สินเชื่อ Factoring เปลี่ยนใบวางบิล ใบสั่งซื้อ ใบแจ้งหนี้ เป็นเงินสดหมุนเวียนในธุรกิจ

TEXT : กองบรรณาธิการ

Main Idea

  • รู้ไหมว่า ใบสั่งซื้อ ใบแจ้งหนี้ค้างชำระ ใบวางบิล สามารถเปลี่ยนเป็นเงินสดได้

 

  • ผ่านสินเชื่อ Factoring หรือที่เรียกว่า บริการรับซื้อหนี้การค้า เป็นสินเชื่อระยะสั้นที่จะทำให้คุณเปลี่ยนบิลหรือเอกสารทางการค้าเป็นทุน

 

แฟคตอริ่ง (Factoring) คืออะไร?

     แฟคตอริ่ง หรือ บริการรับซื้อหนี้การค้า เป็นบริการสินเชื่อระยะสั้น ที่ผู้ประกอบการที่มีลูกหนี้สามารถโอนลูกหนี้การค้า ที่อยู่ระหว่างรอเรียกเก็บตามเครดิตเทอม ไปให้กับบริษัทที่รับซื้อลูกหนี้การค้า ที่เรียกว่าบริษัท Factoring โดยผู้ประกอบการ สามารถนำเอกสารทางการค้าที่ใช้ในการทำธุรกรรม ได้แก่ ใบสั่งซื้อ, ใบส่งของ, ใบแจ้งนี้, ใบวางบิล และอื่นๆ ไปมอบให้กับ Factoring เพื่อแลกมาเป็นเงินสดมาใช้หมุนเวียนในธุรกิจ

     ทั้งนี้บริษัท Factoring ก็จะจ่ายเงินให้แก่ผู้ประกอบการที่ได้โอนสิทธิบัญชีลูกหนี้การค้าดังกล่าวให้ เฉลี่ยจะอยู่ที่ 80-90% หลังจากนั้นบริษัท Factoring ทำหน้าที่เป็นผู้เก็บหนี้ เมื่อเก็บหนี้ได้แล้ว บริษัท Factoring ก็จ่ายส่วนที่เหลือให้โดยมีการหักค่าธรรมเนียมตามที่ตกลงกัน

ประเภทของธุรกิจแฟคตอริ่ง

แบ่งตามประเภทของการให้บริการได้ด้งนี้

  • แฟคตอริ่งในประเทศ (Domestic Factoring) – ลูกหนี้การค้า เป็นบริษัทที่ดำเนินกิจการหลักในประเทศ

 

  • แฟคตอริ่งข้ามชาติ (International Factoring) - ลูกหนี้การค้า อาจดำเนินธุรกิจในลักษณะที่ต้องติดต่อระหว่างประเทศ เช่น

 

  • แฟคตอริ่งสำหรับการส่งออก (Export Factoring)

 

แบ่งตามเงื่อนไขการแจ้งโอนสิทธิแก่ลูกหนี้การค้าได้ดังนี้

  • Disclosed Factoring – ต้องแจ้งให้ลูกหนี้ทราบถึง ข้อตกลงการค้า และเงื่อนไขการโอนสิทธิ

 

  • Confidential Factoring or Non-Notification – ไม่มีการแจ้งให้ลูกหนี้ทราบถึงข้อตกลงการค้า และการโอนสิทธิ

 

ประโยชน์ของ Factoring

  • ไม่ต้องมีภาระในการทวงหนี้ (ในกรณีที่เป็นสัญญาแบบไม่มีสิทธิไล่เบี้ย)

 

  • ได้เงินจากการขายสินค้ามาใช้หมุนเวียนกิจการก่อน

 

  • เป็นทางเลือกในการแก้ปัญหาสภาพคล่องของธุรกิจ โดยที่ไม่ต้องกู้ธนาคารและไม่จำเป็นต้องมีหลักประกันในการขอสินเชื่อ

 

  • ตอบสนองความต้องการเงินทุนให้แก่ลูกค้าได้รวดเร็วกว่า

 

  • ลดระยะเวลารอคอยเครดิตการค้า จากลูกหนี้

 

  • เป็นทางเลือกให้แก่ลูกค้า ที่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนขนาดใหญ่ได้

 

     สำหรับผู้ให้บริการแฟคตอริ่ง (Factoring) ในประเทศไทยปัจจุบันจะประกอบด้วย ธนาคาร และบริษัทที่ได้รับอนุญาตให้ดำเนินธุรกิจแฟคตอริ่ง

สินเชื่อแฟคเตอริ่งเหมาะกับใคร ?

  • ลูกค้าที่ต้องการเงินทุนหมุนเวียนในธุรกิจ เพิ่มสภาพคล่อง

 

  • ธุรกิจ/ยอดขาย กำลังขยายตัว มีอนาคตการเติบโตที่ดี

 

  • ลูกหนี้การค้าแข็งแรง

 

  • การขาย/การบริการ มีการให้เครดิตเทอมแก่ลูกหนี้การค้า

 

การขอสินเชื่อมีค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง ?

  • ค่าธรรมเนียมการจัดตั้งวงเงินสินเชื่อ

 

  • ค่าธรรมเนียมแฟคเตอริ่ง

 

  • ดอกเบี้ย

 

ขั้นตอนการทำแฟคตอริ่งมีผู้เกี่ยวข้อง 3 ฝ่าย คือ

     1. บริษัทแฟคตอริ่ง – ซึ่งได้รับการโอนสิทธิการชำระเงินจากลูกค้า

     2. ลูกค้า – ผู้นำเอกสารมาขายลดโอนสิทธิการชำระเงินจากลูกหนี้ โดยได้รับเงินสดล่วงหน้า

     3. ลูกหนี้ – ผู้สั่งซื้อสินค้า และ/หรือ บริการจากลูกค้า

     บริษัทแฟคตอริ่ง จะรับซื้อเอกสารการค้า หลังจากมีการตรวจสอบความถูกต้องตามเงื่อนไขแล้วเท่านั้น และจะจ่ายเงินสดล่วงหน้าให้กับลูกค้าในสัดส่วนประมาณ 80% ของมูลค่าเอกสารฯที่นำมาขายโอนสิทธิ โดยหักค่าธรรมเนียม,ดอกเบี้ยและค่าใช้จ่ายต่างๆ (ถ้ามี) ณ วันครบกำหนดชำระ บริษัทแฟคตอริ่ง จะเรียกเก็บหนี้ และส่งคืนเงินส่วนต่างหลังจากหักชำระหนี้ในส่วน 80% แรก คืนไปยังลูกค้า

ที่มา : https://thaifactors.or.th/about-the-association/

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: FINANCE

หมัดเด็ด วิธีเอาชนะเงินเฟ้อ ฉบับคุณปู่ Warren Buffett ที่ใครก็ใช้ได้

หนึ่งในปัญหาของคนทำธุีกิจวันนี้คือ “ภาวะเงินเฟ้อ” เงินเท่าเดิม แต่กลับซื้อสินค้าและวัตถุดิบได้น้อยลงกว่าเดิม ทำให้ต้นทุนเพิ่มสูงขึ้น แถมขายของก็ไม่ได้ดีเหมือนเก่า เลยชวนมาดูเคล็ดลับบริหารการเงินและลงทุนในภาวะเงินเฟ้อ จาก “วอร์เรน บัฟเฟตต์” เจ้าพ่อนักลงทุนกัน

รวมสินเชื่อรีไฟแนนซ์ ช่วยลดภาระหนี้ ธุรกิจไม่สะดุด

ภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ และวิกฤตที่รุมเร้าเข้ามา อาจทำให้ธุรกิจต้องสะดุด ขาดสภาพคล่องเลยอยากชวนมารีไฟแนนซ์สินเชื่อธุรกิจ อย่างน้อยเพื่อช่วยยืดระยะเวลาการใช้หนี้ออกไป ช่วยลดดอกเบี้ย ไปจนถึงอาจได้เงินอีกสักก้อนมาช่วยหมุนเวียนในธุรกิจ

ขายดีอย่างไรไม่ให้มีความเสี่ยง 5 เคล็ดลับบริหารสภาพคล่องจาก บสย.

อุปสรรคสำคัญที่ทำให้ธุรกิจของเอสเอ็มอีต้องสะดุดหยุดชะงักหรือไปต่อได้ไม่สุด คือ เงินทุนที่มีอยู่จำกัดจำเขี่ย ต่อให้ขายดีเพียงใด ถ้าไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันก็กู้เงินจากธนาคารไม่ได้