Main Idea
- ธุรกิจแฟรนไชส์ เป็นอีกหนึ่งโมเดลการทำธุรกิจ ที่เติบโตอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา โดยได้รับความนิยมจากกลุ่มผู้ประกอบการรายใหม่ที่สนใจเข้าสู่วงจรธุรกิจแฟรนไชส์เป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็น ร้านอาหาร ร้านกาแฟ เป็นต้น
- ทว่ามีแฟรนไชส์บางราย ที่ดำเนินการในรูปแบบที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งกระทบต่อผู้ลงทุนรายย่อย นั่นเองที่ทำให้คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า(กขค.) ออกประกาศแนวทางพิจารณาการปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรมในธุรกิจแฟรนไชส์ขึ้น ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2563 เพื่อให้การประกอบธุรกิจแฟรนไชส์แข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรมขึ้น
ธุรกิจแฟรนไชส์ เป็นอีกหนึ่งโมเดลการทำธุรกิจ ที่เติบโตอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา สำหรับคนที่อยากลงทุนทำกิจการแต่อยากใช้ทางลัด โดยเอาประสบการณ์และความสำเร็จที่ถูกพิสูจน์มาแล้วของคนอื่น ไม่ว่าจะเป็นระบบการผลิต ระบบการขาย และระบบการบริหารการตลาด ในรูปแบบและมาตรฐานเดียวกัน มาต่อยอดความสำเร็จให้กับตัวเอง
อย่างไรก็ตามที่ผ่านมามีแฟรนไชส์บางราย ที่ดำเนินการในรูปแบบที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งกระทบต่อผู้ลงทุนรายย่อย นั่นเองที่ทำให้คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า(กขค.) ออกประกาศคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า เรื่องแนวทางพิจารณาการปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรมในธุรกิจแฟรนไชส์ขึ้น ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2563 เพื่อให้การประกอบธุรกิจแฟรนไชส์แข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรม
“สมศักดิ์ เกียรติชัยลักษณ์” เลขาธิการคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า(กขค.) เปิดเผยว่า แฟรนไชส์เป็นธุรกิจที่กำลังได้รับความนิยม โดยปัจจุบันมีผู้ประกอบการรายใหม่จำนวนมาก ที่สนใจเข้าสู่วงจรธุรกิจแฟรนไชส์ เช่น ร้านอาหาร ร้านกาแฟ เป็นต้น
นั่นเองที่ทำให้ กขค. ได้จัดทำแนวปฏิบัติเพื่อสร้างมาตรฐานทางการค้าระหว่างผู้ให้สิทธิในการประกอบธุรกิจ แฟรนไชส์ หรือที่เรียกว่า “แฟรนไชส์ซอร์” (Franchisor) และผู้รับสิทธิในการประกอบธุรกิจแฟรนไชส์ ซึ่งเรียกว่า “แฟรนไชส์ซี” (Franchisee) โดยให้ออกประกาศคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า เรื่องแนวทางพิจารณาการปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรมในธุรกิจแฟรนไชส์ ซึ่งมีแนวทางพิจารณาดังต่อไปนี้
1.การกำหนดเงื่อนไขที่จำกัดสิทธิแฟรนไชส์ซี โดยไม่มีเหตุผลอันสมควร เช่น ให้แฟรนไชส์ซีต้องซื้อสินค้าที่ไม่มีความเกี่ยวข้องกับสินค้าแฟรนไชส์ หรือต้องซื้อวัตถุดิบในปริมาณที่สูงกว่าความต้องการใช้จริง
2.การกำหนดเงื่อนไขเพิ่มเติมหลังทำสัญญา โดยไม่มีเหตุผลอันสมควร เช่น ให้แฟรนไชส์ซีซื้อสินค้านอกเหนือจากที่กำหนดไว้
3.การให้แฟรนไชส์ซีซื้อสินค้าหรือบริการจากผู้ผลิต ผู้จำหน่าย หรือผู้ให้บริการอื่น โดยไม่มีเหตุผลอันสมควร
4.การห้ามแฟรนไชส์ซีขายลดราคาสินค้าที่เน่าเสียง่าย โดยไม่มีเหตุผลอันสมควร
5.การกำหนดเงื่อนไขที่แตกต่างระหว่างแฟรนไชส์ซี โดยไม่มีเหตุผลอันสมควร และนำไปสู่การเลือกปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม
6. การกำหนดเงื่อนไขที่ไม่เหมาะสมอื่นๆ นอกเหนือจากการรักษาคุณภาพและมาตรฐานตามสัญญา
สำหรับบทลงโทษ ผู้ประกอบธุรกิจแฟรนไชส์รายใดกระทำการฝ่าฝืนแนวปฏิบัติทางการค้าที่กำหนดฯ มีโทษปรับสูงสุดถึง 10 เปอร์เซ็นต์ ของรายได้ในปีที่กระทำความผิด
ทั้งนี้คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าได้จัดตั้งศูนย์รับเรื่องร้องเรียนธุรกิจแฟรนไชส์ขึ้น หากผู้ประกอบธุรกิจรายใดถูกเอารัดเอาเปรียบได้รับความไม่เป็นธรรม สามารถร้องเรียนได้ที่ สำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า อาคารจอดรถ 5 ชั้น (BC) ชั้น 5 ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมโทร. 0-2199-5444 หรือค้นหาข้อมูลได้ทางเว็บไซต์ www.otcc.or.th ได้อีกด้วย
ทุกการทำธุรกิจมีความเสี่ยง SME ที่อยากลงทุนจึงต้องศึกษาให้ดี ถ้ารู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม ก็สามารถเรียกร้องไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ เพื่อปกป้องสิทธิของตนเอง และขับเคลื่อนธุรกิจให้เติบโตต่อไปได้
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี