันใหม่ หมั่นเตือนตัวเองเสมอว่า เป้าหมายใหญ่ของการทำงานในฐานะหัวหน้า คือ งานสำเร็จ ทีมแฮปปี้ และคนมีการพัฒนา ความคิดแบบเดิมๆ ทำนอง ทีใครทีมัน ถึงเวลาเอาคืน จะได้เห็นดีกัน ฯลฯ ควรหมดไปจากสมองของคนยุคนี้ได้แล้ว หลายองค์กรต้องสูญเสียบุคลากรชั้นดีไปอย่างน่าเสียดาย เพียงเพราะคู่ขัดแย้งในระดับเดียวกัน ลาออกทันทีที่อีกฝ่ายได้เลื่อนตำแหน่ง!
สร้างพระคุณให้มากกว่าพระเดช
ตำแหน่งอาจช่วยให้มีอำนาจ แต่การใช้อำนาจที่ได้มาจากตำแหน่งเพียงอย่างเดียว ไม่สามารถสร้างความน่าเชื่อถือ และศรัทธาให้เกิดขึ้นได้อย่างยั่งยืน พนักงานเก่งๆ และเก๋าๆ หลายคน ไม่ได้ “ซูฮก” นาย เพียงเพราะมีตำแหน่งสูงกว่า แต่เป็นเพราะศรัทธาในความเป็นคนเก่ง รู้กว้าง วางตัวดี และมีบุญคุณต่อกันต่างหาก เพื่อนที่กลายมาเป็นลูกน้อง อาจกลัวและเกรงใจเพราะอำนาจตามตำแหน่งสามารถ “ให้คุณและให้โทษ” กับเขาได้ แต่หากอยากได้ใจ อยากให้ทำเกินร้อย อยากให้ช่วยจัดการงานให้เสร็จและทีมประสบความสำเร็จ ต้องรู้จักสร้างและใช้พระคุณให้มากขึ้นด้วย
หาโอกาสคุยกันอย่างเปิดใจ
ไหนๆ ก็ต้องร่วมงานกันต่อไป ควรหาโอกาสพูดคุยกับเพื่อนเป็นการส่วนตัวอย่างตรงไปตรงมา ตกลงแนวทางการทำงานร่วมกัน บอกเพื่อนว่าในระหว่างการทำงานขออนุญาตสวมหมวกหัวหน้า แต่ถ้านอกงานขอเป็นเพื่อนกันเหมือนเดิม
ให้เกียรติแต่อย่าให้อภิสิทธิ์
ปฏิบัติต่อเพื่อนและลูกน้องทุกคนอย่างให้เกียรติ เช่น ใช้คำพูดให้เหมาะสม ควบคุมอารมณ์อย่าด่ากราด ชื่นชมในที่สาธารณะและตำหนิเป็นการส่วนตัว เป็นต้น ในขณะเดียวกันหากเพื่อนทำไม่ถูกตามกฎ กติกา และข้อตกลง หรือมีพฤติกรรมบางอย่างที่ไม่เหมาะสม ซึ่งปกติจะไม่อะลุ้มอล่วยหากเป็นพนักงาน ก็ต้องเด็ดขาดกับเพื่อนด้วยเช่นกัน หลีกเลี่ยงการบริหารจัดการแบบ 2 มาตรฐาน
ระมัดระวัง 90 วันอันตราย
3 เดือนแรกของการรับตำแหน่งเป็นช่วงเวลาวัดใจระหว่างเจ้านายกับลูกน้อง เพราะต่างคนต่างจดๆ จ้องๆ ดูเชิงกันอยู่ ลูกน้องจะรับนายใหม่ได้ไหม เจ้านายจะถูกใจลูกน้องหรือเปล่า ก็อยู่ภายใน 90 วันนี้แหละ
ในช่วงนี้ต้อง “พูดให้น้อย ถามและฟังให้มาก” ยิ่งพูดมากยิ่งสร้างความคาดหวัง หากพูดได้เคลียร์ก็ดีไป หากพูดไม่เคลียร์ ต้องตามล้างตามเช็ดกันอีกวุ่นวาย ที่สำคัญเมื่อพูดก็จะไม่ได้ฟัง!
“อย่าเพิ่งรีบเปลี่ยนแปลง” หัวหน้าใหม่บางคนใจร้อน อยากสร้างผลงานเร็วๆ รับตำแหน่งใหม่ไม่กี่วันก็รื้อของเดิมทันที การเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องดี แต่การเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา...ไม่ดี! บ่อยครั้งมักพบว่า ความใจร้อนให้ผลเสียมากกว่าผลดี
“ได้ใจ ก่อนได้งาน” ภารกิจแรกที่ควรลงมือทำในช่วง 90 วันของการรับตำแหน่งคือ ช่วยแก้ปัญหาที่ค้างคามานานให้กับพนักงาน ช่วยดูแลเรื่องเครื่องไม้เครื่องมือและอุปกรณ์การทำงานที่ขาดหายไป หรือใช้การไม่ได้ แต่หัวหน้าใหม่หลายคนกลับใช้ช่วงเวลานี้ในการสร้างระบบติดตามและควบคุม (Monitor & Control) เพื่อประโยชน์ของตนเองในการบริหารจัดการ แทนที่จะซื้อใจพนักงานด้วยการให้ความช่วยเหลือ
การบริหารจัดการคน ต้องอาศัยทั้งศาสตร์ คือความรู้ และศิลปะ คือการนำไปใช้ ประกอบกัน อ่านจบแล้วคงได้ความรู้เพิ่มขึ้น การนำไปใช้อย่างมีศิลปะนั้น จะช่วยเสริมให้เกิดทักษะ ซึ่งปกติกว่าจะทำได้คล่องแคล้วต้องใช้เวลาฝึกฝน แต่เมื่อเป็นแล้วจะกลายเป็นสมบัติติดตัวไปจนวันสุดท้าย
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี