เรื่อง : พิชชานันท์ สุโกมล
Mr.Spiral Donut ฉีกรูปแบบโดนัทจากวงกลมมีรูแบบเดิมๆ ด้วยรูปทรงเกลียว (เหมือนกับชื่อ Spiral) และใช้การปิ้งแทนการทอดในน้ำมัน ทำให้ผู้บริโภคมีทางเลือกในการรับประทานมากขึ้น เป็นเบเกอรี่น้องใหม่ป้ายแดงของ "สุมาลี แซ่เลี้ยว" ที่ได้นำเอาสูตรขนมดั้งเดิมของชาวฟินแลนด์มาทำตลาดในประเทศไทย เป็นขนมที่มีชื่อเสียงและเป็นที่รู้จักกันทั่วยุโรปมาให้คนไทยได้ลิ้มลอง พร้อมกับรูปแบบธุรกิจที่มีให้เลือกตามกำลังของเงินทุนถึง 5 รูปแบบ
"ร้านมิสเตอร์สไปรอล โดนัท เปิดให้บริการในปี 2554 ในประเทศฟินแลนด์ เนื่องจากสามีเป็นชาวฟินแลนด์ ทำให้เราได้ทำธุรกิจตัวนี้ เราเปิดเป็นร้านเบเกอรี่ในเมืองเฮลซิงกิ ซึ่งก็ได้การตอบรับจากชาวฟินแลนด์เป็นอย่างดี เดือนหนึ่งเราสามารถขายได้ประมาณ 9,000-10,000 ชิ้น และมีผู้ที่สนใจมาขอซื้อแฟรนไชส์กับเราถึง 3 สาขา ทั้งที่เราเพิ่งเปิดร้านได้ไม่นาน
นี่เองจึงทำให้เรามีแรงบันดาลในการที่จะต่อยอดมาในเมืองไทย เพราะเราเห็นโอกาสและศักยภาพทางการตลาดของเบเกอรี่ในไทย โดยวัตถุดิบและอุปกรณ์ทั้งหมดเราจะสั่งซื้อมาจากฟินแลนด์ เพื่อให้ได้กระบวนการผลิตขนมอร่อยตามต้นตำรับแท้ๆ และได้เปิดโอกาสให้คนไทยสามารถเป็นเจ้าของได้ ด้วยเงินลงทุนที่ไม่สูง เพื่อสร้างรายได้ให้กับผู้ลงทุนและตอบสนองต่อไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคเบเกอรี่ที่ชอบความแปลก ความสดใหม่ และหลากหลายรสชาติได้มากขึ้นในตลาด” สุมาลี เล่าถึงที่มาและแรงบันดาลในการขยายแฟรนไชส์มายังประเทศไทย
สำหรับการเปิดตัวในประเทศไทยของ Mr.Spiral Donut เป็นร้านต้นแบบเบเกอรี่และกาแฟสดอยู่ในซอยรามคำแหง 164 เพิ่งเปิดให้บริการในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา และล่าสุดก็คืองานแฟรนไชส์และเบเกอรี่ที่จัดขึ้นที่เมืองทองธานีในเดือนมีนาคม เรียกได้ว่าเพิ่งผ่านมาสดๆ ร้อนๆ แต่บรรยากาศก็เต็มไปด้วยผู้ที่ให้ความสนใจอย่างคับคั่ง ล่าสุดมีผู้สนใจแฟรนไชส์และอยู่ระหว่างดำเนินการจองพื้นที่เพื่อเปิดสาขาใน สยามพารากอน และห้างสรรพสินค้า เมกะ บางนา
จุดเด่นของ Mr.Spiral Donut อยู่ที่รูปลักษณ์ที่แปลกใหม่ในรูปทรงเกลียว และกรรมวิธีในการผลิต ที่ใช้การปิ้งขนมแทนการทอดในน้ำมัน ทำให้ขนมมีรสชาติที่กรอบนอกนุ่มใน สามารถวางทิ้งไว้นานโดยที่ยังคงความเหนียวนุ่มเหมือนเดิม ปัจจุบันมีอยู่ 5 รสชาติ ได้แก่ ซินนาม่อน วอลนัท วานิลลา ช็อคโกแลต และมะพร้าว โดยสามารถเก็บไว้ได้ในอุณหภูมิปกติ 3 วัน และแช่ตู้เย็นได้ 7 วัน
รูปแบบการลงทุนสำหรับผู้สนใจแฟรนไชส์ มีอยู่ 5 รูปแบบด้วยกัน แบ่งตามขนาดและงบประมาณในการเริ่มต้น
รูปแบบที่ 1 Bakery & Coffee Shop ตกแต่งสไตส์ ร้านมิสเตอร์ สไปรอล โดนัท พร้อมอุปกรณ์ ขนาดพื้นที่ 20 - 40 ตรม. ในราคา 890,000
รูปแบบที่ 2 Shop in Shopping Mall เป็นลักษณะร้านเบเกอรี่ในห้าง ขนาดพื้นที่ 9-19 ตรม. ในราคาเริ่มต้น 490,000 บาท
รูปแบบที่ 3 Kiosks รูปแบบทันสมัย สะดวก สามารถนำไปวางขายสินค้าได้ทันที โดยไม่ต้องก่อสร้างราคา 342,900 บาท พร้อมอุปกรณ์
รูปแบบที่ 4 Tuk-Tuk Moped เป็นลักษณะรถเคลื่อนที่ สะดวก คล่องตัว ราคา 190,000 บาท (รับขนมไปขายได้ทันที)
รูปแบบที่ 5 Market Booth เป็นรูปแบบที่ประหยัด สะดวก ในราคา 28,000 บาท (รับขนมไปขายได้ทันที)
“เราเน้นความหลากหลายในการลงทุนเพื่อให้ผู้ที่ต้องการมีธุรกิจเป็นของตัวเองได้เลือกตามกำลังที่เขาจะสามารถทำได้ โดยผู้ที่สนใจแฟรนไชส์ของเราจะต้องหาพื้นที่เอง ซึ่งเราแนะนำให้เป็นพื้นที่เช่าหรือเป็นเจ้าของพื้นที่เองก็ได้ เราจะมีการอบรมเพื่อให้แฟรนไชส์เป็นผู้บริหารร้านได้ อบรมการทำขนม สิ่งสำคัญแฟรนไชส์ซีต้องสามารถปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และมาตรฐานของบริษัทกำหนดได้ และควรมีเงินทุนหมุนเวียนที่เพียงพอในการบริหารจัดการร้าน เพื่อความคล่องตัวในการทำธุรกิจระดับหนึ่ง”
ระยะเวลาการคืนทุน
ตัวอย่างการเลือกลงทุนแบบ Market booth ลงทุน 28,000.บาท เลือกสิทธิ์พื้นที่ขายตามตลาดทั่วไป พร้อมได้รับอุปกรณ์และสามารถดำเนินการขายได้ทันที คืนทุนภายใน 1 เดือนเท่านั้น
เช่น ขนมขายปลีกหน้าร้านชิ้นละ 30 บาท ต้นทุนซื้อขนมพร้อมขายทันที ชิ้นละ18 บาท สมมติขายขั้นต่ำได้ 200 ชิ้นต่อวัน สรุป 1 เดือน ขายได้ 6,000x30 = 180,000 บาท
หักต้นทุนซื้อขนม 200 ชิ้นต่อวัน ทั้งเดือน ในราคาต้นทุน 3,600x30 =108,000 บาท
ค่าเช่า 8,000 บาท ต่อเดือน
ค่าพนักงานขาย 9,000 บาทต่อเดือน
ค่าเบ็ดเตล็ดและอุปกรณ์อื่นๆ 5,000 บาท ต่อเดือน
สรุป คงเหลือกำไรหลังหักค่าใช้จ่าย = 59,000 บาทต่อเดือน