สินทรัพย์สุทธิและเงินทุนหมุนเวียนสุทธิ





เรื่อง : อชิระ ประดับกุล
        
                
    โดยปกติทั่วไปงบการเงินที่แสดงถึงฐานะการเงินของกิจการที่เรียกกันว่า ‘งบดุล’ (ปัจจุบันเรียกว่า งบแสดงฐานะการเงิน) จะมีองค์ประกอบหลักๆ อยู่ 3 ส่วนด้วยกัน ได้แก่ 

    1.สินทรัพย์ เช่น เงินสด, เงินฝากธนาคาร, ลูกหนี้การค้า, สินค้าคงเหลือและที่ดิน อาคาร อุปกรณ์ เป็นต้น

    2.หนี้สิน ได้แก่ เจ้าหนี้การค้า รายจ่ายค้างจ่ายและเงินกู้ระยะยาว

    3.ส่วนของเจ้าของหรือส่วนของผู้ถือหุ้น เช่น ทุน, หุ้นทุน กำไรสะสม ต่างๆ

    แต่ ‘สินทรัพย์สุทธิ’ ที่ว่าไว้ในที่นี่นั่นหมายถึง ผลแตกต่างระหว่าง สินทรัพย์กับหนี้สิน หรือ สินทรัพย์สุทธิ = สินทรัพย์ – หนี้สิน

    เพราะบางคนอาจเข้าใจไปว่าการที่ตนมีสินทรัพย์มาก หมายถึงกิจการมีฐานะทางการเงินที่ดี แต่ลืมนึกไปว่าขณะเดียวกันนั้นเองก็มีหนี้สินอยู่มิใช่น้อยที่แบกรับภาระอยู่  ทำให้สินทรัพย์ที่ตนมีอยู่จริงและเป็นเจ้าเข้าเจ้าของจริงๆ แบบปลอดภาระ มีน้อยกว่าตัวเลขที่เห็นในงบแสดงฐานะการเงินที่แสดงอยู่ เช่น


  

    จากตัวอย่างที่ 1  ดูเหมือนกับว่า กิจการแห่งนี้มีสินทรัพย์อยู่ไม่น้อยทีเดียวเชียวละครับ ตั้ง 900,000 บาท แต่เมื่อพิจารณาดูอีกฝั่งก็พบว่า กิจการก็มีหนี้สินอยู่ไม่น้อยเช่นกัน ทั้งหนี้สินหมุนเวียนและหนี้สินไม่หมุนเวียนที่รวมกันแล้วมีมากถึง 300,000 บาท  หรือเมื่อเทียบกับสินทรัพย์แล้ว คือ มีมากถึง 33 เปอร์เซ็นต์ หรือก็คือ มีสินทรัพย์สุทธิ เพียง 600,000 บาท เท่านั้น  สรุปแล้วงานนี้สินทรัพย์ของกิจการจริงๆ ก็มีไม่มากอย่างที่ตาเห็น   หรือพิจารณาอีกทอดหนึ่งได้ว่า กิจการมีสินทรัพย์สุทธิเท่ากับส่วนของผู้ถือหุ้นที่ได้ลงทุนไป 

    ในทางธุรกิจนั้น มักจะพิจารณาละเอียดไปถึงขั้นที่ว่าพิจารณากันที่ ‘เงินทุนหมุนเวียนสุทธิ’ เพราะเป็นรายการที่ใช้ระยะเวลาหมุนเวียนในทางธุรกิจไม่เกิน 1 ปี โดยดูเฉพาะรายการสินทรัพย์หมุนเวียนและหนี้สินหมุนเวียนเท่านั้น เนื่องด้วยเพราะว่า เป็นการพิจารณาเงินทุนหมุนเวียน ที่ใช้ในการดำเนินของกิจการว่าได้ดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่ เช่น



 
จากตัวอย่างที่ 2 จะเห็นได้ว่ากิจการมีสินทรัพย์หมุนเวียนสุทธิ เป็นบวกเท่ากับ 50,000 บาท นั่นคือ
              
เงินทุนหมุนเวียนสุทธิ  = สินทรัพย์หมุนเวียน – หนี้สินหมุนเวียน
= 150,000 – 100,000
=   50,000 บาท

    หากพิจารณาจากตัวอย่างข้างต้น พอจะสรุปได้ว่า กิจการดังกล่าวมีการลงทุนในสินทรัพย์หมุนเวียน 150,000 บาท ในขณะที่มีการจัดหาเงินทุนหมุนเวียนหรือหนี้สินหมุนเวียนจำนวน 100,000 บาท โดยลักษณะดังกล่าวทำให้เห็นว่ากิจการมีสภาพคล่องในการดำเนินค่อนข้างดี (มีสินทรัพย์หมุนเวียนที่พร้อมจะเปลี่ยนเป็นเงินสดได้มากกว่าหนี้สินหมุนเวียน) หรืออีกนัยหนึ่ง คือมีการจัดหาเงินทุนจากแหล่งเงินทุนระยะยาว (หนี้สินไม่หมุนเวียน) มาลงทุนในสินทรัพย์หมุนเวียนบางส่วนด้วย

     ส่วนกรณีที่เงินทุนหมุนเวียนสุทธิ มีค่าเป็น ‘ลบ’ นั้น แสดงว่ากิจการมีรายการสินทรัยพ์หมุนเวียนน้อยกว่าหนี้สินหมุนเวียน คือมีการจัดหาเงินทุนระยะสั้น เพื่อนำมาลงทุนในสินทรัพย์ไม่หมุนเวียนบางส่วนด้วยเช่นกัน

    และหากกรณีที่ เงินทุนหมุนเวียนสุทธิ มีค่าเป็น ‘ศูนย์’ แสดงว่า กิจการมีการลงทุนในสินทรัพย์หมุนเวียนเท่ากับหนี้สินหมุนเวียน หรือบริหารจัดการอย่างลงตัวพอดิบพอดีทั้งสองรายการ ทำให้ไม่เกิดภาวะความเสี่ยงใดๆ จากการจัดหาเงินทุน

    แต่ไม่ว่าจะเป็น สินทรัพย์สุทธิ หรือ เงินทุนหมุนเวียนสุทธิ ก็ตาม ค่าของผลลัพธ์ที่ได้นั้น อาจขึ้นอยู่กับความแตกต่างของธุรกิจ และนโยบายในการจัดหาเงินทุนและจัดการตามแนวทางการดำเนินของบริษัท โดยอย่างน้อยไม่ควรให้ค่าดังกล่าวมีค่า ‘ติดลบ’ น่าจะเป็นนโยบายที่ควรพิจารณาเป็นอย่างยิ่ง เพราะนั่นอาจหมายถึงการมีหนี้สิน/หนี้สินหมุนเวียน มากกว่า สินทรัพย์/สินทรัพย์หมุนเวียน ซึ่งไม่ถือเป็นผลดีต่อกิจการเอาเสียเลย

SME Thailand เพื่อนคู่คิด ธุรกิจเอสเอ็มอี
ติดตามข้อมูลดีๆ สำหรับ SMEs ได้ที่ www.smethailandclub.com

 
 
                


RECCOMMEND: FINANCE

หมัดเด็ด วิธีเอาชนะเงินเฟ้อ ฉบับคุณปู่ Warren Buffett ที่ใครก็ใช้ได้

หนึ่งในปัญหาของคนทำธุีกิจวันนี้คือ “ภาวะเงินเฟ้อ” เงินเท่าเดิม แต่กลับซื้อสินค้าและวัตถุดิบได้น้อยลงกว่าเดิม ทำให้ต้นทุนเพิ่มสูงขึ้น แถมขายของก็ไม่ได้ดีเหมือนเก่า เลยชวนมาดูเคล็ดลับบริหารการเงินและลงทุนในภาวะเงินเฟ้อ จาก “วอร์เรน บัฟเฟตต์” เจ้าพ่อนักลงทุนกัน

รวมสินเชื่อรีไฟแนนซ์ ช่วยลดภาระหนี้ ธุรกิจไม่สะดุด

ภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ และวิกฤตที่รุมเร้าเข้ามา อาจทำให้ธุรกิจต้องสะดุด ขาดสภาพคล่องเลยอยากชวนมารีไฟแนนซ์สินเชื่อธุรกิจ อย่างน้อยเพื่อช่วยยืดระยะเวลาการใช้หนี้ออกไป ช่วยลดดอกเบี้ย ไปจนถึงอาจได้เงินอีกสักก้อนมาช่วยหมุนเวียนในธุรกิจ

ขายดีอย่างไรไม่ให้มีความเสี่ยง 5 เคล็ดลับบริหารสภาพคล่องจาก บสย.

อุปสรรคสำคัญที่ทำให้ธุรกิจของเอสเอ็มอีต้องสะดุดหยุดชะงักหรือไปต่อได้ไม่สุด คือ เงินทุนที่มีอยู่จำกัดจำเขี่ย ต่อให้ขายดีเพียงใด ถ้าไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันก็กู้เงินจากธนาคารไม่ได้