3 วิธีคำนวณหากำไรที่แท้จริง ป้องกันธุรกิจเจ๊ง!

TEXT : nimsri

Main Idea

  • ขายของทุกวันนี้ คุณแน่ใจว่าได้กำไรจริงๆ หรือเปล่า? หรือแท้จริงแล้วกำไรจากการขายสินค้านั้นอยู่ที่เท่าไหร่กันแน่

 

  • วันนี้จะชวนมาดู 3 วิธีการคิดกำไรที่แท้จริงจากการขายสินค้า เพื่อให้มองเห็นภาพธุรกิจชัดเจนขึ้นกัน

 

     ปัญหาหนึ่งที่ผู้ประกอบการธุรกิจโดยเฉพาะรายย่อยมักเจอ ก็คือ การไม่รู้วิธีคิดกำไรที่แท้จริงของสินค้า โดยส่วนใหญ่มักคิดว่าหากขายได้ราคามากกว่าต้นทุนวัตถุดิบ หรือต้นทุนของตัวสินค้าที่ลงทุนไป แค่นี้ก็ได้กำไรแล้ว แต่ความจริงแล้วกลับไม่เป็นเช่นนั้น เพราะธุรกิจยังมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินการและบริหารจัดการอีกมากมาย วันนี้จึงชวนมาดูวิธีคิด เพื่อหากำไรที่แท้จริงของธุรกิจกัน

รู้กำไรที่แท้จริงของสินค้า ช่วยบอกอะไรได้บ้าง

  • ทำให้ทราบรายได้ที่แท้จริงของธุรกิจ

 

  • ช่วยให้นำไปคำนวณหาต้นทุนจริงที่เกิดขึ้น ก่อนตั้งราคาขายสินค้าได้

 

  • สามารถนำไปวางแผนกลยุทธ์การลงทุนได้

 

  • ช่วยให้วางแผนการทำตลาด ทำราคาจากคู่แข่งได้แม่นยำมากขึ้น

 

กำไรธุรกิจมี 3 รูปแบบ

     การจะหาว่าจริงๆ แล้วเราสามารถทำกำไรจากการขายสินค้านั้นๆ ได้เท่าไหร่ ให้ลองคำนวณจากกำไร ลบด้วยต้นทุนค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในแต่ละช่วง ดังนี้

     1. กำไรขั้นต้น (Gross Profit) = รายได้ - ต้นทุนขาย

     ยกตัวอย่างเช่น เราขายเนื้อหมูกิโลกรัมละ 150 บาท ต้นทุนที่ซื้อมา คือ 100 บาทต่อกิโลกรัม เท่ากับเราจะเหลือกำไรขั้นต้นที่ 150-100 = 50 บาท

     ประโยชน์ : ช่วยบอกได้ว่าเราควรตั้งราคาสินค้าให้สูงกว่าต้นทุนได้มากน้อยแค่ไหน

     2. กำไรจากการดำเนินงาน (Operating Profit) = กำไรขั้นต้น – ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร

     จากข้อแรกเราเหลือกำไรขั้นต้น 50 บาท ต่อมาลองเอามาลบค่าใช้จ่ายในการบริหาร เช่น ค่าเช่าแผง 10 บาท (คิดเฉลี่ยต่อกิโลกรัม) ฉะนั้นเราก็จะเหลือกำไรจากการดำเนินงาน คือ 50-10 = 40 บาท

     ประโยชน์ : ช่วยสะท้อนแนวโน้มภาพการทำธุรกิจได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

     3. กำไรสุทธิ (Net Profit) = รายได้ทั้งหมด - ค่าใช้จ่ายทั้งหมด

     กำไรขั้นสุดท้าย คือ กำไรสุทธิ โดยคำนวณจากรายได้ทั้งหมด หักด้วยค่าใช้จ่ายทั้งหมด (ต้นทุนขาย, ค่าใช้จ่ายการดำเนินงาน, ดอกเบี้ยและภาษี)

     จากตัวอย่างข้างต้น ถ้าเรามีค่าใช้จ่ายจากดอกเบี้ยเงินกู้+ภาษีเข้ามาอีก 15 บาท เราจะเหลือกำไรสุทธิ คือ 150-(100+10+15) = 25 บาท

     นี่คือ กำไรสุทธิหลังหักจากค่าใช้จ่ายทุกอย่างแล้วที่เราจะได้รับ ซึ่งในบางครั้งหากวางแผนและคำนวณไม่ดี หรือมีเหตุการณ์ที่คาดเดาไม่ได้เข้ามา เช่น หมูเป็นโรคระบาด ทำให้ขายไม่ได้ ราคาตกต่ำ จากกำไรที่ได้ ก็อาจกลายเป็นการคำนวณเพื่อดูว่าขาดทุนเท่าไหร่แทน ทั้งนี้ต้องอาศัยประสบการณ์ การดูแนวโน้มของตลาด และการวางแผนที่ดีด้วย

     ประโยชน์ : ช่วยสะท้อนผลประกอบการ (กำไร/ขาดทุน) ของธุรกิจ ณ ช่วงเวลานั้น เพื่อนำไปวางแผนพัฒนาหรือปรับปรุงแก้ไขธุรกิจให้ดียิ่งขึ้น

     และนี่คือ 3 วิธี หรือ 3 รูปแบบการคิดกำไรในธุรกิจ เพื่อช่วยให้คุณสามารถรู้กำไรที่แท้จริงจากการขายสินค้านั้นๆ ได้นั่นเอง ลองนำไปคำนวณดู จริงๆ จากกำไรที่ว่าเยอะ อาจไม่ได้เยอะเหมือนอย่างที่คิด หรือคุณอาจกำลังอยู่ในจุดเสี่ยงขาดทุนก็ได้

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: FINANCE

หมัดเด็ด วิธีเอาชนะเงินเฟ้อ ฉบับคุณปู่ Warren Buffett ที่ใครก็ใช้ได้

หนึ่งในปัญหาของคนทำธุีกิจวันนี้คือ “ภาวะเงินเฟ้อ” เงินเท่าเดิม แต่กลับซื้อสินค้าและวัตถุดิบได้น้อยลงกว่าเดิม ทำให้ต้นทุนเพิ่มสูงขึ้น แถมขายของก็ไม่ได้ดีเหมือนเก่า เลยชวนมาดูเคล็ดลับบริหารการเงินและลงทุนในภาวะเงินเฟ้อ จาก “วอร์เรน บัฟเฟตต์” เจ้าพ่อนักลงทุนกัน

รวมสินเชื่อรีไฟแนนซ์ ช่วยลดภาระหนี้ ธุรกิจไม่สะดุด

ภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ และวิกฤตที่รุมเร้าเข้ามา อาจทำให้ธุรกิจต้องสะดุด ขาดสภาพคล่องเลยอยากชวนมารีไฟแนนซ์สินเชื่อธุรกิจ อย่างน้อยเพื่อช่วยยืดระยะเวลาการใช้หนี้ออกไป ช่วยลดดอกเบี้ย ไปจนถึงอาจได้เงินอีกสักก้อนมาช่วยหมุนเวียนในธุรกิจ

ขายดีอย่างไรไม่ให้มีความเสี่ยง 5 เคล็ดลับบริหารสภาพคล่องจาก บสย.

อุปสรรคสำคัญที่ทำให้ธุรกิจของเอสเอ็มอีต้องสะดุดหยุดชะงักหรือไปต่อได้ไม่สุด คือ เงินทุนที่มีอยู่จำกัดจำเขี่ย ต่อให้ขายดีเพียงใด ถ้าไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันก็กู้เงินจากธนาคารไม่ได้