ไม่อยากขาดทุนจากธุรกิจนำเข้า-ส่งออก ต้องรู้จัก Options วิธีป้องกันความเสี่ยงค่าเงินผันผวน

TEXT : นเรศ เหล่าพรรณราย
 


         ประกอบการนำเข้าส่งออกมักจะประสบกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศที่มีความผันผวนจนทำให้เกิดผลกระทบต่อรายได้ที่อาจจะขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน ทำให้เกิดเครื่องมือการเงินที่จะมาช่วยผู้ประกอบการป้องกันความเสี่ยง


       โดยวิธีการที่ผู้ประกอบการมักจะเลือกใช้นั่นคือการซื้อเงินตราล่วงหน้าหรือ Forwards โดยขึ้นอยู่กับว่าผู้ประกอบการมองอัตราแลกเปลี่ยนในอนาคตไว้อย่างไร หากมีแนวโน้มที่จะแข็งค่าขึ้นก็สามารถแก้ไขได้โดยการซื้ออัตราแลกเปลี่ยนที่ราคาเหมาะสมไว้ล่วงหน้า


          อย่างไรก็ตามในตลาดการเงินที่มีความผันผวนสูงแม้เราอาจจะมองว่าอัตราแลกเปลี่ยนน่าจะมีแนวโน้มแข็งค่าหรืออ่อนค่าในอนาคต แต่ก็มีความเป็นไปได้เช่นกันว่าอัตราแลกเปลี่ยนอาจจะไม่เปลี่ยนแปลงหรืออาจจะเปลี่ยนแปลงในทางที่เกิดผลบวกต่อธุรกิจแทน ทำให้มีเครื่องมือการป้องกันความเสี่ยงอีกแบบนั่นคือ Options





             Options มีรูปแบบที่คล้ายกับการซื้อประกัน กล่าวคือเรามองเห็นความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตจึงต้องมีการซื้อประกันเอาไว้ ถ้าความเสี่ยงนั้นเกิดขึ้นจริงก็มีสิทธิได้รับการชดเชยตามสัญญาที่ระบุไว้ แต่หากไม่เกิดขึ้นก็จะเสียเพียงแค่ค่าธรรมเนียมเท่านั้น


        กล่าวคือ Options คือการ “ซื้อประกันราคาล่วงหน้า” เอาไว้โดยมีสิทธิที่จะเลือกว่าจะใช้อัตราแลกเปลี่ยนที่ได้ทำการล๊อคไว้ล่วงหน้าหรือไม่ก็ได้ โดยหากเลือกที่จะไม่ใช้สิทธิ ผู้ประกอบการก็จะเสียงเพียงแค่ค่าธรรมเนียมเท่านั้น


         ตัวอย่างเช่น บริษัท A ทำกิจการส่งออก มองว่าเงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ อาจจะแข็งค่าขึ้นในอนาคต จากปัจจุบันอยู่ที่ 35 บาทต่อดอลลาร์ จึงเลือกที่จะซื้อประกัน Options ค่าเงินบาทในการส่งออกไว้ที่อัตรา 35 บาทต่อดอลลาร์ เพื่อไม่ให้เกิดผลขาดทุนหากเงินบาทแข็งค่าขึ้น


         แต่ปรากฎว่าเมื่อถึงเวลาที่จะส่งมอบค่าเงินบาทกลับอ่อนค่าลงมาอยู่ที่ 36 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งจะส่งผลดีทำให้เกิดกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน บริษัท A สามารถที่จะแจ้งยกเลิกต่อสถาบันการเงินได้ว่าจะไม่ใช้สิทธิในการประกันราคาที่ 35 บาทก่อนหน้านี้โดยจะเสียเพียงค่าธรรมเนียม 





          เท่ากับว่า Options คือเครื่องมือที่จะช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นในการบริหารจัดการอัตราแลกเปลี่ยนได้จากเดิมที่หากใช้เครื่องมืออย่าง Forwards แม้จะช่วยป้องกันความเสี่ยงได้แต่อาจจะพลาดโอกาสไปหากอัตราแลกเปลี่ยนเป็นไปในแนวทางที่เป็นประโยชน์ เนื่องจากการทำ Forwards คือการล๊อกสัญญาไว้ล่วงหน้าแล้วไม่สามารถที่จะเปลี่ยนแปลงได้


         อย่างไรก็ตามผู้ประกอบการอาจต้องปรึกษากับสถาบันการเงินที่ใช้บริการอยู่เนื่องจาก Options เป็นเครื่องมือการเงินที่มีความซับซ้อนสูงรวมถึงขอให้ใช้เครื่องมือนี้ในการเน้นป้องกันความเสี่ยงเป็นหลัก อย่าคิดที่จะทำกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนแม้ว่าจะมีสิทธิ์ที่จะทำได้เพราะผู้ประกอบการควรจะโฟกัสเฉพาะธุรกิจหลักของตัวเองเท่านั้น
 





 
www.smethailanclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอ

RECCOMMEND: FINANCE

หมัดเด็ด วิธีเอาชนะเงินเฟ้อ ฉบับคุณปู่ Warren Buffett ที่ใครก็ใช้ได้

หนึ่งในปัญหาของคนทำธุีกิจวันนี้คือ “ภาวะเงินเฟ้อ” เงินเท่าเดิม แต่กลับซื้อสินค้าและวัตถุดิบได้น้อยลงกว่าเดิม ทำให้ต้นทุนเพิ่มสูงขึ้น แถมขายของก็ไม่ได้ดีเหมือนเก่า เลยชวนมาดูเคล็ดลับบริหารการเงินและลงทุนในภาวะเงินเฟ้อ จาก “วอร์เรน บัฟเฟตต์” เจ้าพ่อนักลงทุนกัน

รวมสินเชื่อรีไฟแนนซ์ ช่วยลดภาระหนี้ ธุรกิจไม่สะดุด

ภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ และวิกฤตที่รุมเร้าเข้ามา อาจทำให้ธุรกิจต้องสะดุด ขาดสภาพคล่องเลยอยากชวนมารีไฟแนนซ์สินเชื่อธุรกิจ อย่างน้อยเพื่อช่วยยืดระยะเวลาการใช้หนี้ออกไป ช่วยลดดอกเบี้ย ไปจนถึงอาจได้เงินอีกสักก้อนมาช่วยหมุนเวียนในธุรกิจ

ขายดีอย่างไรไม่ให้มีความเสี่ยง 5 เคล็ดลับบริหารสภาพคล่องจาก บสย.

อุปสรรคสำคัญที่ทำให้ธุรกิจของเอสเอ็มอีต้องสะดุดหยุดชะงักหรือไปต่อได้ไม่สุด คือ เงินทุนที่มีอยู่จำกัดจำเขี่ย ต่อให้ขายดีเพียงใด ถ้าไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันก็กู้เงินจากธนาคารไม่ได้