การมีอาชีพเดียวอาจไม่เพียงพอที่จะสร้างความมั่นคงของโลกยุคโควิด เพื่อเลี่ยงความเสี่ยงหลายคนจึงมองหาอาชีพเสริมควบคู่ไปด้วย “ธุรกิจแฟรนไชส์” นับเป็นทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ ที่เป็นไปได้ทั้งกับกลุ่มพนักงานประจำ หรือแม้กระทั่งกลุ่มผู้เกษียณที่ยังมีไฟในการทำงาน
พิกุล ศรีมหันต์ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอี ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า “ธุรกิจแฟรนไชส์” เป็นทางเลือกที่น่าสนใจ ด้วยศักยภาพของแฟรนไชส์ในประเทศไทยที่สามารถเติบโตสวนกระแสเศรษฐกิจ อีกทั้งความหลากหลายของประเภทธุรกิจ และขนาดของการลงทุนแฟรนไชส์ที่มีตั้งแต่หลักหมื่นไปจนถึงหลายสิบล้านบาท จึงรองรับความต้องการลงทุนที่แตกต่างกันของผู้ประกอบการแต่ละรายได้เป็นอย่างดี
นอกจากนี้ ยังมีข้อได้เปรียบที่ดึงดูดใจคนอยากมีธุรกิจของตัวเอง อาทิ แฟรนไชส์เป็นธุรกิจที่สามารถเริ่มต้นได้โดยใช้เวลาไม่นาน แม้ไม่มีประสบการณ์ ไม่ต้องเสียเวลาในการบุกเบิกหรือลองผิดลองถูก เพราะเจ้าของสิทธิ์แฟรนไชส์ (Franchisor) ได้อาศัยประสบการณ์ของตนในการทำธุรกิจที่จะขายแฟรนไชส์มาเป็นตัวอย่าง เพื่อเป็นไกด์ไลน์ในการดำเนินธุรกิจ รวมถึงการวางระบบต่างๆ ให้ตั้งแต่ต้นจนจบ เพื่อถ่ายทอดให้แก่ผู้รับสิทธิ์แฟรนไชส์ (Franchisee)
ที่เพียงนำมาปฏิบัติตามโมเดลที่สร้างไว้ รวมถึงข้อได้เปรียบด้านชื่อเสียงและภาพลักษณ์ของแบรนด์มักเป็นที่ยอมรับและติดตลาดอยู่แล้ว ขณะที่การทำโฆษณาประชาสัมพันธ์และคิดกลยุทธ์การตลาดก็เป็นเรื่องที่ Franchisor ดูแลให้อย่างเป็นแบบแผน
แม้มองเห็นโอกาสสำเร็จจากการสร้างรายได้และการคืนทุนเร็วของธุรกิจแฟรนไชส์ แต่ต้องจำไว้เสมอว่าทุกการลงทุนมีความเสี่ยง ดังนั้นก่อนที่จะกระโจนเข้าสู่ธุรกิจแฟรนไชส์ เราต้องสำรวจตัวเองและทำความเข้าใจธุรกิจให้ถี่ถ้วนก่อนเดินหน้าลงทุน
นี่คือคำแนะนำ “5 พื้นฐานต้องรู้ ก่อนลงทุนแฟรนไชส์เพื่อสร้างกำไร
1. สำรวจความต้องการและเงื่อนไขของตัวเอง
ทำธุรกิจในสิ่งที่ชอบและถนัดจะช่วยให้เข้าใจระบบของธุรกิจได้ง่ายขึ้นและอยู่กับธุรกิจนั้นได้นานขณะเดียวกันจำเป็นต้องรู้เงื่อนไขของตัวเองเพื่อหารูปแบบแฟรนไชส์ที่เหมาะสม เช่น หากเราไม่มีเวลาบริหารจัดการธุรกิจตลอดทั้งวันก็ต้องเลือกแฟรนไชส์ที่ไม่ซับซ้อนและสำเร็จรูป เช่น ธุรกิจสะดวกซัก หรือ เครื่องจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ เป็นต้น
หากต้องการทำธุรกิจที่มีอิสระในการบริการจัดการด้วยตัวเอง ต้องมองหาแฟรนไชส์ในลักษณะ Products Franchise ที่ให้เฉพาะสิทธิ์ในเรื่องวัตถุดิบ การขายสินค้า และเครื่องหมายการค้า ซึ่งแตกต่างจาก Business Format Franchise ที่ให้สิทธิ์พร้อมระบบและวิธีการดำเนินธุรกิจตามมาตรฐานที่กำหนดไว้เป็นแนวทางให้ปฏิบัติได้ง่าย
2. ศึกษารายละเอียดต้นทุน ค่าธรรมเนียม และระยะเวลาคืนทุน
แฟรนไชส์แต่ละแบรนด์มีจำนวนค่าใช้จ่ายในการลงทุนที่แตกต่างกัน โดยทั่วไปประกอบด้วย ค่าธรรมเนียมแฟรนไชส์ (Franchise Fee) ซึ่งเป็นเหมือนค่าธรรมเนียมแรกเข้าเพื่อให้ได้สิทธิ์ และค่าธรรมเนียมสนับสนุนต่อเนื่อง (Royalty Fee) ที่ Franchisor จะเรียกเก็บโดยกำหนดเป็นเปอร์เซ็นต์ของยอดขายในสัดส่วนที่แตกต่างกัน ผู้สนใจลงทุนจะต้องวิเคราะห์ดูว่าค่าธรรมเนียมต่างๆ ที่เรียกเก็บนั้นสมเหตุสมผลหรือไม่ มีสิ่งใดตอบแทนกลับมาจากค่าธรรมเนียมที่จะต้องจ่ายตลอดการดำเนินธุรกิจ รวมถึงค่าใช้จ่ายในการลงทุนก่อสร้าง การตกแต่งสถานที่ และค่าอุปกรณ์ต่างๆ เพื่อที่จะทำให้ร้านแฟรนไชส์นั้นสามารถดำเนินกิจการได้
นอกจากนี้ควรพิจารณาในเรื่องของระยะเวลาคืนทุน ซึ่งควรมีระยะเวลาคืนทุนสอดคล้องกับสัญญาแฟรนไชส์เพื่อเป็นหลักประกันได้ว่า การลงทุนแฟรนไชส์นั้น ผู้ลงทุนจะมีกำไรที่มากขึ้นภายหลังจากระยะเวลาคืนทุน ซึ่งเป็นระยะเวลาเก็บเกี่ยวรายได้ของธุรกิจแฟรนไชส์
3. วิเคราะห์ศักยภาพของแฟรนไชส์ที่จะลงทุน
ก่อนตัดสินใจลงทุนซื้อแฟรนไชส์แบรนด์ใด จะต้องวิเคราะห์ตำแหน่งทางการตลาดของแบรนด์ให้ชัด คุณค่าของสินค้าและบริการต้องแตกต่างจากคู่แข่งในธุรกิจประเภทเดียวกัน และต้องมั่นใจว่า Franchisor มีเป้าหมายธุรกิจในอนาคตและมีวิธีการทำให้เป้าหมายเกิดขึ้นจริงอย่างชัดเจน และมีข้อมูลความสำเร็จที่น่าเชื่อถือของ Franchisee ปัจจุบันให้เห็นอย่างตรงไปตรงมา อย่างไรก็ตามผู้ลงทุนเองจำเป็นต้องลงศึกษาพื้นที่จริงในหลายๆ สาขา เพื่อทำความเข้าใจสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ คู่แข่ง และกลุ่มเป้าหมายได้อย่างถูกต้องก่อนตัดสินใจเดินหน้าลงทุน
4. ศึกษาการสนับสนุนและช่วยเหลือจากเจ้าของสิทธิ์
เพราะ Franchisor คือพี่เลี้ยงในการทำธุรกิจ จึงต้องพร้อมเคียงข้างช่วยสนับสนุนให้กิจการของเราไปได้ตลอดอายุสัญญา ก่อนลงทุนจึงต้องมั่นใจว่า Franchisor จะมีการถ่ายทอดโมเดลธุรกิจให้กับ Franchisee ผ่านการอบรมหรือเทรนนิ่งอย่างทั่วถึงด้วยมาตรฐานเดียวกัน และไม่หยุดนิ่งที่จะสร้างสรรค์กลยุทธ์การตลาดใหม่ๆ เพื่อช่วยเพิ่มยอดขายให้กับ Franchisee เมื่อธุรกิจเกิดปัญหาจะต้องมีระบบที่ดีสามารถส่งทีมเข้ามาแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้อย่างรวดเร็วเพื่อไม่ให้ธุรกิจหยุดชะงัก และในกรณีประสบวิกฤตเจ้าของแฟรนไชส์มีนโยบายเข้ามาช่วยดูแลหรือไม่อย่างไร ในวิกฤต โควิด-19 ครั้งนี้เราได้เห็นเจ้าของแฟรนไชส์หลายแบรนด์ที่ไม่ทอดทิ้งให้ Franchisee ต่อสู้เพียงลำพัง นับเป็นองค์ประกอบที่ไม่ควรมองข้ามเช่นกัน
5. เงินทุนในการดำเนินธุรกิจ
หากเรามีเงินทุนของตัวเองเพียงพอกับค่าใช้จ่ายทั้งหมดในการเริ่มต้นธุรกิจและมีสภาพคล่องเพียงพอที่จะใช้หมุนเวียนธุรกิจก็ไม่จำเป็นต้องหาแหล่งทุนอื่น สามารถเดินหน้าธุรกิจได้ทันที แต่หากมีเงินทุนไม่เพียงพอ หรือต้องการเก็บเงินทุนของตนเองเพื่อไปเสริมสภาพคล่องในเรื่องอื่น ๆ ก็ไม่ต้องกังวล เพราะสามารถแจ้งความต้องการไปยัง Franchisor เพื่อช่วยประสานกับธนาคารพันธมิตรในการสนับสนุนสินเชื่อ ขอเพียงมีการรับรองจาก Franchisor ก็จะสามารถเข้าถึงสินเชื่อที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ แฟรนไชส์ได้แล้ว
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี