ในยุคนี้ การจะเป็นผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จจนกลายมาเป็นผู้ประกอบการเงินล้านได้ นอกจากความมุ่งมั่นและความตั้งใจแล้ว สิ่งที่ขาดไม่ได้เลยก็คือทักษะความรู้และความชำนาญในด้านต่างๆ ที่จะช่วยเสริมความแข็งแกร่ง ให้เรากลายเป็นผู้ประกอบการที่มีเขี้ยวเล็บ พร้อมที่จะรับมือกับทุกๆ สถานการณ์ ซึ่ง 10 ทักษะที่ผู้ประกอบการเงินล้านในยุคนี้ขาดไม่ได้ มีดังนี้
1. การสื่อสาร
สำหรับการสื่อสาร บางคนอาจมองว่าต้องเป็นการพูดคุยกันเท่านั้น ในความเป็นจริงแล้ว พลังของการสื่อสาร ยังรวมถึงการส่งข้อความผ่านอีเมล์ โซเชียลมีเดีย โทรศัพท์ และพูดคุยแบบเห็นหน้ากันโดยตรง ยิ่งเรามีทักษะการสื่อสารที่ดี ชัดเจน สามารถโน้มน้าวความรู้สึกเชิงบวกกับผู้อื่นได้มากเท่าไร ก็ยิ่งส่งผลดีกับธุรกิจมากเท่านั้น ทั้งเรื่องการซื้อขาย ลงทุน หุ้นส่วน ตลอดจนมีคนอยากมาทำงานด้วย เรียกได้ว่าระดับความสามารถด้านทักษะการสื่อสาร เป็นตัวกำหนดความมั่งคั่งในอนาคตเลยก็ว่าได้
2. การขาย
ในบางสถานการณ์เราอาจต้องพึ่งพาตัวเองมากกว่าที่คิด การทำความเข้าใจวิธีขายเอาไว้ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะถ้าคุณเป็นหัวเรือใหญ่ แต่ขายไม่เป็น จ้างคนมา คุณก็สอนให้เซลส์คิดต่างหรือแนะนำเซลส์ไม่ได้ บอกได้เลยว่าถ้าคุณไม่ได้จ้างเซลส์มืออาชีพที่พร้อมจะทุ่มเทให้กับองค์กรจริงๆ คงเป็นเรื่องที่ลำบากแน่ๆ
3. การตลาดและการสร้างแบรนด์
ชื่อเสียงถือเป็นการโฆษณาและการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีขององค์กร เมื่อชื่อเสียงดี การทำการตลาดและการสร้างแบรนด์ย่อมง่ายตามไปด้วย ซึ่งชื่อเสียง การตลาด และแบรนด์ถือเป็นรากฐานที่สำคัญของธุรกิจเลยทีเดียว
4. ไหวพริบและความฉลาดทางอารมณ์ (EQ)
ทักษะด้านนี้เป็นสิ่งที่จำเป็น เพราะเราต้องรู้จักควบคุมอารมณ์ของตัวเอง สามารถระบุและประเมินอารมณ์ของคู่สนทนาหรือคนกลุ่มต่างๆ เพื่อวิเคราะห์สถานการณ์ได้ อาจประเมินจากท่าทาง น้ำเสียง ชั้นเชิงการพูด สีหน้าแววตา ซึ่งบางครั้งเราอาจพบเรื่องที่ถูกต้องแต่ไม่ถูกใจ หรือพบเรื่องถูกใจแต่ไม่ถูกต้อง ก็ต้องมีทักษะด้านนี้เพื่อควบคุมอารมณ์เพื่อตัดสินใจหรือแก้ปัญหา
5. ความคิดสร้างสรรค์
ผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จ มักมีความคิดสร้างสรรค์เกี่ยวกับสินค้าและผลิตภัณฑ์ของตัวเอง โดยนำเสนอความแปลกใหม่หรือมีนวัตกรรมให้กับสินค้าและบริการของตัวเอง การมีจุดเด่นที่เหนือกว่าคู่แข่งจะทำให้เราได้เปรียบคู่แข่งเป็นอย่างมาก
6. การวางแผนและตั้งเป้าหมาย
คนบางคนทำงานไปเรื่อยๆ โดยไม่มีการวางแผนว่าวันนี้จะทำอะไร พรุ่งนี้จะทำอะไร และเดือนนี้ควรมีความก้าวหน้าหรือผลงานอะไรบ้าง ต้องบอกเลยว่าเราจะประสบความสำเร็จได้อย่างไรหากขาดการวางแผนที่ดี เราต้องตั้งเป้าหมายการทำงานรายสัปดาห์ รายเดือน และรายปี เพื่อคอยปรับปรุงการทำงานอย่างสม่ำเสมอ
7. การบริหารจัดการเงิน
ถ้าเราหาเงินได้ แต่วางแผนบริหารจัดการด้านการเงินไม่เป็นระบบ ก็อาจจะเก็บเงินไม่อยู่ ซึ่งผู้ประกอบการที่ดีควรรู้ว่าตัวเองมีเงินอยู่ในมือเท่าไหร่ มีเงินในบัญชีอีกเท่าไหร่ บันทึกรายรับรายจ่ายทุกวัน รู้ค่าใช้จ่ายรายเดือน คำนวณภาษีที่ต้องจ่าย ซึ่งจะทำให้เขาวางแผนและบริหารจัดการเงินได้อย่างเป็นระบบ
8. เครือข่ายทางธุรกิจ
การสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อนร่วมธุรกิจ หรือผู้ประกอบการในด้านอื่นๆ นับเป็นเครื่องมืออันทรงพลังในโลกธุรกิจ ซึ่งคุณต้องทำตัวให้เป็นคนที่น่าเชื่อถือ น่าไว้วางใจ พกนามบัตรติดตัวไว้เสมอ เมื่อเจอผู้ประกอบการในงานต่างๆ ก็พยายามแลกนามบัตร ขอช่องทางการติดต่อเพื่อสร้างเครือข่าย ในอนาคตหากมีปัญหา คุณอาจคุยกันเพื่อหาทางแก้ปัญหา หรือมีโอกาสกระจายสินค้าเพิ่ม ก็อาจติดต่อผู้ประกอบการในเครือข่ายเพื่อเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่าย หรือใช้บริการขนส่งจากเพื่อนซึ่งอาจทำให้ต้นทุนการขนส่งลดลงได้
9. ความเป็นผู้นำ
การมีภาวะผู้นำที่ดี จะทำให้ลูกน้องเคารพนับถือและยินดีที่จะทำงานด้วย ผู้ประกอบการที่มีภาวะผู้นำจะรู้ว่าควรวางตัวอย่างไร ไม่โยนความผิดให้ลูกน้อง และเมื่อเกิดเรื่องแย่ๆ ขึ้น เขาจะเป็นคนแรกที่ออกมาแสดงความรับผิดชอบและหาวิธีแก้ปัญหา ทั้งหมดนี้จะช่วยสร้างแรงบันดาลใจและความรู้สึกในด้านบวกให้กับพนักงาน ส่งผลให้มีคนเก่งๆ ในองค์กร และมีอัตราการเข้าออกของพนักงานลดลง
10. การบริหารเวลา
เราทุกคนมีเวลาวันละ 24 ชั่วโมงเท่าๆ กัน การจัดลำดับความสำคัญกับสิ่งที่ต้องทำจึงเป็นเรื่องที่มีความสำคัญมากๆ เราคงไม่ตื่นขึ้นมาแล้วรีบวิ่งไปตัดหญ้าทั้งๆ ที่มีงานสำคัญค้างอยู่ ดังนั้น การวางแผนการทำงานต้องนำมาใช้ร่วมกับการบริหารเวลา เพื่อให้ในแต่ละวันเราสามารถบริหารธุรกิจได้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
จริงๆ แล้วยังมีอีกหลายทักษะที่จะช่วยพัฒนาผู้ประกอบการได้ เช่น ทักษะด้านการบริการ การพูดในที่สาธารณะ การเจรจาต่อรอง มารยาทขั้นพื้นฐาน การจัดการความเครียด ฯลฯ ยิ่งเรามีทักษะเหล่านี้มากเท่าไหร่ โอกาสประสบความสำเร็จบนโลกธุรกิจย่อมสูงตามไปด้วย
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลเพื่อความสำเร็จของธุรกิจ SME (เอสเอ็มอี)