เทียบให้ชัดจัดให้เคลียร์ กู้เงิน VS ระดมทุน แหล่งเงินไหนใช่สุดสำหรับธุรกิจ SME

TEXT : นเรศ เหล่าพรรณราย





     การหาแหล่งเงินทุนของผู้ประกอบการ SME จะแบ่งออกเป็น 2 แนวทางหลัก คือ การกู้เงินผ่านช่องทางของตลาดเงิน และการระดมทุนผ่านช่องทางตลาดทุน ซึ่ง 2 แนวทางนี้มีความแตกต่างกัน และมีข้อดีข้อเสียที่ไม่เหมือนกัน มาดูกันว่าแนวทางใดที่เหมาะสมกับรูปแบบธุรกิจของเราที่สุด
 

ช่องทางการกู้เงินมีเยอะกว่าแต่ต้นทุนสูง


     ปัจจุบันได้มีสถาบันการเงินที่ให้บริการสินเชื่อสำหรับผู้ประกอบการ SME จำนวนมาก ทั้งธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ทั้งวิธีการกู้แบบต้องมีหลักประกันและไม่มีหลักประกัน นอกจากนี้ขั้นตอนการพิจารณาเงินกู้ยังใช้เวลาที่รวดเร็วกว่าการระดมทุนซึ่งมีปัจจัยต้องพิจารณาเยอะกว่า ข้อนี้การกู้เงินจะได้เปรียบการระดมทุน


     อย่างไรก็ตามการกู้เงินจะทำให้เกิดต้นทุนสำคัญกับผู้ประกอบการนั่นคือ “ดอกเบี้ย” ที่อาจจะสูงถึงระดับเลข 2 หลักซึ่งต่างจากการระดมทุนที่มีเพียงต้นทุนเรื่องของค่าที่ปรึกษาและค่าธรรมเนียมที่ไม่เกิน 2-3 เปอร์เซ็นต์ 



 
 
ระดมทุนแล้วไม่จบยังมีพันธะผูกพัน


     การกู้เงินจะทำให้เกิดข้อผูกพันระหว่างสถาบันการเงินและผู้กู้เฉพาะช่วงเวลาที่อยู่ในการชำระเงินกู้เท่านั้น เช่น สินทรัพย์ที่นำมาค้ำประกันอาจจะต้องอยู่ในการดูแลของธนาคารไปก่อน แต่เมื่อสิ้นสุดการชำระเงินกู้แล้วข้อผูกพันกับสถาบันการเงินก็จะจบไป 


     แต่การระดมทุนจะทำให้เกิดข้อผูกพันกับผู้ระดมทุนในระยะเวลาที่นานกว่า หากผลของการรระดมทุนยังไม่เกิดผลตอบรับ เช่น ยังไม่สามารถเข้าตลาดหลักทรัพย์ได้หรือผลประกอบการยังขาดทุน และการที่บริษัทฯ ยังไม่ได้อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ทำให้การเปลี่ยนมือของผู้ถือหุ้นเกิดขึ้นได้ยาก 


     ประเด็นนี้ผู้ประกอบการจะต้องชั่งน้ำหนักว่าต้องการจะครอบครองธุรกิจแต่เพียงผู้เดียวหรือกลุ่มเดียวหรือไม่ หากเลือกข้อนี้การหาเงินทุนด้วยการกู้เงินอาจจะเป็นทางเลือก แต่ถ้าเปิดทางให้มีผู้ถือหุ้นอื่นโดยอาจจะเข้ามายุ่งเกี่ยวในการบริหารก็เลือกทางของการระดมทุน



 

เงินกู้มีความเสี่ยงอัตราดอกเบี้ย


     ใช่ว่าการกู้เงินจะทำให้เรามีต้นทุนคงที่เพราะมีความเป็นไปได้ที่อัตราดอกเบี้ยอาจจะเพิ่มสูงขึ้นตามแนวโน้มดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลาง ซึ่งจะส่งผลให้ต้นทุนของผู้ประกอบการเพิ่มขึ้นโดยไม่รู้ตัว ยกเว้นแต่ทำสัญญาเงินกู้รูปแบบที่คงอัตราดอกเบี้ยคงที่ หรือใช้วิธีของการเช่าซื้อ (Leasing) ซึ่งจะกำหนดอัตราดอกเบี้ยคงที่ตลอดอายุสัญญา ส่วนการระดมทุนนั้นจะมีต้นทุนคงที่ และเสียเพียงครั้งเดียวในช่วงแรกของการระดมทุนในรูปแบบของค่าธรรมเนียมที่ปรึกษาทางการเงิน



 

หุ้นกู้แปลงสภาพจุดตรงการระหว่างการกู้และระดมทุน


      ถ้าหากผู้ประกอบการที่เลือกไม่ได้ว่าจะหาแหล่งทุนแบบใด หรือต้องการทั้ง 2 แบบสามารถเลือกแนวทางแบบผสมผสานก็คือ หุ้นกู้แปลงสภาพ ก็ได้ โดยมีหลักการคือผู้ประกอบการเสนอขายหุ้นกู้ให้กับผู้ลงทุนโดยให้สิทธิผู้ถือหุ้นกู้สามารถแปลงส่วนของหนี้ที่ถืออยู่ให้กลายเป็นส่วนของผู้ถือหุ้นได้ ตามเงื่อนไขและสัดส่วนตามที่กำหนด 


      ทั้งนี้ส่วนของผู้ถือหุ้นอาจจะถูกกำหนดให้แยกออกจากส่วนของผู้ถือหุ้นเดิม โดยผู้ถือหน่วยไม่ได้รับสิทธิในการเป็นคณะกรรมการ แต่จะได้รับผลตอบแทนในรูปของเงินปันผลแทน เป็นทางออกสำหรับผู้ประกอบการที่ต้องการเงินทุนแต่ไม่ต้องการให้มีผู้ถือหุ้นอื่นมาร่วมในการบริหาร


      ไม่ว่าจะกู้เงินหรือระดมทุนต่างมีข้อดีข้อเสียและข้อแตกต่างกัน ผู้ประกอบการจึงควรมองหาแนวทางที่เหมาะสมกับตัวเอง
 




 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: FINANCE

หมัดเด็ด วิธีเอาชนะเงินเฟ้อ ฉบับคุณปู่ Warren Buffett ที่ใครก็ใช้ได้

หนึ่งในปัญหาของคนทำธุีกิจวันนี้คือ “ภาวะเงินเฟ้อ” เงินเท่าเดิม แต่กลับซื้อสินค้าและวัตถุดิบได้น้อยลงกว่าเดิม ทำให้ต้นทุนเพิ่มสูงขึ้น แถมขายของก็ไม่ได้ดีเหมือนเก่า เลยชวนมาดูเคล็ดลับบริหารการเงินและลงทุนในภาวะเงินเฟ้อ จาก “วอร์เรน บัฟเฟตต์” เจ้าพ่อนักลงทุนกัน

รวมสินเชื่อรีไฟแนนซ์ ช่วยลดภาระหนี้ ธุรกิจไม่สะดุด

ภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ และวิกฤตที่รุมเร้าเข้ามา อาจทำให้ธุรกิจต้องสะดุด ขาดสภาพคล่องเลยอยากชวนมารีไฟแนนซ์สินเชื่อธุรกิจ อย่างน้อยเพื่อช่วยยืดระยะเวลาการใช้หนี้ออกไป ช่วยลดดอกเบี้ย ไปจนถึงอาจได้เงินอีกสักก้อนมาช่วยหมุนเวียนในธุรกิจ

ขายดีอย่างไรไม่ให้มีความเสี่ยง 5 เคล็ดลับบริหารสภาพคล่องจาก บสย.

อุปสรรคสำคัญที่ทำให้ธุรกิจของเอสเอ็มอีต้องสะดุดหยุดชะงักหรือไปต่อได้ไม่สุด คือ เงินทุนที่มีอยู่จำกัดจำเขี่ย ต่อให้ขายดีเพียงใด ถ้าไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันก็กู้เงินจากธนาคารไม่ได้