St.Marc Café เอาใจคนรักขนมหวานสไตล์ญี่ปุ่น




เรื่อง : ยุวดี ศรีภุมมา
ภาพ : กฤษฎา ศิลปไชย

    
    ธุรกิจแฟรนไชส์ในวันนี้ มีผู้ประกอบการไทยให้ความสนใจในการนำเข้าแบรนด์แฟรนไชส์จากต่างประเทศมาทำตลาดในไทย อาจจะเป็นด้วยความหลากหลายและความแปลกใหม่ของแฟรนไชส์ต่างประเทศ ที่เป็นจุดดึงดูดให้ผู้ประกอบการไทยเลือกที่จะนำเอาแบรนด์เหล่านี้มาเสิร์ฟความต้องการผู้บริโภคคนไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มของธุรกิจอาหาร ขนมหวาน และเครื่องดื่ม

 

    หนึ่งในนั้นคือร้าน St.Marc Café ร้านเบเกอรีและคาเฟ่ชื่อดังที่มียอดขายเป็นอันดับ 5 ของประเทศญี่ปุ่น โดย St.Marc Café เป็นหนึ่งในแปดแบรนด์ของกลุ่มเซ้นต์มาร์คโฮลดิ้ง ประเทศญี่ปุ่น ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2530 ปัจจุบัน 

 

    St.Marc Café มีสาขาที่เปิดให้บริการมากกว่า 380 สาขาในญี่ปุ่น ความน่าสนใจของ St.Marc Café นั่นคือได้รับการยอมรับว่าเป็นร้านช็อกโกแลตครัวซองต์ที่ดีที่สุดในญี่ปุ่น และสิ่งนี้เองที่เป็นหนึ่งในเหตุผลหลักที่ทำให้บริษัท ไมล์สโตน ฟู้ดแอนด์ เบฟเวอเรจ (ประเทศไทย) จำกัด เลือกแบรนด์ St.Marc Café เข้ามาเปิดตลาดในประเทศไทย 

 

    ชัยทัต กมลวิศิษฎ์ ผู้อำนวยการ บริษัท ไมล์สโตน ฟู้ด แอนด์ เบฟเวอเรจ (ประเทศไทย) จำกัด ได้กล่าวว่า ทางบริษัทมีความสนใจธุรกิจทางด้านอาหารและเครื่องดื่มอยู่แล้ว และด้วยความที่ตนเองชื่นชอบการรับประทานช็อกโกแลตครัวซองต์ จนกระทั่งได้มาเจอกับช็อกโกแลตครัวซองต์ของ St.Marc Café ขณะไปเที่ยวประเทศญี่ปุ่น จึงเกิดแนวคิดที่จะนำมาขยายตลาดในประเทศไทย
 


    “เริ่มจากความชอบส่วนตัว ผมเป็นคนชอบกินช็อกโกแลตครัวซองต์มาก แค่ที่ประเทศไทยยังไม่มีเจ้าที่ถูกปาก ตอนนั้นผมไปที่ญี่ปุ่น เพื่อนที่ญี่ปุ่นแนะนำให้ลองชิมของแบรนด์นี้ พอได้ลองกัดกินคำแรกก็ชอบเลย”


    นอกจากความชื่นชอบส่วนตัวแล้ว ปัจจัยที่ทำให้ชัยทัตตัดสินใจเลือก St.Marc Café คือการเติบโตของธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มในประเทศไทย เพราะพฤติกรรมของคนไทยที่นิยมรับประทานอาหารนอกบ้าน มีไลฟ์สไตล์แชะแอนด์แชร์ รวมถึงความเชื่อมั่นในความแข็งแกร่งของแบรนด์ St.Marc Café ที่มีทั้งรสชาติและคุณภาพที่ดี สไตล์ญี่ปุ่นแท้ๆ เป็นที่ยอมรับทั้งจากชาวญี่ปุ่นและนักท่องเที่ยวที่เดินทางไปยังประเทศญี่ปุ่น 
 


    ขณะเดียวกัน ฐิตินารถ กมลวิศิษฎ์ ผู้จัดการฝ่ายการตลาด บริษัท ไมล์สโตน ฟู้ด แอนด์ เบฟเวอเรจ (ประเทศไทย) ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า ก่อนเราจะนำเข้ามาค่อนข้างกังวลว่าคนไทยจะรู้จักไหม เลยมีการ Research ดู Website ดู Comment เห็นว่าใน Pantip มีคนเซิร์ชหาร้านนี้ตั้งแต่ปี 2551 และมี Review ที่ดีมาเรื่อยๆ 

 

    และยังมีคนตั้งกระทู้ถามว่าไปญี่ปุ่นจะกินร้านไหนดี เขาก็บอกกันปากต่อปากว่าให้มาร้านนี้ รวมถึงใน Guidebook เองก็มีการแนะนำร้าน St.Marc Café เป็นหนึ่งในร้านที่ต้องไปกิน เราจึงมั่นใจมากว่า St.Marc Café จะต้องถูกใจคนไทย เพราะสินค้าเขาดี มีคุณภาพจริงๆ เมนูที่เป็นเอกลักษณ์คือ Choco Cro หรือช็อกโกแลตครัวซองต์ แต่ในร้านก็ไม่ได้มีเพียงแค่ครัวซองต์เท่านั้น ยังมีความหลากหลาย มีส่วนของเบเกอรีที่เป็น Fleshy Bake คืออบสดในร้านทุก 2 ชั่วโมง มีในส่วนที่เป็นของหวาน ไอศกรีมรวมถึงเครื่องดื่มอีกด้วย
 

    ด้วยความมั่นใจในตัวแบรนด์ ทำให้ชัยทัตเริ่มเข้าไปตกลง เจรจาในการนำ St.Marc Café เข้าสู่ประเทศไทยในรูปแบบของ Master Franchise แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะมีผู้เข้าร่วมเป็น Candidate 3-4 รายในเวลานั้น


    “เราคุยกับเขานานมากประมาณ 1 ปีครึ่ง เราคิดว่าที่เขาเลือกเราเพราะเขาเห็นความอดทนของเราและ Passionate ที่เรามีต่อแบรนด์เขามากๆ เขาจะมีการถามคำถามเล็กๆ น้อยๆ เสมอ เช่น กินแล้วรู้สึกอย่างไร รวมถึงเขายังมอง Background ของธุรกิจทางบ้านด้วยว่าเป็นอย่างไร คือเราทำธุรกิจทางด้านเสื้อผ้า ไม่ได้อยู่ในวงการอาหารมาก่อน เลยใช้เวลาในการเจรจาค่อนข้างนาน บินมาคุยกัน 3-4 รอบก่อนที่จะเซ็นสัญญาในตอนแรก จนเขาไว้ใจและเชื่อมั่นในตัวเรา ในที่สุดเราก็ได้เซ็นสัญญาเป็นเวลา 8 ปี"
 

    "ส่วน เงื่อนไขของเขาจะไม่ได้อะไรมาก เพียงแค่มองภาพรวมว่า 8 ปีนี้ ควรจะมีสาขาอยู่ที่เท่าไหร่ อย่างอื่นเป็นความสามารถของเรา ที่เขาทำแบบนี้เพราะเขาให้เกียรติกับการดูแลตลาดของเรา เราจะเข้าใจในตลาดของเรามากกว่า ซึ่งเราตั้งเป้าไว้ว่า 1 ปีจะเปิดสาขาใหม่เฉลี่ยประมาณ 5 สาขา เราไม่อยากให้ขยายไปเร็วมาก อยากให้ชัวร์เพื่อที่จะควบคุมในเรื่องของคุณภาพ เงินลงทุนในสาขาแรกอยู่ประมาณ 10 ล้านกว่าบาท โดยค่า Franchise Fee รวมอยู่ในเงินลงทุนประมาณ 20-25 เปอร์เซ็นต์”
 

    สำหรับแนวทางการสนับสนุนของแฟรนไชซอร์จากทางประเทศญี่ปุ่นนั้น จะมีการจัดเทรนนิ่งสำหรับผู้ที่จะก้าวเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจ St.Marc Café รวมไปถึงการให้คำปรึกษาในช่วงที่เริ่มต้น


    “ช่วงแรกเขาจะบินมาที่เมืองไทยบ่อยมาก มาให้คำแนะนำ ช่วยดูเรื่องของ Detail เล็กๆ น้อยๆ สิ่งที่เราอาจจะมองไม่เห็น และช่วยดูในเรื่องของ Operation ด้วย นอกจากนี้ เขามีการตั้งเกณฑ์ทั้งในเรื่องของรสชาติ การให้บริการ ซึ่งเราก็ผ่านหมด บางทีเขาก็แอบมานั่งรับประทาน แต่ไม่บอกก่อนเหมือน Michelin Star"
 

    " โดยก่อนหน้าที่เราจะเปิด เรายังต้องไปเทรนนิ่งประมาณ 1 เดือน เทรนนิ่งเหมือนเป็นพนักงานเลย คือทำทุกอย่าง สาขาที่เปิดเราเลือก Central World เป็น Open Store ข้อดีคือความเป็น Eye Flashing ผมเคยบอกว่าอยากทำเป็น Shop มีกำแพง เป็นร้านเลย แต่ทางญี่ปุ่นบอกว่าแบบนั้นจะเข้าถึงยาก ถ้าเป็นแบบ Open ลูกค้าจะสามารถเข้าไปเดินดูเลือกสินค้าได้เลย แต่สาขาอื่นก็จะมีทั้งเป็น Open Store มีเป็น Shop หรืออาจจะเป็น Stand Alone ขึ้นอยู่กับผลตอบรับของลูกค้า เราจะต้องมีเหตุผลให้ทางญี่ปุ่นในการเปิดแต่ละสาขาว่าเป็นรูปแบบไหน เขาจะต้องใช้เวลาในการตัดสินใจ ซึ่งตอนที่ทำสาขาแรก เราก็พาเขามาดูที่นี่ กว่าที่จะ Approve ก็ใช้เวลานานเหมือนกัน สาขาแรกจะเป็นสาขาที่เราร่วมกันตัดสินใจ แต่สาขาต่อไปเราตัดสินใจและส่งไปให้เขา Approve”
 


    นอกจากประเทศไทยแล้ว St.Marc Café ก็ได้มีการขยายสาขาไปในต่างประเทศในรูปแบบของแฟรนไชส์เช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นประเทศฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ส่วนในประเทศสิงคโปร์จะเป็นลักษณะเข้าไปลงทุนเอง ทั้งนี้ทั้งนั้น จะมีหนึ่งสิ่งที่ทุกๆ ร้านจะต้องมีเหมือนกัน นั่นคือการให้บริการสไตล์ญี่ปุ่น หรือ Japanese Service Mind หัวใจของการให้บริการที่พนักงานทุกคนพึงมี ด้วยการให้บริการด้วยความใส่ใจ ความตั้งใจ ความอดทน เข้าใจความต้องการของลูกค้า ซึ่งนับว่าเป็นอีกหนึ่งจุดเด่นที่น่าชื่นชมของชาวญี่ปุ่นที่เขาจะทำทุกอย่างด้วยหัวใจ ซึ่งจะต้องถูกถ่ายทอดมาสู่แฟรนไชส์ในประเทศไทยด้วยเช่นกัน 
 

    แม้ว่าในปัจจุบันจะมีร้านขนมและเครื่องดื่มเกิดขึ้นใหม่เป็นจำนวนมาก แต่ด้วยไลฟ์สไตล์ของคนไทยโดยเฉพาะวัยรุ่นในปัจจุบันที่ชอบความแปลกใหม่ ทำให้ยังมีพื้นที่ว่างมากพอ ซึ่งชัยทัตก็มั่นใจว่า St.Marc Café จะเป็นหนึ่งในตัวเลือกที่ดีสำหรับคนไทยที่ชื่นชอบของหวานสไตล์ญี่ปุ่น


www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี



RECCOMMEND: FRANCHISE

มัดรวม 4 แฟรนไชส์ตู้กด เทรนด์แรง น่าลงทุน

ธุรกิจตู้กด มีการเติบโตอย่างก้าวกระโดด หันไปทางไหนก็เจอ หลายธุรกิจหันมาขยายสู่โมเดลธุรกิจแฟรนไชส์ แต่เปลี่ยนจากหน้าร้านใหญ่โต ย่อส่วนลงมาให้เหลือเพียงตู้กด แต่จะมีแฟรนไชส์ไหนที่น่าลงทุนบ้าง เราได้รวบรวมแฟรนไชส์ตู้กดเจ๋งๆ มาให้ดูกัน

ระวังลูกค้าหนี แบรนด์พัง คู่แข่งแซงหน้า ถ้า SME ยังไม่ปรับตัวสู่ธุรกิจสีเขียว

ท่ามกลางอุณหภูมิโลกที่สูงขึ้นทุกปี คาดว่าปี 2567 จะร้อนยิ่งกว่าปี 2566  ประเทศไทยของเราต้องเผชิญกับทั้งอากาศร้อนจัดและเศรษฐกิจที่ชะลอตัว แต่ท่ามกลางวิกฤต ยังมีโอกาส! เมื่อเศรษฐกิจสีเขียว กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว

3 แฟรนไชส์ ก๋วยเตี๋ยวเรือเจ้าดัง น่าลงทุน ปี 2023

หนึ่งในร้านอาหารที่ติด Top 3 ที่คนค้นหามากที่สุด คือ ก๋วยเตี๋ยว วันนี้เราเลยจะมาแนะนำ 3 แฟรนไชส์ร้านก๋วยเตี๋ยวเรือเจ้าดังที่น่าลงทุน ปี 2023 พร้อมราคาแฟรนไชส์มาฝากกัน