รู้หรือไม่…ทำไมพนักงานดีๆ ถึง “ลาออก”

 




เรื่อง เจษฎา ปุรินทวรกุล


    รู้หรือเปล่าว่าพนักงานที่ ลาออก ลาออก และลาออก ส่วนใหญ่ไม่ได้ “ลาออกเพราะงาน” แต่ “ลาออกเพราะหัวหน้า” แล้วทำไมพนักงานถึงได้ลาออกเพราะหัวหน้า ลองมาทำความเข้าใจจากบทความนี้กันสักนิด

1. ใช้งานหนักเกินไป

    การใช้งานพนักงานโดยเฉพาะพนักงานที่ทำหน้าที่ได้ดีหนักจนเกินไป อาจทำให้เขาคิดว่าเขากำลังถูกทำโทษอยู่ หรือโดนข้อหาหมั่นไส้เพราะเก่งเกินหน้าเกินตาชาวบ้าน ซึ่งผลการวิจัยจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ประเทศสหรัฐอเมริกา แสดงให้เห็นว่าเมื่อคนเราทำงานเกิน 50 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ จะทำให้ความละเอียดของงานลดลง และหากเกิน 55 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ คุณอาจจะไม่ได้อะไรเป็นชิ้นเป็นอันจากการทำงานในชั่วโมงถัดไปเลย

    หากคุณต้องการเพิ่มภาระงานให้พนักงานจริงๆ เงินเดือน ตำแหน่ง และสิ่งตอบแทนอื่นๆ ควรเพิ่มขึ้นด้วย เพราะถ้าคุณเพิ่มภาระงานโดยไม่ให้อะไรตอบแทน พนักงานดีๆ ย่อมมองหาองค์กรอื่นที่มอบผลตอบแทนที่คุ้มค่าให้กับเขาแทน

2. ไม่สนใจการทำงานที่ดีหรือไม่มีรางวัลให้พนักงาน

    สิ่งที่หัวหน้าควรทำจริงๆ ก็คือ พยายามสื่อสารกับลูกน้องว่าใครทำอะไรไปบ้าง ผลงานดีๆ เกิดขึ้นจากใคร เพื่อหารางวัลมามอบให้บ้าง หรือมีคำชมให้กับพนักงานเก่งๆ บ้าง ในทางกลับกันถ้าเจ้านายไม่สนใจเลย คนขยันกับคนอู้งาน ได้รับผลตอบแทนเท่ากัน องค์กรจะเดินหน้าได้ยังไง คนเก่งๆ ก็ไปอยู่ที่อื่นกันหมด

3. ไม่แคร์พนักงานเลยแม้แต่น้อย

    ส่วนใหญ่คนที่ลาออกจากงาน เป็นเพราะมีความสัมพันธ์ที่แย่กับเจ้านายทั้งนั้น โดยปกติหัวหน้าองค์กรจะมีความเป็นมืออาชีพ มักฉลองความสำเร็จให้พนักงาน เอาใจใส่กับพนักงานที่กำลังเผชิญปัญหาในด้านต่างๆ สร้างกำลังใจและต่อว่าเมื่อจำเป็น แต่หัวหน้าองค์กรที่ไม่สนใจเรื่องเหล่านี้ จะมีปัญหาด้านการเข้าออกของพนักงานที่สูง (High Turnover Rate) เพราะมันเป็นไปไม่ได้หรอกที่จะทำงานวันละ 8 ชั่วโมง กับคนที่ไม่สนใจใยดีเราเลย 

4. ไม่รักษาสัญญา

    เวลาหัวหน้าให้คำสัญญากับลูกน้องสักคน ช่วงเวลานั้นจะมีเส้นคั่นกลางระหว่าง “เพื่อความสุขของลูกน้อง” กับ “รีบๆ เดินออกไปจากห้องฉันซักที” และเมื่อคุณรักษาสัญญาได้ ศักดิ์ศรีความเป็นหัวหน้าจะเติบโตในสายตาของลูกน้อง เพราะคุณได้พิสูจน์ตัวเองแล้วว่าคำพูดของตัวเองมีความน่าเชื่อถือ แต่ถ้าคุณผิดคำสัญญา คุณก็เป็นได้แค่ปลาไหล คนโกหก และคนที่ไม่น่าเคารพนับถือ แล้วใครละที่จะอยากอยู่กับคนที่ไม่รักษาคำพูด


5. จ้างและส่งเสริมคนที่ผิด

    คนทำงานเก่งๆ ย่อมอยากทำงานร่วมกับคนที่เก่งและมีความเป็นมืออาชีพเช่นเดียวกับเขา ดังนั้น หากผู้บริหารไม่ได้ตั้งใจจ้างคนที่มีความสามารถจริงๆ เข้ามาทำงาน เลือกจากเส้นสาย แล้วก็ไปสนับสนุนตำแหน่งดีๆ ให้ พฤติกรรมนี้คือตัวบั่นทอนแรงจูงใจและเหมือนการดูถูกคนที่มีความสามารถ เจออะไรแบบนี้เข้าไปก็คงไม่น่าแปลกใจที่คนเก่งๆ จะลาออก


6. ไม่ปล่อยให้พนักงานทำตามสิ่งที่คิด (แม้ว่าสิ่งนั้นจะดีก็เถอะ) 

    พนักงานที่มีความสามารถเป็นบุคคลที่น่าหลงใหล การให้โอกาส เปิดกรอบแนวคิดให้เขาได้ทำงานตามที่คิดเพื่อเพิ่มท้าทายความสำเร็จใหม่ๆ เป็นสิ่งที่พวกเขาชื่นชอบ แต่เจ้านายบางคนกลับชอบสร้างกรอบขึ้นมาแล้วให้เขาทำงานภายในกรอบ และสั่งว่าอย่าล้ำเส้นออกมา เพราะบางคนกลัวว่าถ้าปล่อยพนักงานมากไปอาจทำให้เสียการควบคุม จะเหลิง แต่มันไม่ใช่เรื่องจริงทุกครั้งไป พนักงานที่ถูกจำกัดกรอบแนวคิดและการทำงานย่อมอึดอัด เหมือนคนอยู่ในถ้ำ อยู่ได้ไม่นานก็ต้องหาที่อยู่ใหม่


7. ล้มเหลวในการพัฒนาทักษะด้านต่างๆ ของพนักงาน
    
    เมื่อเจ้านายถูกตั้งคำถามว่าทำไมไม่สนใจพนักงาน ส่วนใหญ่เขาจะตอบว่า “ผมไว้ใจ” “ผมให้อิสระ” “ผมต้องการเพิ่มขีดความสามารถคุณ” ...เชื่อเถอะ มันเป็นคำแก้ตัวซะส่วนใหญ่ เพราะเจ้านายที่ดีจะมีวิธีบริหารจัดการพนักงานอย่างมีประสิทธิภาพ สนใจรับฟังและให้ข้อเสนอแนะเสมอ ยิ่งกับพนักงานที่มีความสามารถ เจ้านายจะมองหาโอกาสในการพัฒนาและปรับปรุงทักษะในด้านต่างๆ ถ้าคุณไม่หาและไม่ให้โอกาสที่เหมาะสมกับพนักงาน ซักวันเขาก็ต้องเบื่อและเลือกจากไป


8. ล้มเหลวในการท้าทายพนักงานด้วยไหวพริบ
    
    หัวหน้าที่มีความสามารถจะท้าทายลูกน้องด้วยเป้าหมายที่ยากจนเหมือนจะทำไม่ได้ จากนั้นก็จะช่วยเหลือทั้งคำแนะนำและแรงกายเพื่อให้พนักงานประสบความสำเร็จ แต่กับหัวหน้าที่ขาดไหวพริบ เขาจะมีเป้าหมายย่ำอยู่กับที่ ของเก่าเป็นอย่างไร ของใหม่ก็ต้องแบบนั้น ซึ่งพนักงานที่มีความสามารถจะพบว่าเป้าหมายนั้นง่ายเกินไปและขาดความท้าทาย และออกไปหางานที่เพิ่มความท้าทายให้กับตัวเอง


9. ไร้ภาวะความเป็นผู้นำ
    
    หัวหน้าที่นำลูกน้องไม่ได้ เอาความดีของลูกน้องไปอวดคนอื่นว่าเป็นผลงานของตัวเอง โยนความผิดให้พนักงาน ไม่รับผิดชอบทั้งคำพูดและการกระทำของตัวเอง หัวหน้าแบบนี้ไม่มีใครอยากทำงานร่วมด้วยอย่างแน่นอน  

    ถ้าคุณอยากให้พนักงานที่มีความสามารถอยู่กับตัวเองนานๆ ต้องพยายามคิดให้รอบคอบว่าจะดูแลเขาอย่างไร และถ้าดูแลอยู่ เราดูแลดีพอหรือยัง 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลเพื่อธุรกิจเอสเอ็มอี (SME
)
    

RECCOMMEND: MANAGEMENT

เขียนสัญญาเช่ายังไงให้รัดกุม ธุรกิจไม่เสียเปรียบ

สัญญาเช่า เรื่องใกล้ตัวผู้ประกอบการหลายคนอาจมองว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่รู้ไหมการมีสัญญาเช่าที่ดีและรัดกุม สามารถป้องกันปัญหาและความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นได้มากมาย

ทำงานให้ได้งาน 4 เทคนิคบริหารเวลา เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน

ทำไมบางคนงานท่วมหัว ทำงานยุ่งอยู่ตลอดเวลา แต่งานกลับไม่หมดซะที แถมยังส่งงานไม่ทันกำหนด เราเลยมีเทคนิค เช่น Eisenhower Matrix, Eat that frog, Pomodoro และ กฎ 80/20  ซึ่งจะช่วยให้บริหารเวลาได้อย่างมีประสิทธิภาพและชีวิตการทำงานไม่เครียดอีกต่อไป

ประชุมยังไงให้ได้งาน เทคนิคจาก 4 คนดังที่ประสบความสำเร็จ 

การประชุมที่มีประสิทธิภาพนำไปสู่ความสำเร็จ มักจะมีปัจจัยหลายอย่างเข้ามาเกี่ยวข้อง เราจึงมีเคล็ดลับการประชุมที่แตกต่างกันของคนดังที่ประสบความสำเร็จ  พร้อมแนะนำเทคนิคที่จะช่วยให้การประชุมมีประสิทธิภาพมาฝาก