TEXT : ภัทร เถื่อนศิริ
สาเหตุหลักที่ทำให้ธุรกิจส่วนใหญ่ไปต่อไม่ได้ คือ ขาดทุนสะสมและขาดสภาพคล่อง โดยที่ปัญหาส่วนใหญ่ของ SME คือ บางทีไม่รู้ด้วยซ้ำว่าตัวเองขาดทุนอยู่ หรือขาดทุนเพราะอะไร ดังนั้นสิ่งที่จะทำให้ธุรกิจเราอยู่รอดได้ คือ ธุรกิจจะต้องมีกำไร!!!
แล้วกำไร เกิดจากอะไร ?
กำไร = รายได้ - ต้นทุน
การเพิ่มรายได้เป็นวิธีนึงที่เพิ่มกำไรอย่างแน่นอน แต่ในสภาวะเศรษฐกิจแบบในปัจจุบัน ข้าวของแพง อัตราเงินเฟ้อสูง การแข่งขันสูง เงินในกระเป๋าแบน การเพิ่มรายได้ก็คงยากหน่อย มีแต่รายได้จะตกซะมากกว่า
แต่ SME อย่างเราต้องไปต่อ !!! ดังนั้น เราจำเป็นต้องมาโฟกัสกับที่ต้นทุน (บอกได้เลยว่า SME หลายคน เวลาผมถามยังไม่รู้เลยว่าต้นทุนของการทำธุรกิจตนเองมีอะไรบ้าง หรือบางทีอาจจะรู้แต่ไม่ครบถ้วน ส่วนใหญ่ชอบลืมต้นทุนแฝงต่างๆ รวมไปถึงค่าเสียโอกาสของเงินเดือนตนเอง ที่ดินตนเอง เป็นต้น) เพราะถ้าเรารู้และเข้าใจต้นทุนทั้งหมดของธุรกิจได้ เราจะตั้งราคาที่ทำให้เราทำกำไรและสามารถรันธุรกิจไปต่อได้
Cost Structure (CS) คือ ต้นทุนในการทำธุรกิจทั้งหมด
ต้นทุนมีหลายประเภท ต้นทุนที่แบ่งตามวัตถุประสงค์จะมี 2 ประเภท คือ
1. ทุนเพื่อขับเคลื่อนธุรกิจ เช่น ค่าจ้างพนักงาน ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าน้ำมัน ค่าบำรุงรักษาเรื่องจักร ค่าเช่าสำนักงาน ฯลฯ
2. ทุนเพื่อเพิ่มคุณค่าให้ธุรกิจ เช่น งบโฆษณา งบเช่าพื้นที่พิเศษเพื่อลูกค้าของตนเองตามห้างสรรพสินค้า งบลงข่าว ประชาสัมพันธ์ ฯลฯ
แต่ถ้าแยกตามประเภทของต้นทุน จะมี 4 ประเภท
1. ต้นทุนคงที่ (fixed cost) เป็นรายจ่ายคงที่ จ่ายประจำ เช่น ค่าจ้างพนักงาน ค่าเช่า
2. ต้นทุนผันแปร (variable cost) จ่ายมากจ่ายน้อยขึ้นอยู่กับปริมาณการใช้ เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าน้ำมัน
3. ต้นทุนผลิตมากแล้วราคาถูกลง (economy of scale) เช่น สั่งผลิตขวดโหลใส่อาหารจ านวน 1,000 ใบขึ้นไป จะได้ราคาต่อชิ้นถูกกว่าปกติ
4. ต้นทุนซื้อรวมกันแล้วถูกลง (economy of scope) เช่น ซื้อเครื่องใช้สำนักงานพร้อมกัน และจัดส่ง ทีเดียวจะได้ส่วนลดมากกว่า และได้รับบริการส่งฟรี
เทคนิคในช่วงวิกฤต คือ “ลด Fixed Cost ให้ต่ำ ปรับเป็น Variable Cost ให้หมด” ทำให้ตัวเราเบามากที่สุด พร้อมรับการปรับเปลี่ยนมากที่สุด
ประโยชน์ของการทำ Cost Structure (CS) คือ
1. ช่วยหาสาเหตุการขาดทุน เพื่อที่จะทำการปรับปรุงแก้ไขตรงส่วนนั้น
2. ช่วยลดความเสี่ยงของธุรกิจ
3. ทำให้เห็นภาพรวมทางการเงินของธุรกิจ
4. ช่วยในเรื่องของการลดต้นทุน
5. เพื่อที่เราจะสามารถคำนวณกำไรในการตั้งราคาสินค้าและบริการของเราได้
เคสตัวอย่าง กะเพราหมูสับ
ต้นทุนต่อจาน 27 บาท
หมูสับ 100 กรัม = 13 บาท
กะเพรา 50 กรัม + พริก 1 ช้อนโต๊ะ = 2 บาท
เครื่องปรุงรส = 5 บาท
ข้าวเปล่า 200 กรัม = 7 บาท
ถ้าขาย 35 บาท ได้กำไรขั้นต้น 8 บาท (ยังไม่รวม Fix Cost ค่าคน, ค่าเช่าที่, ค่าเสียโอกาส ซึ่งแต่ละร้านไม่เหมือนกัน ทำให้บางร้านอาจจะกำไรหรือขาดทุนสุทธิก็ได้ แต่ถ้าเขียน Cost Structure ก็จะรู้ว่าขาดทุนเพราะอะไรแล้วปรับปรุงตรงจุดนั้นให้กลับมาทำกำไรได้)
จริงๆ อาจมีข้อดีในการทำ Cost Structure มากกว่านี้ก็ได้นะครับ แต่สิ่งสำคัญคือเป็นสิ่งนึงที่ควรกระทำอย่างยิ่งสำหรับ SME ที่อยากจะไปต่อในปัจจุบันครับ
Ref : https://www.wongnai.com/business-owners/cost-main-dish-restaurant
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี