‘ใบสำคัญ’ จริงๆ





เรื่อง : อชิระ ประดับกุล
           aehirason@hotmail.com

                
    เป็นเอกสารหนึ่งที่แสน ‘สำคัญ’ สมกับชื่อที่เขาตั้งไว้นั่นละครับ เพราะจะเป็นตัวช่วยให้ผู้ประกอบการ SME ควบคุมระบบการรับจ่ายเงินสดของกิจการได้อย่างดีและรวมทั้งบันทึกข้อความ ที่มา ที่ไปของรายการที่เกิดขึ้น นอกจากนี้ยังช่วยในเรื่องของการรวบรวมเอกสารหลักฐานต่างๆก่อนการจ่ายเงิน ซึ่งใบสำคัญในที่นี้ผมขอเน้นไปที่รายการจ่ายก็แล้วกันครับ โดยหลักของระบบใบสำคัญจ่ายที่เป็นแกนได้แก่

-          รายการจ่ายทุกรายการจะต้องจัดทำใบสำคัญ นั่นคือ ‘ใบสำคัญจ่าย’ และแนบเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับรายการจ่ายนั้นๆ เช่น ใบแจ้งหนี้ ใบส่งของ หรือ สัญญาต่างๆ ทั้งนี้เพื่อให้ผู้มีอำนาจสามารถพิจารณาอนุมัติรายการจ่ายดังกล่าวได้

-          ในระบบใบสำคัญรายการจ่ายต่างๆ จะทำการจ่ายด้วยเช็คเท่านั้น หากเป็นรายการจ่ายที่มีจำนวนเงินไม่มาก ให้จ่ายจากเงินสดย่อยที่ได้กันไว้ในแต่ละเดือน 
แต่ละกิจการอาจมีการปรับเปลี่ยนหรือเพิ่มเติม ลักษณะของระบบใบสำคัญของตนเองมากกว่านี้ได้ ขึ้นอยู่กับความซับซ้อนของธุรกิจนั้นๆ แต่อย่างไรก็ตาม แกนดังกล่าวถือว่าเป็นสิ่งที่ควรมีไม่สามารถตัดออกได้ 

           ส่วนขั้นตอนต่างๆ ในการจัดทำใบสำคัญจ่ายแต่ละรายการนั้นพอจะสรุปได้ดังนี้

1.     จัดเตรียมเอกสาร หลักฐานที่จะนำมาแนบกับใบสำคัญจ่าย (ใบแจ้งหนี้, ใบส่งของ, สัญญาต่างๆ) เพื่อผู้มีอำนาจพิจารณาอนุมัติ

2.     จัดทำใบสำคัญจ่าย

3.     นำใบสำคัญจ่ายที่จัดทำมาบันทึกในสมุดหรือทะเบียนใบสำคัญจ่าย เพื่อบันทึกข้อมูลใบสำคัญต่างๆ ที่ได้จัดทำขึ้นว่าเป็นรายการจ่ายประเภทใด และใบสำคัญจ่ายได้จัดทำขึ้นเป็นลำดับที่เท่าใด

4.     จัดทำแฟ้มใบสำคัญที่ยังไม่ได้มีการจ่าย นิยมที่จะจัดเรียงตามวันที่ ที่ถึงกำหนดชำระของรายการจ่ายเงินแต่ละรายการ เพื่อประโยชน์ในการรับส่วนลดเงินสด จากการชำระเงินในช่วงเวลาส่วนลดที่กิจการอาจได้รับจากการวางจัดเรียงใบสำคัญจ่ายตามวันที่ครบกำหนดแต่ละรายการ

5.     จ่ายเงินตามใบสำคัญ ยกเว้นรายการจ่ายที่มีจำนวนเงินน้อยจะจ่ายด้วยเงินสดย่อย นอกนั้น รายการจ่ายที่มีการจัดทำใบสำคัญจะต้องจ่ายด้วยเช็คทั้งสิ้น และจะต้องมีการจัดทำทะเบียนจ่ายเช็ค เพื่อควบคุมการจ่ายเช็คและบันทึกรายละเอียดของเช็คต่างๆ ที่ได้มีการจ่ายออกไป ว่าจ่ายให้ใคร เป็นจำนวนเท่าใด และตามใบสำคัญลำดับใดบ้าง

6.     จัดทำแฟ้มใบสำคัญที่ได้มีการจ่ายเงินแล้ว การจัดแฟ้มรายการจ่ายที่ได้มีการจ่ายแล้วนั้น ขึ้นอยู่กับความต้องการของกิจการว่าต้องการจัดเรียงข้อมูลอย่างไรให้สะดวกสบายที่สุด เช่นอาจจัดเรียงตามวันที่มีการจ่ายเช็ค หากต้องการดูลำดับการจ่าย, จัดเรียงตามเลขที่ใบสำคัญเป็นหลัก หากต้องการดูลำดับของใบสำคัญหรืออาจจัดเรียงตาม เลขที่เช็ค ก็ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความต้องการของกิจการในการตรวจสอบข้อมูลภายหลัง

    และอย่างที่กล่าวไว้ตอนต้นครับว่า ระบบใบสำคัญจ่ายนั้น จะทำการด้วยเช็คทั้งสิ้น ยกเว้นบางรายการที่มีจำนวนเงินไม่มากก็จะทำการจ่ายด้วยเงินสดย่อย    ฉะนั้นจึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ธุรกิจของเหล่าผู้ประกอบการ SME จะต้องมี ระบบเงินสดย่อย ควบคู่กันไปด้วย และถือเป็นการควบคุมการจ่ายเงินสดในรายการเล็กๆ น้อยๆ ให้รัดกุมมากยิ่งขึ้น

                ซึ่งขั้นตอนต่างๆที่เกี่ยวกับ ระบบเงินสดย่อย ได้แก่

-ตั้งวงเงินสดย่อย
    กำหนดวงเงินที่จะให้ผู้รักษาเงินสดย่อยถือไว้ในมือในแต่ละเดือน  จากนั้นทำใบสำคัญจ่ายเช็คตามจำนวนวงเงินดังกล่าวที่ได้ตั้งไว้ และผู้รักษาเงินสดย่อยนำเช็คไปเบิกเงินจากธนาคาร

-จ่ายเงินสดย่อย
    พนักงานของกิจการทำรายการขอเบิกจากผู้รักษาเงินสดย่อย และผู้รักษาทำการจดบันทึกในสมุดเงินสดย่อยว่าจ่ายไปค่าอะไร เท่าใด ให้แก่ใครบ้างและรวมทั้งการเก็บเอกสารหลักฐานต่างๆ ที่ผู้ขอเบิกนำมาเป็นหลักฐานการเบิก

-เบิกชดเชยเงินสดย่อย
    ผู้รักษาเงินสดย่อยนำเอกสารหลักฐานการเบิกต่างๆ พร้อมสมุดเงินสดย่อยที่ได้จดบันทึกไว้ ไปขอเบิกชดเชยจากผู้บริหารหรือฝ่ายการเงิน เพื่อให้ทำการออกเช็คตามจำนวนเงินที่ผู้รักษาได้จ่ายไปให้กับผู้มาขอเบิกไปก่อนหน้านี้

-ปรับปรุงรายการค้างเบิก
    เมื่อถึงสิ้นเดือน หากรายการใดที่ยังไม่ได้นำไปเบิกชดเชยให้ทำรายการปรับปรุงยอดค้างเบิกต่างๆ 

    หมายเหตุ :  กระบวนการต่างๆที่เล่ามาทั้งหมดนั้นผมขอเลี่ยงที่จะไม่เอ่ยถึง วิธีการบันทึกบัญชี เพราะเข้าใจว่าคุณผู้อ่านและผู้ประกอบการ SME หลายๆ ท่านที่ไม่ได้ศึกษามาทางบัญชี อาจจะทำให้ งงก็เป็นได้ แต่ขอเลือกที่บอกกล่าวเฉพาะในส่วนของขั้นตอน กระบวนการ และหัวใจของระบบต่างๆ ที่คุณสามารถนำไปใช้กับธุรกิจของคุณได้ และน่าจะประโยชน์ได้มากที่สุดครับ

Create by smethailandclub.com : แหล่งรวมข้อมูล เพื่อผู้ประกอบการ SME

RECCOMMEND: FINANCE

หมัดเด็ด วิธีเอาชนะเงินเฟ้อ ฉบับคุณปู่ Warren Buffett ที่ใครก็ใช้ได้

หนึ่งในปัญหาของคนทำธุีกิจวันนี้คือ “ภาวะเงินเฟ้อ” เงินเท่าเดิม แต่กลับซื้อสินค้าและวัตถุดิบได้น้อยลงกว่าเดิม ทำให้ต้นทุนเพิ่มสูงขึ้น แถมขายของก็ไม่ได้ดีเหมือนเก่า เลยชวนมาดูเคล็ดลับบริหารการเงินและลงทุนในภาวะเงินเฟ้อ จาก “วอร์เรน บัฟเฟตต์” เจ้าพ่อนักลงทุนกัน

รวมสินเชื่อรีไฟแนนซ์ ช่วยลดภาระหนี้ ธุรกิจไม่สะดุด

ภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ และวิกฤตที่รุมเร้าเข้ามา อาจทำให้ธุรกิจต้องสะดุด ขาดสภาพคล่องเลยอยากชวนมารีไฟแนนซ์สินเชื่อธุรกิจ อย่างน้อยเพื่อช่วยยืดระยะเวลาการใช้หนี้ออกไป ช่วยลดดอกเบี้ย ไปจนถึงอาจได้เงินอีกสักก้อนมาช่วยหมุนเวียนในธุรกิจ

ขายดีอย่างไรไม่ให้มีความเสี่ยง 5 เคล็ดลับบริหารสภาพคล่องจาก บสย.

อุปสรรคสำคัญที่ทำให้ธุรกิจของเอสเอ็มอีต้องสะดุดหยุดชะงักหรือไปต่อได้ไม่สุด คือ เงินทุนที่มีอยู่จำกัดจำเขี่ย ต่อให้ขายดีเพียงใด ถ้าไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันก็กู้เงินจากธนาคารไม่ได้