เรื่อง เจษฎา ปุรินทวรกุล
ผู้นำองค์กรหลายๆ คนอาจเคยพบกับประสบการณ์เดียวกันนี้ คือ “วันนี้ฉันเป็นหัวหน้าแล้ว แต่กลัวพนักงานจะรู้ว่าฉันไม่ได้เก่งขนาดที่หลายๆ คนตั้งความหวังเอาไว้” ในสถานการณ์นี้เราต้องพยายามเปลี่ยนความคิดจาก
“เราเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการปฏิบัติ” ไปเป็น “ผู้นำที่มีวิสัยทัศน์”
แต่การปรับเปลี่ยนก็ไม่ใช่เรื่องง่ายซะทีเดียว เพราะขึ้นอยู่กับรูปแบบบริษัท ตำแหน่ง ปริมาณงาน ความรับผิดชอบและความสำคัญต่อองค์กร อย่างในช่วงแรกของการทำงาน ความสำเร็จอาจอยู่ที่งานในแต่ละชิ้น แต่เมื่อคุณเปลี่ยนบทบาทจากพนักงานคนหนึ่ง กลายมาเป็นระดับหัวหน้าหรือผู้นำองค์กร ความสำเร็จก็จะมาอยู่ที่การบริหารจัดการ การใส่ในใจเรื่องต่างๆ ที่แตกต่างจากมุมมองของพนักงานทั่วไป ส่วนจะต้องทำอย่างไรนั้น ลองมาดูเคล็ดลับเหล่านี้กัน
1. กำหนดสิ่งที่จะสร้างความสำเร็จให้กับทีม
สิ่งแรกที่ต้องทำในฐานะผู้นำองค์กร ก็คือ วิเคราะห์และมองภาพรวมให้ออกว่าสิ่งที่จะสร้างความสำเร็จให้กับทีม หรือดัชนีชี้วัดความสำเร็จในการทำงานคืออะไร จากนั้นสร้างการรับรู้ให้กับพนักงานเพื่อให้พวกเขาจดจำให้ได้ งานที่ทำจะได้ไม่คลาดเคลื่อนจากเป้าหมาย
2. สร้างความคาดหวังที่ชัดเจนสำหรับพนักงานทุกคนในทีม
จุดนี้คือส่วนที่สำคัญของการเป็นผู้นำองค์กรแต่มักถูกมองข้ามไป เพราะในความเป็นจริงแล้ว พนักงานมักต้องการรู้ว่าตัวเขาถูกคาดหวังไว้อย่างไร มีความสำคัญต่อองค์กรอย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งพนักงานที่เข้ามาใหม่ การบอกบทบาท หน้าที่ และสิ่งที่เราคาดหวังให้เขาปฏิบัติ เปรียบเสมือนการสร้างความภูมิใจในหน้าที่และการทำงานให้กับเขา ถ้าคุณไม่กำหนดเป้าหมายหรือบทบาทที่ชัดเจนให้พนักงาน เขาก็จะขาดเป้าหมาย หากเป็นพนักงานที่เก่งหรือมีฝีมือ ก็จะลาออกเพื่อไปอยู่กับองค์กรอื่นที่ดีกว่านี้
3. อย่าตื่นตระหนกกับความจริงที่ว่า คุณไม่ได้รู้ทุกสิ่งทุกอย่าง
พนักงานและลูกน้องมักมีความคิดผิดๆ ว่าหัวหน้าหรือผู้บริหารต้องรู้ทุกเรื่อง ซึ่งนั่นไม่ใช่เรื่องจริงเลย มองในความเป็นจริงสิ หัวหน้าต้องรู้ทุกเรื่องไหม ทั้งเรื่องฟุตบอล กฎแรงโน้มถ่วง ระบบสุริยะจักรวาล ศาสนา ศิลปินหน้าใหม่ ฯลฯ เอาจริงๆ ก็คือ คุณต้องรู้ระบบการทำงาน วิธีการแก้ปัญหา นำความเชี่ยวชาญมาช่วยให้พนักงานบรรลุเป้าหมายองค์กรให้ได้ นั่นคือสิ่งที่ควรคำนึงและทำให้ได้
4. สนับสนุนทีมและเพื่อนร่วมงานด้วยการช่วยแก้ไขปัญหา
ว่าด้วยเรื่องการทำธุรกิจ การทำธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพ ส่วนหนึ่งเกิดขึ้นจากทีมงานที่ดี มีความสามารถในการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า สิ่งที่หัวหน้าควรทำคือ ให้คำแนะนำ ให้แนวคิดในการแก้ไขปัญหา เพื่อให้พนักงานสามารถรับมือหรือเผชิญหน้าพร้อมกับแก้ไขปัญหาได้ด้วยความมั่นใจ
5. ถามคำถามที่กระตุ้นให้พนักงานคิด เข้าใจ และนำไปปฏิบัติได้
ไม่ใช่เรื่องยากที่จะบอกพนักงานว่าเขาต้องทำอะไร แต่ถ้าเราต้องคอยสั่งทุกครั้งก็คงไม่ดี บางครั้งหัวหน้าก็จำเป็นต้องดูพัฒนาการของลูกน้องด้วยการมอบหมายงานด้วยการสร้างคำถามปลายเปิด เช่น จะพัฒนาเทคโนโลยีให้เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมายอย่างไร เพื่อฝึกให้พนักงานคิด หาคำตอบ และลงมือปฏิบัติ (ถ้าติดขัดตรงไหนก็ให้เดินมาถามได้) หากเราไม่เปิดโอกาสให้พนักงานลงมือทำ ก็ต้องคอยสั่งงานไปเรื่อยๆ ทำแบบนี้นะ 1 2 3 ตามขั้นตอน พนักงานก็จะคิดไม่เป็น รอการป้อนคำสั่งเพียงอย่างเดียว
การจะเป็นผู้นำที่ดี มีประสิทธิภาพได้อาจไม่ใช่เรื่องง่าย แต่พยายามเรียนรู้ ค่อยๆ สร้างคุณค่าให้กับทีมและองค์กร ความเป็นผู้นำของคุณจะทอประกายในสายตาของทุกคนเมื่อคุณมีแนวคิด วิสัยทัศน์ และการแก้ปัญหาซึ่งสามารถช่วยเหลือทุกคนได้
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลเพื่อความสำเร็จของธุรกิจเอสเอ็มอี (SME)