อะไรจูงใจคนทำงาน

 



เรื่อง : อภิวุฒิ พิมลแสงสุริยา
           กรรมการบริหาร สลิงชอท กรุ๊ป



    เคยรู้สึกหงุดหงิดไหมกับเพื่อนร่วมงานที่ตั้งคำถามตลอดเวลา ไม่ว่าจะทำอะไร...ทำไปทำไม ทำแล้วได้อะไร ทำแบบอื่นได้ไหม ทำไมไม่ทำอย่างนี้ ฯลฯ หรือรู้สึกหงุดหงิดกับคนที่ไม่ถามอะไรเลยมากกว่า? 

    เคยรู้สึกรำคาญพวกที่ต่อต้านทุกเรื่อง ไม่เคารพกฎกติกาและข้อตกลงใดๆ เลย ยกเว้นสิ่งที่ตนเองเห็นด้วย บ้างหรือเปล่า?

    บ่อยครั้งที่เราหาคำตอบไม่ได้ว่า “ทำไมคนพวกนี้ถึงเป็นอย่างนั้น”

    ในบทความ To Form Successful Habits-Know What Motivates You ของ Gretchen Rubin บอกว่า มนุษย์บนโลกใบนี้ล้วนมีความคิด ความเชื่อและทัศนคติต่อเรื่องต่างๆ ไม่เหมือนกัน และนี่คือเหตุผลสำคัญที่ทำให้คนมีอุปนิสัย และความสามารถที่ต่างกันออกไป 

    เขาเชื่อว่าแม้มนุษย์จะเกิดมาต่างกันร้อยพ่อพันแม่ แต่ในเชิงพฤติกรรมสามารถแบ่งออกได้เป็น 4 กลุ่มใหญ่ๆ ประกอบด้วย ผู้ยืนหยัด (Upholders) นักถาม (Questioners) ผู้เคร่งครัด (Obligers) และนักต่อต้าน (Rebelers) โดยดูจากวิธีการตอบสนองต่อความคาดหวังและแรงกดดันที่มีต่อเขา ซึ่งสามารถแบ่งออกได้เป็น “ความคาดหวังหรือแรงกดดันจากภายนอก” เช่น การทำงานให้เสร็จตามเวลาที่กำหนด หรือการปฏิบัติตามกฎกติกาขององค์กร เป็นต้น และ “ความคาดหวังหรือแรงกดดันจากภายใน” เช่น การหักห้ามใจตัวเองไม่ให้รับประทานช็อกโกแลต หรือการออกกำลังกายให้ได้ทุกวัน เป็นต้น

    หากเข้าใจลักษณะของคนแต่ละกลุ่มให้ชัดเจนและสามารถแยกแยะได้ว่าใครอยู่กลุ่มไหน จะช่วยให้เราสามารถบริหารจัดการและใช้เขาให้เป็นประโยชน์ได้อย่างเต็มที่ นอกจากนั้น ยังอาจช่วยตัวเองให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นได้อีกด้วย


• ผู้ยืนหยัด (Upholders)

    “ผู้ยืนหยัด” พร้อมเสมอที่จะตอบสนองต่อความคาดหวังหรือแรงกดดันทั้งจากภายในและภายนอก พวกเขายืนหยัดได้ด้วยตนเอง ปฏิบัติตามคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้ ตั้งใจทำงานและทำเสร็จตามกำหนดเวลา

    “ผู้ยืนหยัด” มักรู้สึกอึดอัดหากต้องอยู่ในสถานการณ์ที่ความคาดหวังไม่ชัดเจน พวกเขาจะรู้สึกแย่มากหากต้องแหกกฎกติกาที่กำหนดไว้ แม้สิ่ิงนั้นจะเป็นเรื่องไร้สาระและไม่มีประโยชน์อะไรที่ชัดเจนในสายตาคนอื่นก็ตาม ยกเว้นเขาจะหาเหตุผลมาอธิบายตนเองได้อย่างสมน้ำสมเนื้อเท่านั้น

    ‘ผู้ยืนหยัด” มักเป็นคนเก็บเนื้อเก็บตัว ไม่ค่อยสุงสิงกับใครมากนัก ดังนั้น หากต้องทำงานกับคนแบบนี้ จำเป็นต้องชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่าความคาดหวังที่มีคืออะไร หากเขาเข้าใจและรับปากแล้ว “ผู้ยืนหยัด” จะทำอย่างสุดใจขาดดิ้นเพื่อรักษาคำสัญญาที่ให้ไว้


• นักถาม (Questioners)

    “นักถาม” มักมีคำถามกับทุกอย่างที่ขวางหน้า พวกเขาจะลงมือทำก็ต่อเมื่อได้รับคำตอบที่เหมาะสม มีตรรกะ มีเหตุผล แต่จะต่อต้านทุกอย่างที่มองไม่เห็นว่าประโยชน์ที่ชัดเจนคืออะไร พวกเขาจะไม่ทำเพียงเพราะมีความคาดหวังหรือแรงกดดันจากภายนอก “นักถาม” จะเปลี่ยนสิ่งเหล่านั้นมาเป็นความรู้สึกจากภายในเสมอ

    “นักถาม” มักคิดอย่างรอบครอบก่อนตัดสินใจ พวกเขาจึงผูกพันกับสิ่งที่ทำและพร้อมที่จะลงลึกในรายละเอียดเสมอ เมื่อใดก็ตามที่มองว่าความคาดหวังหรือแรงกดดันนั้นเหมาะสมและถูกต้อง พวกเขาจะทำอย่างเต็มใจ ในทางกลับกันหากมองว่าไม่เหมาะสมหรือไม่มีเหตุผลที่หนักแน่นเพียงพอ พวกเขาจะไม่สนใจทำมันเลย

    เนื่องจาก “นักถาม” เป็นผู้ให้ความสำคัญกับข้อมูลและรายละเอียด ดังนั้น หากต้องการจูงใจคนกลุ่มนี้ให้ทำงานอย่างเต็มที่ ต้องไม่ลืมที่จะเตรียมรายละเอียดและข้อมูลให้พร้อม รวมทั้งอธิบายเหตุผลและความจำเป็นที่จะต้องทำงานนั้นๆ ให้ชัดเจน


• ผู้เคร่งครัด (Obligers)

    “ผู้เคร่งครัด” พร้อมตอบสนองต่อความคาดหวังหรือแรงกดดันที่มาจากภายนอก แต่มักมีปัญหากับความคาดหวังหรือแรงกดดันจากภายใน พวกเขาทำได้ดีกับงานที่มีเป้าหมายและเงื่อนเวลาเป็นตัวกำหนดอย่างชัดเจน พร้อมเป็นเพื่อนร่วมงานที่ดี เป็นสมาชิกของกลุ่มที่ไม่เคยทำให้ใครผิดหวัง แต่ขาดพลังจากภายในและขาดวินัยในเรื่องของตัวเอง

    “ผู้เคร่งครัด” ต้องอาศัยความคาดหวังและแรงกดดันจากภายนอก เป็นตัวขับเคลื่อนการกระทำของเขา หากปล่อยให้ผลักดันตัวเองจากข้างใน มักไม่ค่อยประสบความสำเร็จเท่าที่ควร ตัวอย่างเช่น งานที่มีกำหนดเวลาส่งมอบอย่างชัดเจน และมีความคาดหวังจากผู้ที่เกี่ยวข้องว่างานต้องเสร็จตามที่ตกลงกัน “ผู้เคร่งครัด” จะส่งมอบงานได้ตรงตามเวลาที่กำหนดไว้อย่างไม่ต้องสงสัย แต่หากปล่อยให้ “ผู้เคร่งครัด” กำหนดระยะเวลาและบริหารจัดการทุกอย่างด้วยตนเอง มักพบว่าผลลัพธ์จะเละเทะไม่เป็นท่า เป็นต้น

    “ผู้เคร่งครัด” พร้อมตอบสนองความคาดหวังที่มาจากภายนอก โดยอาจไม่ได้คำนึงถึงความเหมาะสมหรือกำลังที่ตนเองมี เนื่องจากเป็นคนขี้เกรงใจ กลัวว่าจะทำให้ผู้อื่นผิดหวัง บ่อยครั้งมักพบว่าพวกเขารับปากมากกว่าที่จะสามารถทำได้จริง

    หากจำเป็นต้องทำงานกับ “ผู้เคร่งครัด” ให้ระมัดระวังความเครียดสะสมอันเนื่องมาจากการรับงานโดยไม่กล้าปฏิเสธ แต่เลือกที่จะอดทนทำจนถึงขีดสุด ก่อนถอดใจหรือโวยวายออกมา

    การบริหาร “ผู้เคร่งครัด” ให้มีประสิทธิภาพ ต้องอาศัยความคาดหวังและแรงกดดันจากภายนอกในการผลักดันให้เกิดผลงาน อย่างไรก็ตาม ต้องระวังอย่าให้มากจนเกิดพอดี เพราะด้วยความขี้เกรงใจและปฏิเสธคนไม่เป็น พวกเขาอาจเลือกที่จะไม่พูด!


• นักต่อต้าน (Rebels)

    “นักต่อต้าน” มักปฏิเสธที่จะทำงานเพียงเพราะมีแรงกดดัน ในทางกลับกัน อาจต่อต้านด้วยซ้ำ คนพวกนี้เลือกทำในสิ่งที่ตนเองอยากทำ พวกเขาไม่ค่อยสนใจกฎกติกาหรือข้อกำหนดมากนัก มีความเป็นตัวของตัวเองค่อนข้างสูง

    “นักต่อต้าน” มีวิธีการทำงานเพื่อไปให้ถึงเป้าหมายในแบบฉบับของตนเอง พวกเขาจะไม่ทำเพียงเพราะคนอื่นคิดว่าเป็นสิ่งที่ควรทำ แต่จะตัดสินใจด้วยตนเองและยึดมั่นผูกพันกับแนวทางที่เลือก บ่อยครั้งที่นักต่อต้านอาจสร้างปัญหาในการทำงานของทีม เพราะพวกเขาจะทำเฉพาะสิ่งที่อยากทำเท่านั้น

    หากต้องทำงานกับ “นักต่อต้าน” อาจใช้วิธีจูงใจแบบอ้อมๆ เข้าทำนอง “น้ำร้อนปลาเป็น น้ำเย็นปลาตาย” พวกเขาไม่ชอบการบังคับและจะไม่ทำเพียงเพราะรู้สึกว่าถูกกดดัน ลองใช้วิธีการพูดเชิงดูแคลนเล็กๆ อย่างเช่น “ผมไม่คิดว่างานนี้จะทำเสร็จได้ภายในวันศุกร์” แล้วคุณอาจประหลาดใจเมื่องานมาวางบนโต๊ะตอนเช้าวันศุกร์ เพียงเพราะต้องการพิสูจน์ให้เห็นว่า “เขาชนะ” เท่านั้น!

    คนแต่ละคนแตกต่างกัน หากไม่เอาตัวเองเป็นมาตรฐาน พยายามเข้าใจเขาอย่างที่เขาเป็นโดยไม่ตัดสินว่าถูกผิดดีเลว จากนั้นเรียนรู้วิธีการบริหารจัดการคนแต่ละแบบแล้วปรับแนวทางการพูดคุยให้เหมาะสม เท่านี้ความสัมพันธ์และผลการทำงานก็จะดีขึ้นได้อย่างไม่ยากเย็น



www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี


 

RECCOMMEND: MANAGEMENT

เขียนสัญญาเช่ายังไงให้รัดกุม ธุรกิจไม่เสียเปรียบ

สัญญาเช่า เรื่องใกล้ตัวผู้ประกอบการหลายคนอาจมองว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่รู้ไหมการมีสัญญาเช่าที่ดีและรัดกุม สามารถป้องกันปัญหาและความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นได้มากมาย

ทำงานให้ได้งาน 4 เทคนิคบริหารเวลา เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน

ทำไมบางคนงานท่วมหัว ทำงานยุ่งอยู่ตลอดเวลา แต่งานกลับไม่หมดซะที แถมยังส่งงานไม่ทันกำหนด เราเลยมีเทคนิค เช่น Eisenhower Matrix, Eat that frog, Pomodoro และ กฎ 80/20  ซึ่งจะช่วยให้บริหารเวลาได้อย่างมีประสิทธิภาพและชีวิตการทำงานไม่เครียดอีกต่อไป

ประชุมยังไงให้ได้งาน เทคนิคจาก 4 คนดังที่ประสบความสำเร็จ 

การประชุมที่มีประสิทธิภาพนำไปสู่ความสำเร็จ มักจะมีปัจจัยหลายอย่างเข้ามาเกี่ยวข้อง เราจึงมีเคล็ดลับการประชุมที่แตกต่างกันของคนดังที่ประสบความสำเร็จ  พร้อมแนะนำเทคนิคที่จะช่วยให้การประชุมมีประสิทธิภาพมาฝาก