ก้าวใหญ่ของ SCB สู่ SCBX ปฏิวัติธุรกิจการเงินทุกแพลตฟอร์ม ก่อนวงการธนาคารจะถูกดิสรัปต์

TEXT : กองบรรณาธิการ
 
  
           
     หลังจากนี้ “ไทยพาณิชย์” ที่เรารู้จักจะไม่ใช่แค่ธนาคารอีกต่อไป แต่จะกลายเป็นกลุ่มบริษัทที่มีธุรกิจการเงินและแพลตฟอร์มทางเทคโนโลยีที่หลากหลาย สามารถตอบสนองความต้องการใหม่ๆ ของผู้บริโภคในวันนี้และอนาคตได้


     จากการที่กลุ่มไทยพาณิชย์ หรือ SCB Group ได้จัดตั้งบริษัทแม่ที่ชื่อว่า บริษัท ไทยพาณิชย์ โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCBX ที่จะมาเป็นร่มไม้ใหญ่ถือหุ้นบริษัทย่อยที่จะพัฒนาและให้บริการเรื่องการเงินต่างๆ รวมถึงธนาคารไทยพาณิชย์ หรือ SCB เดิม โดยจะมีการ Share Swap เพื่อให้ผู้ถือหุ้นของธนาคารกลายมาเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทใหม่นี้ และจะมีการตั้งบริษัทใหม่ รวมไปถึงร่วมทุนกับหลายๆ บริษัท
 




เปลี่ยนแปลงให้ทันก่อนถูกดิสรัปต์

 


     ทำไมไทยพาณิชย์ถึงมีการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ขนาดนี้?


     เหตุผลก็เป็นเพราะ SCB มองเห็นแนวโน้มของการถูกดิสรัปต์มาตั้งแต่ 6 ปีก่อน และจะชัดเจนมากขึ้นในอีก 3 ปีข้างหน้า พวกเขาจึงตั้งโจทย์ว่า SCB จะต้องแปลงสภาพตัวเองอย่างไรจึงจะสามารถสร้างคุณค่าใหม่ให้กับผู้ถือหุ้นและผู้บริโภค รวมถึงเติบโตไปกับโลกใบใหม่ได้


     อาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และประธานกรรมการบริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ในปี 2025 การมาถึงของ decentralized finance technology การขยายตัวและการบุกของแพลตฟอร์มระดับโลกเข้าสู่ธุรกิจการเงิน พฤติกรรมของผู้บริโภคหลังโควิด (post-covid) รวมถึงกฎระเบียบข้อบังคับที่เปลี่ยนไปอย่างมาก จะทำให้รูปแบบการทำธุรกิจที่เป็นตัวกลางเก็บค่าธรรมเนียมของธนาคารแบบดั้งเดิมจะลดบทบาทลง เพราะจะไม่สามารถตอบสนองความต้องการและความคาดหวังใหม่ของผู้บริโภคได้ ความสำคัญของธนาคารต่อผู้บริโภคจะลดลงและจะส่งผลลบต่อการให้มูลค่าอนาคตของนักลงทุนต่อธุรกิจธนาคารแบบดั้งเดิมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้


     ฉะนั้น SCB จึงจะต้องไม่จำกัดตัวเองอยู่ที่ธุรกิจธนาคารแบบดั้งเดิมอีกต่อไป แต่จะต้องใช้ความเข้มแข็งทางการเงินของธุรกิจธนาคารในปัจจุบันให้มีประโยชน์ แล้วเร่งขยายเข้าสู่ธุรกิจการเงินประเภทอื่นที่ตลาดต้องการ และสร้างขีดความสามารถทางด้านเทคโนโลยี รวมถึงการบริหารจัดการแพลตฟอร์มทางเทคโนโลยี (technology platform) ขนาดใหญ่ให้ทัดเทียมกับคู่แข่งระดับโลก เข้าสู่สนามการแข่งขันแบบใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้นโดยเร็วเพื่อที่จะอยู่รอดปลอดภัยในอีก 3-5 ปีข้างหน้านี้ให้ได้
 

 

SCBX แผ่ร่มไม้ใหญ่คลุมธุรกิจการเงินและเทคโนโลยี

           


     บริษัทแม่อย่าง SCBX ซึ่งไม่ใช่ธุรกิจธนาคาร จะมาปลดล็อกข้อจำกัดจากกฎระเบียบแบบเดิมที่ธนาคารทำไม่ได้ ให้สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างคล่องตัว และลงทุนในธุรกิจอื่นๆ ที่ต่อยอดการเติบโตได้
ซึ่งในช่วงแรกจะมีการนำธุรกิจในเครือของ SCB จัดตั้งเป็นบริษัทย่อยต่างๆ ประมาณ 15 บริษัท เพื่อให้มีการบริหารงานที่คล่องตัวมากขึ้น ขณะเดียวกันก็มีการร่วมทุนกับพันธมิตร เช่น

  • AISCB ซึ่งเป็นการร่วมทุนกันระหว่าง AIS กับธนาคารไทยพาณิชย์เพื่อให้บริการด้านการเงินดิจิทัล เช่น บริการด้านสินเชื่อ

 

  • Alpha X เป็นการร่วมทุนระหว่างบริษัทบริษัท มิลเลนเนียม กรุ๊ป คอร์ปอเรชั่น (เอเชีย) จำกัด หรือ MGC Group โดย Alpha X จะให้บริการเช่าซื้อ ลีสซิ่ง และให้สินเชื่อรีไฟแนนซ์ สำหรับรถยนต์หรู รถจักรยานยนต์ หรือ Big Bike และยานพาหนะทางน้ำ เช่น Yacht และ River Boat

 

  • CPG-SCB Group JV ซึ่งไทยพาณิชย์ และเครือเจริญโภคภัณฑ์ ตั้งกองทุน Venture เน้นการลงทุนใน Disruptive Technology ด้านบล็อกเชน หรือ Blockchain สินทรัพย์ดิจิทัล หรือ Digital Assets เทคโนโลยีด้านการเงิน หรือ FinTech รวมถึงเทคโนโลยีอื่นๆ ที่มีศักยภาพในการเติบโตสูงทั่วโลก

 


  • Auto X ธุรกิจสินเชื่อรถยนต์จับกลุ่ม Mass

 

  • Tech X ธุรกิจเทคโนโลยี

 

  • Purple Ventures ผู้ให้บริการแอปพลิเคชัน Robinhood

 

  • Card X ซึ่งเป็นธุรกิจบัตรเครดิต

 
 
     และธุรกิจอื่นๆ ที่จะมีการจัดตั้งเพิ่มในอนาคต เช่น

  • TokenX ที่ให้บริการโทเคนดิจิทัล

 

  • Data X ธุรกิจด้านข้อมูลดิจิทัล

 

  • SCB Securities

 

  • SCBABACUS

 

  • monix

 
     นี่เป็นเพียงแค่ตัวอย่างธุรกิจภายใต้ SCBX ซึ่งจะมีตามมาอีกเป็นจำนวนมาก
 
 



ช่วยผู้ประกอบการด้วยเทคโนโลยี

 


     จะเห็นได้ว่าแต่ละบริษัทที่จะเกิดขึ้นภายใต้ SCBX ล้วนเป็นเทรนด์ของอนาคตแทบทั้งสิ้น สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่แค่ส่งผลดีต่อไทยพาณิชย์และผู้ถือหุ้นเท่านั้น แต่ยังส่งผลดีต่อผู้ประกอบการ SME ด้วย


     “ธนาคารตั้งใจลดภาระของผู้ประกอบการ เพราะไม่ว่าจะเป็นธุรกิจใหญ่หรือเล็กก็ตามต่างกำลังเผชิญกับโลกที่กำลังเปลี่ยนไปอย่างมาก โดยเฉพาะโลกหลังโควิด-19 ซึ่งเรื่องนี้เป็นจุดโฟกัสที่สำคัญที่ธนาคารจะเปลี่ยนแปลงหรือปฏิวัติรูปแบบของการให้บริการและโปรดักต์เพื่อที่จะช่วยให้ SME โดยเฉพาะธุรกิจที่เพิ่งเริ่มต้นหรือธุรกิจออฟไลน์ในปัจจุบันให้สามารถทำธุรกิจผ่านเทคโนโลยีดิจิทัล หรือบล็อกเชนได้ง่าย สะดวก และเข้าถึงด้วยต้นทุนที่ต่ำได้นั่นเอง” อาทิตย์กล่าวทิ้งท้าย
             
 

 

 


 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: FINANCE

หมัดเด็ด วิธีเอาชนะเงินเฟ้อ ฉบับคุณปู่ Warren Buffett ที่ใครก็ใช้ได้

หนึ่งในปัญหาของคนทำธุีกิจวันนี้คือ “ภาวะเงินเฟ้อ” เงินเท่าเดิม แต่กลับซื้อสินค้าและวัตถุดิบได้น้อยลงกว่าเดิม ทำให้ต้นทุนเพิ่มสูงขึ้น แถมขายของก็ไม่ได้ดีเหมือนเก่า เลยชวนมาดูเคล็ดลับบริหารการเงินและลงทุนในภาวะเงินเฟ้อ จาก “วอร์เรน บัฟเฟตต์” เจ้าพ่อนักลงทุนกัน

รวมสินเชื่อรีไฟแนนซ์ ช่วยลดภาระหนี้ ธุรกิจไม่สะดุด

ภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ และวิกฤตที่รุมเร้าเข้ามา อาจทำให้ธุรกิจต้องสะดุด ขาดสภาพคล่องเลยอยากชวนมารีไฟแนนซ์สินเชื่อธุรกิจ อย่างน้อยเพื่อช่วยยืดระยะเวลาการใช้หนี้ออกไป ช่วยลดดอกเบี้ย ไปจนถึงอาจได้เงินอีกสักก้อนมาช่วยหมุนเวียนในธุรกิจ

ขายดีอย่างไรไม่ให้มีความเสี่ยง 5 เคล็ดลับบริหารสภาพคล่องจาก บสย.

อุปสรรคสำคัญที่ทำให้ธุรกิจของเอสเอ็มอีต้องสะดุดหยุดชะงักหรือไปต่อได้ไม่สุด คือ เงินทุนที่มีอยู่จำกัดจำเขี่ย ต่อให้ขายดีเพียงใด ถ้าไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันก็กู้เงินจากธนาคารไม่ได้