บล็อกเชน นอกเหนือจากการเป็นเทคโนโลยีเบื้องหลังของสกุลเงินดิจิทัลแล้วยังสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างหลากหลายในด้านการเงิน แม้แต่การนำไปใช้เป็นตัวช่วยสำหรับธุรกิจ SME ในด้านการเงิน เราไปดูกันว่ามีเครื่องมือใดบ้างที่ผู้ประกอบการสามารถนำไปใช้ได้
กระดานซื้อขายหุ้นของ SME บนบล็อกเชน
ปัญหาของการซื้อขายหุ้นของบริษัทที่มีขนาดเล็กนั่นคือสภาพคล่องในการซื้อขายที่ค่อนข้างต่ำ จึงมีแนวความคิดที่จะนำเอาบล็อกเชนมาใช้เป็นเทคโนโลยีเบื้องหลังในการซื้อขายซึ่งจะช่วยให้สามารถซื้อขายหุ้นของบริษัท SME และ Startupได้อย่างสะดวกและมีต้นทุนที่ต่ำโดยจะต้องมีตัวกลางที่ทำหน้าที่แปลงหุ้นของ SME ให้อยู่ในรูปแบบของโทเคนดิจิทัลเสียก่อน
ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยมีแนวความคิดที่จะเปิดกระดานซื้อขายที่สามให้กับบริษัท SME และ Startup โดยใช้บล็อกเชนซื้อขายเช่นกัน ต้องติดตามต่อไปว่าจะสามารถเปิดให้ซื้อขายและลงทุนได้เมื่อไรจากการที่ต่างประเทศเริ่มมีการให้บริการในรูปแบบนี้แล้ว
บล็อกเชนกับการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าไร้ตัวกลาง
ที่ผ่านมาการที่ SME จะต้องทำธุรกรรมกับผู้ที่ทำหน้าที่เป็นตัวกลางไม่ว่าจะเป็นตัวแทนจำหน่าย ยี้ปัว ซาปั้ว ฯลฯ ทำให้อัตรากำไรที่ควรจะได้ถูกลดทอนลงไปและกลายเป็นต้นทุนในการทำธุรกิจที่สูง แต่บล็อกเชนสามารถเข้ามาทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการช่วยให้ SME สามารถติดต่อกับผู้ซื้อได้โดยไม่จำเป็นต้องมีตัวกลาง
คุณสมบัติของบล็อกเชนคือความสามารถในการพิสูจน์และยืนยันตัวเองได้จึงสามารถตรวจสอบการทำธุรกรรมต่างๆได้เพื่อให้เกิดความโปร่งใส อีกทั้งยังสามารถออกแบบสัญญาอัจฉริยะหรือ Smart Contract เพื่อให้การทำธุรกรรมต่างๆสามารถทำได้โดยอัตโนมัติโดยไม่จำเป็นต้องมีคนหรือพนักงานมาเป็นคนทำงาน
ในต่างประเทศได้มีการนำบล็อกเชนมาใช้ในการซื้อขายสินค้าทางการเกษตรเพื่อที่จะสามารถยืนยันที่มาที่มาของสินค้าได้ว่าเป็นของแท้มาจากแหล่งกำเนิดจริงหรือไม่ หรือการซื้อขายแลกเปลี่ยนพลังงานในท้องถิ่นก็สามารถใช้บล็อกเชนในการทำธุรกรรมได้
บล็อกเชนกับธุรกรรมด้าน Factoring
SME บางส่วนยังไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อที่ใช้ใบแจ้งหนี้มาค้ำประกันหรือ Factoring เนื่องจากผู้ให้บริการสินเชื่อมีความกังวลเรื่องการปลอมแปลงเอกสารใบแจ้งหนี้เพื่อมาขอเงินกู้และการยื่นขอสินเชื่อซ้ำซ้อน (Double Financing)
ธนาคารแห่งประเทศไทย จึงอยู่ระหว่างการพัฒนาระบบนิเวศสำหรับการให้บริการ Digital Factoring เพื่อช่วยให้ SME สามารถเข้าถึงแหล่งทุนและสภาพคล่อง ผ่านสินเชื่อที่ใช้ใบแจ้งหนี้ดิจิทัลและรายรับอันเกิดจากใบแจ้งหนี้นั้นเป็นหลักประกัน (Digital Factoring) โดยคาดว่าระบบดังกล่าวจะเสร็จสมบูรณ์ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2564
เห็นได้ว่าบล็อกเชนมีคุณสมบัติที่ช่วยให้ SME สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้นและยังช่วยลดต้นทุนทางธุรกิจลงได้อีก อนาคตเมื่อมีความชัดเจนทางด้านกฎหมาย ก็จะทำให้ SME มีทางเลือกได้มากขึ้น
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี