ปฏิเสธไม่ได้ว่า หนึ่งในอุปสรรคสำคัญของการทำธุรกิจทุกวันนี้ ที่เป็นปัญหาอย่างหนัก ก็คือ “ภาวะเงินเฟ้อ” เงินเท่าเดิม แต่กลับซื้อสินค้าและวัตถุดิบได้น้อยลงกว่าเดิม ทำให้ต้นทุนเพิ่มสูงขึ้น แถมขายของก็ไม่ได้ดีเหมือนเก่า
โดย สนค. หรือ สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า เปิดเผยว่าเงินเฟ้อไทย เดือนตุลาคม 2567 มีการขยับตัวสูงขึ้น 0.83% (YOY) เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นผลมาจากปัจจัยราคาสินค้าในกลุ่มอาหาร โดยเฉพาะผักสดและผลไม้สด รวมถึงราคาน้ำมันดีเซลและค่าไฟฟ้าที่มีการปรับตัวสูงขึ้น ขณะที่คาดการณ์ว่าภาวะเงินเฟ้อตลอดปี 2567 จะอยู่ระหว่าง 0.2-0.8%
วันนี้เลยอยากชวนมาดูเคล็ดลับบริหารการเงินและลงทุนในภาวะเงินเฟ้อ จาก “วอร์เรน บัฟเฟตต์” เจ้าพ่อนักลงทุนวัย 94 ปี ที่ทั้งเก่งและเก๋าคนนี้ โดยเล่าว่าตัวเขาเองถูกฝึกและสอนให้รับรู้ถึงอันตรายจากภาวะเงินเฟ้อมาตลอด ตั้งแต่สมัยที่พ่อของเขาได้เข้าเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคริพับลิกัน มีอะไรบ้าง ไปดูกัน
1. ลงทุนกับกิจการที่ใช้ต้นทุนต่ำ แต่ทำกำไรได้
ในภาวะเงินเฟ้อและเศรษฐกิจไม่ดีเช่นนี้ การพยายามลดความเสี่ยงจากการลงทุนที่มีมูลค่าสูงเกินไป ดูจะเป็นหนึ่งในวิธีที่ช่วยป้องกันธุรกิจไม่ให้ขาดสภาพคล่อง และเซฟเงินทุนเอาไว้ได้ โดยวอร์เรนได้แนะนำว่า ในภาวะเช่นนี้อยากให้ผู้ประกอบการลองมองหาธุรกิจหรือสินค้าและบริการที่ใช้เงินลงทุนต่ำ แต่ยังสามารถทำกำไรได้ เขามองว่าถึงจะไม่ได้มีกำไรมากมาย แต่ก็เป็นวิธีช่วยประคองธุรกิจให้รอดพ้นวิกฤตไปได้ เพื่อรักษาสถานภาพของธุรกิจเอาไว้ เปรียบเหมือนการวิ่งทวนขึ้นบันไดเลื่อนที่กำลังลงมา ถ้าใช้ต้นทุนน้อย บันไดก็เลื่อนลงมาช้า ก็เหนื่อยน้อยหน่อย แต่หากลงทุนสูง บันไดก็เลื่อนลงเร็วขึ้น ก็ต้องเหนื่อยมากขึ้น
2. เลือกลงทุนกับสินค้าหรือธุรกิจ ที่ปรับขึ้นราคาได้
นอกจากการมองหาธุรกิจที่ลงทุนต่ำแล้ว อีกมุมหนึ่งเขายังแนะนำว่า ให้ลองหาสินค้าที่สามารถปรับขึ้นราคาได้ และผู้บริโภคยินดีจ่าย เป็นอีกวิธีที่จะทำให้เอาตัวรอดได้ โดยมองว่าสินค้าที่เป็นแบบนั้นได้ อาจเป็นสินค้าเฉพาะที่มีความพิเศษอยู่ในตัว ไม่เหมือนใคร หรือเป็นสินค้าที่ผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นมากๆ ต่อให้ขึ้นราคายังไง ก็ยินดีซื้อ เช่น สินค้าแบรนด์เนม, สินค้าดีไซน์ เป็นต้น
3. ลงทุนกับพันธบัตรที่เหมาะสม
เป็นอีกวิธีที่นักลงทุนนิยม แต่จากเดิมที่เคยลงทุนกับพันธบัตรระยะยาว โดยฟิกผลประกอบการ เขาอยากให้ลองลงทุนกับพันธบัตรที่มีความเหมาะสมกับภาวะเงินเฟ้อที่เกิดขึ้น หรือเรียกว่า “พันธบัตรชดเชยเงินเฟ้อ” ที่มีการปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้น-ลงตามค่าเงินเฟ้อที่เกิดขึ้น และมีการจ่ายดอกเบี้ยต่อปีที่มีความถี่มากกว่าพันธบัตรแบบเดิม ในบ้านเราก็เช่น LIB (Inflation Linked Bond) นับเป็นอีกทางเลือกที่น่าสนใจ
4. ลงทุนกับตัวเอง เพิ่มทักษะองค์ความรู้ใหม่ๆ
นอกจากการลงทุนเพื่อผลตอบแทนจากกำไรแล้ว เขามองว่าการลงทุนที่ดูจะคุ้มค่า ประหยัด และอาจได้รับผลตอบแทนที่ประเมินค่าไม่ได้ในช่วงนี้ ก็คือ “การลงทุนเพื่อพัฒนาศักยภาพของตัวเอง” วอร์เรนมองว่าผู้ประกอบการทุกคนควรใช้โอกาสนี้ให้เป็นประโยชน์ หมั่นเพิ่มพูนความรู้ และทักษะใหม่ๆ สิ่งเหล่านี้จะช่วยส่งผลระยะยาว เป็นการเตรียมความพร้อมให้กับตัวเองในอนาคต วันหนึ่งหากเศรษฐกินฟื้นคืนขึ้นมา คุณจะได้พร้อมสำหรับการแข่งขัน และพัฒนาธุรกิจให้เติบโตขึ้นมาได้
5. จำกัดความต้องการ ตัดเรื่องไร้สาระออกไป
ข้อสุดท้าย เป็นอีกวิธีที่เริ่มได้ไม่ยาก ไม่ต้องใช้เงินลงทุนเยอะ เพียงแค่คุณประหยัดขึ้น ตัดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นออกไป ทั้งรายจ่ายส่วนตัว หรือการลงทุนในธุรกิจ ความรอบคอบและหัดอดออมให้เป็นนิสัย สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้คุณสามารถรอดพ้นจากวิกฤตได้ ไม่ว่าจะตกอยู่ในสถานการณ์ใดก็ตาม
และทั้งหมดนี้ คือ สิ่งที่คุณปู่วอร์เรน บัฟเฟตต์ อยากฝากเอาไว้…รับรองถ้าทำได้ คุณจะรอดพ้นจากวิกฤติเงินเฟ้อไปได้อย่างแน่นอน
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี