TEXT: วิมาลี วิวัฒนกุลพาณิชย์
แดน ไพรซ์ ผู้ประกอบการอินเทอร์เน็ต และซีอีโอบริษัทกราวิตี้ เพย์เมนต์ (Gravity Payments) ในรัฐวอชิงตันผู้ให้บริการทางการเงินและการประมวลผลบัตรเครดิตออนไลน์อาจเป็นแค่ผู้บริหารทั่วไปหากไม่ใช่เพราะเขาจับพลัดจับผลูได้พูดคุยกับพนักงานในบริษัท เพราะคำพูดของพนักงานคนนั้นทำให้เขาฉุกใจคิด และตัดสินใจลงมือทำบางอย่างจนกลายเป็นข่าวบนสื่อต่าง ๆ
แดน ไพรซ์ร่วมกับลูคัส ผู้เป็นพี่ชายก่อตั้งกราวิตี้ เพย์เมนต์เมื่อปี 2004 ในขณะที่เขายังเป็นวัยรุ่น ธุรกิจเติบโตด้วยดีเรื่อยมาเนื่องจากการให้บริการดีในราคาไม่แพง กระทั่งวันหนึ่งในปี 2011 แดนได้มีโอกาสพูดคุยกับเจสัน เฮลีย์ พนักงานทั่วไปของบริษัทกำลังพักสูบบุหรี่ด้วยหน้าตาที่ไม่สบอารมณ์ แดนจึงเข้าไปไถ่ถามว่ามีปัญหาอะไร
เจสันโพล่งออกไป ”คุณเป็นผู้บริหารที่เอาเปรียบพนักงาน” ทำให้แดนรู้สึกช้อค เจสันซึ่งรับรายได้ปีละ 34,000 ดอลลาร์มีความสามารถและทำงานหนักแต่ได้รับค่าจ้างแค่ตามมาตรฐานตลาด ผลคือรายได้ไม่พอค่าใช้จ่าย ต้องหางานพิเศษทำ ไม่เฉพาะเจสันที่ตกอยู่ในสภาพนี้ พนักงานคนอื่นที่ได้ค่าแรงน้อยก็เช่นกัน แดนตกใจและรู้สึกแย่มาก เขาเก็บเรื่องนี้ไปทบทวนหลายวัน ก่อนตัดสินใจขึ้นเงินเดือนให้พนักงาน 20 เปอร์เซนต์ต่อเนื่องหลายปี
จนในปี 2015 แดนเคลื่อนไหวครั้งใหม่ด้วยการประกาศต่อหน้าสื่อได้แก่ เอ็นบีซีนิวส์ และนิวยอร์กไทม์ว่าพนักงานทั้งหมด 130 คนรวมถึงเขาจะได้รับรายได้ขั้นต่ำ 70,000 ดอลลาร์ต่อปีเท่ากัน โดยแดนยอมลดเงินเดือนตัวเองจากปีละ 1.1 ล้านดอลลาร์ลงเหลือ 70,000 ดอลลลาร์ พร้อมกับขายบ้านหลังที่ 2 เพื่อนำรายได้มาทุ่มเทให้บริษัท
การประกาศนี้กลายเป็นข่าวในโลกอินเทอร์เน็ต เหตุเพราะผลสำรวจของสถาบันนโยบายเศรษฐกิจพบว่าผู้บริหารระดับซีอีโอในสหรัฐฯ โดยทั่วไปได้รับเงินเดือนมากกว่าพนักงานตัวเอง 320 เท่า โดยเงินเดือนเฉลี่ย (สำรวจปี 2019) จะอยู่ที่ 21.3 ล้านดอลลาร์ การสวนกระแสของแดนจึงสร้างความฮือฮาในแวดวงธุรกิจจนกลายเป็นกรณีศึกษาของหลายสถาบันรวมถึงมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ขณะที่หลายเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าเสี่ยงต่อการล้มละลาย และสื่อบางราย เช่น ฟอกซ์นิวส์ปรามาสพนักงานของแดนอาจต้องลงเอยด้วยการพึ่งพาสวัสดิการของรัฐ
อย่างไรก็ตาม 6 ปีผ่านไป แดนกลับมาเป็นข่าวอีกครั้งจากการรายงานความคืบหน้าเกี่ยวกับผลการดำเนินงานของกราวิตี้ เพย์เมนต์ว่ารายได้เพิ่มขึ้น 3 เท่าตัว จำนวนพนักงานที่ซื้อบ้านใหม่เพิ่มขึ้น 10 เท่า พนักงานมีเงินออมมากขึ้น และหนี้สินลดลง บริษัทจ้างพนักงานเพิ่มขึ้นเป็น 200 คน พนักงานในบริษัทรวมถึงตัวเขายังรับเงินเดือน 70,000 ดอลลาร์ต่อปีเช่นเดิม แดนคิดว่าการที่ผลประกอบการบริษัทดีขึ้น สาเหตุใหญ่มาจากค่าแรงที่เพิ่มขึ้นนำไปสู่ความภักดีอย่างเหนียวแน่นของพนักงานที่มีต่อองค์กร เพราะตั้งแต่ปรับเงินเดือน อัตราการลาออกของพนักงานก็ลดลงครึ่งหนึ่ง แถมพนักงานยังทุ่มเทมากขึ้นให้กับการบริการลูกค้า
ช่วงวิกฤติโควิด บริษัทได้รับผลกระทบ รายได้หายไปกว่าครึ่ง แดนทำใจแล้วว่าบริษัทต้องแย่แน่ ๆ แต่การณ์กลับกลายเป็นว่าพนักงานต่างสมัครใจยอมลดเงินเดือนชั่วคราว บางคนยอมให้ลดมากกว่า 60 เปอร์เซนต์ด้วยซ้ำ ความสามัคคีของพนักงานทำให้สถานการณ์คืนสู่ภาวะปกติอย่างรวดเร็ว และแดนก็ได้จ่ายคืนเงินเดือนที่ถูกหักแก่พนักงานทันที สิ่งที่ทำให้แดนปลื้มใจอย่างมากคือพนักงานพร้อมใจกันลงขันซื้อรถยนต์ให้เขาหนึ่งคันเพื่อตอบแทนการเสียสละของเขา
หลายคนคงอยากรู้จักซีอีโอสุดแนววัย 33 ปีคนนี้ที่ไว้ผมยาวประบ่าและมีหน้าตาละม้ายคล้ายแบรด พิตต์ นักแสดงฮอลลีวู้ดชื่อดัง แดนเกิดในครอบครัวชนบทในรัฐไอดาโฮ เขามีพี่น้อง 5 คน พ่อกับแม่เป็นคริสศาสนิกชนที่เคร่งมาก แดนเคยเข้าแข่งขันท่องจำคัมภีร์ไบเบิ้ลตอนเรียนชั้นประถม 5 และ 6 และผ่านเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศ ช่วงวัยรุ่น เคยร่วมวงดนตรีแนวคริสเตียนร็อคและประสบความสำเร็จระดับหนึ่งจนได้เดินสายแสดง ต่อมาวงถูกยุบ แดนซึ่งตอนนั้นอายุเพียง 16 ปีได้เริ่มทำธุรกิจกับลูคัส พี่ชายที่เพิ่งเรียนจบมหาวิทยาลัย
เริ่มต้นจากการเป็นตัวแทนต่อรองการหักค่าธรรมเนียมจากบริษัทที่ทำระบบบัตรเครดิตให้กับร้านค้า จนมีฐานลูกค้าในไอดาโฮจำนวนหนึ่ง แดนและพี่ชายก็ผันมาทำระบบประมวลผลบัตรเครดิตเองโดยย้ายไปเปิดบริษัทกราวิตี้ เพย์เมนต์ที่ซีแอทเทิล รัฐวอชิงตัน ทั้งคู่ถือหุ้นคนละ 50 เปอร์เซนต์ ระหว่างนั้น แดนก็เข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยคริสเตียน ซีแอทเทิล แปซิฟิก
หลังจากร่วมงานกันได้ไม่กี่ปีก็เกิดปัญหาเรื่องการทำงาน ทำให้ลูคัส พี่ชายถอนตัวจากบริษัท แดนใช้เงินเก็บทั้งหมด รูดบัตรเครดิต และกู้เงินกองทุนการศึกษามาทุ่มให้บริษัท นอกจากพัฒนาระบบเอง ยังลงทุนซื้อเทคโนโลยีต่าง ๆ เพื่อเอื้อต่อการบริการ ธุรกิจเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยปี 2014 บริษัททำรายได้ 150 ล้านดอลลาร์จากการทำธุรกรรมมูลค่า 7,000 ล้านดอลลาร์ของลูกค้า กำไรสุทธิอยู่ที่ 2.2 ล้านดอลลาร์โดยครึ่งหนึ่งของผลกำไรตกเป็นเจ้าของบริษัท
กระทั่งเกิดจุดเปลี่ยนเมื่อมีพนักงานไม่พอใจค่าจ้างที่ได้รับจากบริษัท เบื้องต้น แดนตัดสินใจเพิ่มเงินเดือนให้พนักงาน ช่วงเวลา 3 ปี เขาใช้เงินอุดหนุนไปราว 1.8 ล้านดอลลาร์ ก่อนขยับมาทำโครงการจ่ายค่าจ้างขั้นต่ำ 70,000 ดอลลาร์ต่อปีให้พนักงาน และรวมทั้งตัวเขาเองด้วย แดนรู้สึกว่าเป็นเรื่องสำคัญที่เขาต้องรายงานความคืบหน้าของบริษัทให้ทราบทั่วกันเพื่อลดความสงสัย และหวังจะสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้นำองค์กรคนอื่นได้เจริญรอยตามเพราะเขาได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าการลงทุนในทรัพยากรบุคคลนั้นมันเห็นผลจริง ๆ
ข้อมูล
www.cbsnews.com/news/dan-price-gravity-payments-ceo-70000-employee-minimum-wage/
www.inc.com/magazine/201511/paul-keegan/does-more-pay-mean-more-growth.html
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี