ปลดล็อกธุรกิจปีฉลูด้วย “5 แนวทางบริหารการเงิน” รับมือวิกฤตระลอกใหม่

TEXT : เจษฎา     





     ในปัจจุบัน “การบริหารจัดการด้านการเงินส่วนบุคคล” กลายเป็นหัวข้อ และปัจจัยสำคัญทั้งกับบุคคลทั่วไป และผู้ประกอบการไปเรียบร้อยแล้ว เพราะหากเกิดปัญหาเรื่อง “เงิน” ไม่ว่าเราจะเป็นลูกจ้างรายวัน พนักงานที่รับเงินเดือน หรือผู้ประกอบกิจการส่วนตัว ก็ย่อมได้รับผลกระทบกันทั่วหน้า ยิ่งทุกวันนี้สถานการณ์ไวรัสโคโรนาที่ยังไม่สงบลง ก็ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกจนลามมาถึงเศรษฐกิจไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้


      อย่างไรก็ตาม มีหลายๆ คนพยายามหาวิธีการแก้ปัญหาด้านการเงินให้กับตัวเอง หรือใช้เป็นแนวทางการรับมือในอนาคต ซึ่งบทความนี้จะช่วยไขข้อข้องใจว่า เราควรต้องทำอย่างไรให้สามารถบริหารจัดการการเงินได้อย่างมีความสุขตลอดปี 2021



 
           
1. หาเงินให้มากขึ้น
               

     ฟังดูง่าย แต่ไม่ง่ายและไม่ยากซะทีเดียว สำหรับบุคคลทั่วไปที่รับค่าจ้างหรือเงินเดือน อาจมองหางานเสริม ขายของออนไลน์ หรืองาน Freelance เพื่อเพิ่มเงินในกระเป๋าให้มากขึ้น แต่ถ้าเป็นธุรกิจหรือหน่วยงานที่ต้องหารายได้หล่อเลี้ยงองค์กร การพัฒนาทักษะของพนักงานหรือเจ้าหน้าที่ด้านการตลาด เจ้าหน้าที่แอดมิน และเจ้าหน้าที่ที่ต้องสื่อสารกับลูกค้าเป็นประจำ ก็เป็นสิ่งจำเป็นมากๆ คนกลุ่มนี้ควรเพิ่มสกิลการตลาดอย่าง Up Selling และ Cross Selling รวมถึงทักษะการสื่อสารเชิงบวก เพื่อจูงใจให้ลูกค้าจ่ายเงินเพิ่มขึ้นด้วยผลประโยชน์และความคุ้มค่าที่จะได้รับมากกว่าเดิม
               

     นอกจากนี้หากใครไม่พร้อมลงทุนเพิ่มเติม เช่น พัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ซื้อของมาขายบนโลกออนไลน์ อาจมองเรื่องการลงทุนในรูปแบบอื่นเช่น หุ้น พันธบัตร ฉลากออมสิน ซึ่งควรศึกษาผลตอบแทนการลงทุนให้ดี และเลือกแบบที่มีความเสี่ยงน้อยที่สุดหรือเหมาะสมกับตัวเรามากที่สุด



 
           
2. ตัดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น
               

      เคยรู้ไหมว่าเงิน 10,000 บาทของเรา หายไปกับเรื่องอะไรบ้าง มีบ้างหรือเปล่าที่ในจำนวนนั้นเป็นค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น และเป็นค่าใช้จ่ายที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ เช่น ค่ากาแฟ ร้านอาหาร การสังสรรค์ การช้อปปิ้งออนไลน์ ซึ่งมากเกินความจำเป็น หรือหากเป็นผู้ประกอบธุรกิจ อาจมองในเรื่องของค่าใช้จ่ายหรือค่าบริการรายเดือนที่ต้องเสียไปแบบไม่เกิดประโยชน์ ดังนั้น เราต้องพยายามกำกับและติดตามเงินเหล่านั้น เพื่อให้ไหลออกจากกระเป๋าและบัญชีให้น้อยที่สุด โดยในปัจจุบันมีแอปพลิเคชันมากมายที่ช่วยแจ้งเตือนเวลาเงินออกจากบัญชี วิธีนี้จะช่วยให้เราตระหนักถึงการใช้เงินและจำกัดอารมณ์ในการใช้เงินได้ในระดับหนึ่ง



 
           
3. ระมัดระวังกระแสเงินสด
               

     ไม่มีอะไรน่ากลัวเท่ากับการเปิดกระเป๋าเงินแล้วไม่มีธนบัตร กดเงินในบัญชีแล้วพบว่าเหลือไม่พอให้กดแบงค์ร้อย รูดบัตรเครดิตก็เกินวงเงิน หรือมีเงินไม่พอจ่ายค่าแรงพนักงาน ซึ่งจากข้อ 1 กับ ข้อ 2 จะช่วยบริหารกระแสเงินสดจนเราสามารถหายใจได้คล่องขึ้นในช่วงสิ้นเดือน ส่วนบริษัทต่างๆ เองก็ต้องประเมินค่าใช้จ่ายรายเดือนให้ถูกต้อง และประมาณการค่าใช้จ่ายให้สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ไม่ต่ำกว่า 6 เดือน เพราะถ้าไม่มีเงินหมุนเวียนธุรกิจแล้วต้องเผชิญปัญหาและอุปสรรคขึ้นมา ธุรกิจอาจล้มพังได้ในทันที



 
           
4. กำจัดหนี้
               

      ยิ่งมีหนี้มากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งกระทบกับและเป็นภาระต่อค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือนมากขึ้นเท่านั้น ดังนั้น ใครที่มีหนี้สิน ต้องเร่งหาเงินและพยายามชำระเงินให้ตรงเวลา รวมถึงหยุดก่อภาระหนี้สินในระยะต่อไปด้วย



 
           
5. ปกป้องทรัพย์สินด้วยที่ปรึกษาทางการเงิน
               

     บางครั้งเราต้องยอมรับว่าเราไม่ได้เก่งไปทุกเรื่อง หากเรากำลังพยายามฟันฝ่าอุปสรรคทางการเงิน กำลังจะหลุดพ้นการเป็นหนี้ กำลังจะมีสภาพคล่องที่ดี สิ่งที่ควรทำลำดับถัดไปคือการมองหาที่ปรึกษาด้านการเงิน ไม่ว่าจะเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินจากบริษัทต่างๆ อาจารย์ในมหาวิทยาลัย วิทยากรในงานอบรมสัมมนาต่างๆ ซึ่งเป็นโอกาสที่จะทำให้เราสามารถแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและขอความรู้เพิ่มเติมได้อย่างเต็มที่
               
               




www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: FINANCE

หมัดเด็ด วิธีเอาชนะเงินเฟ้อ ฉบับคุณปู่ Warren Buffett ที่ใครก็ใช้ได้

หนึ่งในปัญหาของคนทำธุีกิจวันนี้คือ “ภาวะเงินเฟ้อ” เงินเท่าเดิม แต่กลับซื้อสินค้าและวัตถุดิบได้น้อยลงกว่าเดิม ทำให้ต้นทุนเพิ่มสูงขึ้น แถมขายของก็ไม่ได้ดีเหมือนเก่า เลยชวนมาดูเคล็ดลับบริหารการเงินและลงทุนในภาวะเงินเฟ้อ จาก “วอร์เรน บัฟเฟตต์” เจ้าพ่อนักลงทุนกัน

รวมสินเชื่อรีไฟแนนซ์ ช่วยลดภาระหนี้ ธุรกิจไม่สะดุด

ภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ และวิกฤตที่รุมเร้าเข้ามา อาจทำให้ธุรกิจต้องสะดุด ขาดสภาพคล่องเลยอยากชวนมารีไฟแนนซ์สินเชื่อธุรกิจ อย่างน้อยเพื่อช่วยยืดระยะเวลาการใช้หนี้ออกไป ช่วยลดดอกเบี้ย ไปจนถึงอาจได้เงินอีกสักก้อนมาช่วยหมุนเวียนในธุรกิจ

ขายดีอย่างไรไม่ให้มีความเสี่ยง 5 เคล็ดลับบริหารสภาพคล่องจาก บสย.

อุปสรรคสำคัญที่ทำให้ธุรกิจของเอสเอ็มอีต้องสะดุดหยุดชะงักหรือไปต่อได้ไม่สุด คือ เงินทุนที่มีอยู่จำกัดจำเขี่ย ต่อให้ขายดีเพียงใด ถ้าไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันก็กู้เงินจากธนาคารไม่ได้