TEXT: สุภาวดี ใหม่สุวรรณ์
PHOTO: สุนันท์ ล้อสมทรัพย์
อุปสรรคสำคัญที่ทำให้ธุรกิจของเอสเอ็มอีต้องสะดุดหยุดชะงักหรือไปต่อได้ไม่สุด คือ เงินทุนที่มีอยู่จำกัดจำเขี่ย ต่อให้ขายดีเพียงใด ถ้าไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันก็กู้เงินจากธนาคารไม่ได้ แต่ทุกปัญหามีทางออก และด้วยประสบการณ์ที่คลุกคลีกับเอสเอ็มอีกว่า 30 ปีของบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ก็พร้อมเปิดประตูแห่งโอกาสให้กับเอสเอ็มอี ด้วยกลไกการค้ำประกันที่จะช่วยให้เอสเอ็มอีไทยเข้าถึงสินเชื่อในระบบได้ง่ายขึ้น
สิทธิกร ดิเรกสุนทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บสย. กล่าวบนเวทีสัมมนา “SOLD OUT on Stage แบไอเดีย ขายเกลี้ยงแผง” ที่จัดโดย SME Thailand ว่า ปัญหาหลักของ วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือเอสเอ็มอี คือ “การขาดสภาพคล่อง” ในรายที่ค้าขายลำบากเพราะลูกค้าหดหาย ก็ต้องการเงินทุนมาต่อลมหายใจ ส่วนในรายที่ขายดี ออร์เดอร์ทะลัก ก็ยังต้องการเงินทุนมาขยายหรือต่อยอดธุรกิจให้ถึงฝัน
ทั้งนี้ เอสเอ็มอีส่วนใหญ่มักเข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุนของสถาบันการเงินเพราะไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน และท้ายที่สุดมักจบที่การเป็นหนี้นอกระบบ บสย. สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการคลัง จึงเข้ามาตอบโจทย์ตรงนี้เพื่อเอสเอ็มอีโดยเฉพาะ
“ปัญหาการขาดสภาพคล่องจะไม่เกิด หากเอสเอ็มอีทำบัญชีต้นทุนอย่างละเอียด เพราะจะทำให้ทราบว่าธุรกิจมีกำไรหรือขาดทุนเท่าไร ถ้ากรณีขายไม่ได้ สภาพคล่องเริ่มจะไม่ดี เอสเอ็มอีต้องหาแหล่งทุน หรือปรับโมเดลธุรกิจ ไม่ก็เพิ่มสินค้า หรือสร้างจุดขายให้ลูกค้าสนใจในสินค้าของเรา การทำบัญชีต้นทุนยังช่วยให้เอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น โดยใช้กลไกค้ำประกันสินเชื่อ เครดิตการันตีของ บสย. ซึ่งเราก็เหมือนเป็นลมใต้ปีกให้กับเอสเอ็มอี”
5 เคล็ดลับบริหารสภาพคล่องที่ SME ต้องรู้
ในฐานะที่มีประสบการณ์คร่ำหวอดในแวดวงการเงินของเอสเอ็มอี คุณสิทธิกรได้แนะเคล็ดลับในการบริหารสภาพคล่องที่เอสเอ็มอีควรทำ ดังนี้ 1. ควบคุมรายรับ-รายจ่ายให้ได้ตามแผน 2. บันทึกบัญชีของร้านค้าหรือธุรกิจเป็นประจำ 3. อย่าใช้เงินสดผิดวัตถุประสงค์ 4. บริหารเครดิตเทอมการค้าให้เหมาะสม 5. วางแผนและประมาณการใช้เงินทุนต่างๆ ของกิจการ และ 6. สำรองเงินไว้เผื่อฉุกเฉิน หากทำได้ตามนี้เอสเอ็มอี ย่อมจะอยู่รอดและเติบโตต่อไปได้
“วันนี้เอสเอ็มอีในพอร์ตของ บสย. มีมากกว่า 800,000 ราย เราสนับสนุนให้ทุกคนทำบัญชีธุรกิจเพียงบัญชีเดียว และมีมายด์เซ็ตที่ถูกต้องเกี่ยวกับการบริหารภาษี ทำให้เมื่อเกิดปัญหาขึ้นมาและต้องการเข้าถึงสภาพคล่อง สถาบันการเงินก็อนุมัติให้สินเชื่อทันที เพราะมีความมั่นใจในเอสเอ็มอีที่ บสย. เป็นผู้ค้ำประกัน เอสเอ็มอีก็สามารถพลิกฟื้นธุรกิจได้อย่างรวดเร็ว หรือต่อยอดธุรกิจให้เติบโตได้อย่างยั่งยืน”
ด้วยวัฒนธรรมการทำงานของ บสย. คือ “Fast & First - รวดเร็ว รอบคอบ ที่หนึ่งในใจ SMEs” คุณสิทธิกรมั่นใจว่า บสย. พร้อมที่จะแนะนำโปรแกรมสินเชื่อ รวมทั้งแหล่งทุนที่เหมาะสม ตอบโจทย์ และลดความเสี่ยงให้กับเอสเอ็มอี อย่างปัจจุบัน บสย. มี “โครงการค้ำประกันสินเชื่อ บสย. SMEs ยั่งยืน” วงเงิน 50,000 ล้านบาท ฟรีค่าธรรมเนียมค้ำประกัน 2-3 ปีแรก “โครงการค้ำประกันสินเชื่อดอกเบี้ยถูก” ที่ร่วมมือกับสถาบันการเงินต่างๆ เสริมสภาพคล่องและลดภาระทางการเงินให้กับเอสเอ็มอีด้วยอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 5% ต่อปี และในกรณีที่ลูกหนี้ค้ำประกันสินเชื่อชำระหนี้ต่อไม่ไหว ยังมี “มาตรการ บสย. พร้อมช่วย” โดย บสย. จะช่วยบรรเทาหนี้ให้ก่อนและให้เอสเอ็มอีผ่อนเบาๆ ด้วยดอกเบี้ย 0% ยาว 7 ปี
“ปี 2566 ที่ผ่านมา บสย. ค้ำประกันสินเชื่อไปประมาณ 114,000 ล้านบาท นอกจากเราจะเป็นลมใต้ปีกให้เอสเอ็มอีเติบโตได้ไกล เวลาเอสเอ็มอีมีปัญหา เราก็พร้อมจะติดร่มชูชีพให้ด้วย ทำให้เอสเอ็มอีมีกำลังใจและเห็นโอกาสที่จะปลดหนี้ได้เร็วขึ้น นอกจากการค้ำประกันสินเชื่อแล้ว เรายังมี “ศูนย์ที่ปรึกษาทางการเงิน SMEs” ที่พร้อมให้คำปรึกษาเรื่องการเข้าถึงแหล่งเงินทุน การแก้ปัญหาหนี้ รวมทั้งให้ความรู้ทางการเงิน การทำธุรกิจและการตลาดแก่เอสเอ็มอี ฟรี ขอย้ำว่าไม่มีค่าใช้จ่าย”
เอสเอ็มอีท่านใดสนใจโครงการค้ำประกันสินเชื่อและบริการดีๆ จาก บสย. สามารถเป็นเพื่อนกับ บสย. ได้ผ่าน Line OA : @tcgfirst โดยลงทะเบียนขอรับคำปรึกษาและตรวจสุขภาพทางการเงินเพื่อเตรียมพร้อมก่อนยื่นขอสินเชื่อได้ฟรี
บสย. พร้อมแล้วที่จะเติมเต็มสภาพคล่องดีๆ และ SOLD OUT ไปกับเอสเอ็มอีไทย
ข้อมูลจากงาน “SOLD OUT on Stage...แบไอเดีย ขายเกลี้ยงแผง
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี