หนึ่งในปัจจัยที่จะช่วยให้ SME ลดต้นทุนทางการเงิน ตลอดจนเพิ่มช่องทางการชำระค่าสินค้าและบริการ ก็คือโครงสร้างพื้นฐานของการชำระเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทยในฐานะผู้กำกับดูแล จึงได้เปิดเผยแผนระบบการชำระเงิน ฉบับที่ 4 โดยมี Vision คือ Digital Payment เป็นทางเลือกหลักในการชำระเงิน
แผนกลยุทธ์ในการชำระเงิน ฉบับที่4 (พ.ศ. 2562-2564) นั้นจะส่งเสริมให้ Digital Payment เป็นทางเลือกหลักในการชําระเงิน ภายใต้ระบบการชําระเงินที่มีประสิทธิภาพ ปลอดภัย ต้นทุนต่ำ ตรงกับความต้องการของผู้ใช้บริการ และยังสนับสนุนการเติบโตของธุรกิจ SME ตลอดจน E-Commerce และธุรกิจขนาดใหญ่ ยกระดับความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ และพร้อมเชื่อมโยงกับต่างประเทศได้
ขณะเดียวกันยังได้ร่วมมือกับกรมสรรพากรนำระบบภาษีของประเทศไทยเข้าสู่ระบบ Digital ทั้งการปรับปรุงโครงสร้างต่างๆ ให้ผู้เสียภาษีประเมินและชำระภาษีได้อย่างรวดเร็วขึ้น ตั้งแต่กระบวนการลงทะเบียน, Filing, Payment, Refund, การให้บริการต่างๆ, การตรวจสอบ ตลอดจนการบริการลูกค้าขึ้นมาอยู่บนออนไลน์ทั้งหมด
สำหรับผู้ประกอบการ SME ที่ดำเนินธุรกิจไม่ว่าจะออนไลน์หรือออฟไลน์ ก็สามารถที่จะนำเทคโนโลยีทางการเงินอย่าง Digital Payment มาใช้เพิ่มช่องทางการชำระเงินให้กับลูกค้า ตลอดจนการทำธุรกรรมภายในของบริษัทได้เช่นกัน โดยช่องทางของ Digital Payment มีหลากหลายช่องทาง อย่างเช่น
- Social Platform
ผ่านทางโซเชียลมีเดียต่างๆ อย่างเช่น Facebook และ Line ซึ่งมีฟีเจอร์ที่สามารถชำระเงินได้ในตัวเอง เพื่อรองรับกับพฤติกรรมของคนไทยที่นิยมซื้อของผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์ โดยเจ้าของร้านสามารถปิดการขายได้ในทันที ซึ่งสะดวกและรวดเร็ว ตลอดจนมีแคมเปญส่งเสริมการตลาดออกมาอย่างต่อเนื่อง
- Payment Gateway
ในอดีตการใช้งาน Payment Gateway อาจจะเป็นเรื่องที่ใช้ต้นทุนสูงเนื่องจากบริษัทผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ต้องใช้เงินลงทุนที่ค่อนข้างสูงในการพัฒนา จึงมีแต่บริษัทขนาดใหญ่ที่ใช้บริการ แต่ปัจจุบันผู้ผลิตซอฟต์แวร์สามารถสร้างแพลตฟอร์มการชำระเงินออนไลน์ที่มีต้นทุนต่ำลงเพื่อให้ผู้ประกอบการ SME สามารถใช้งานได้ โดยสามารถชำระได้ทั้งตัดบัญชีธนาคารและบัตรเครดิต ตลอดจนการสร้าง QR Code เพื่อให้สามารถชำระเงินได้ทางแอปพลิเคชั่นของธนาคาร
- สกุลเงินดิจิทัล
เป็นทางเลือกหนึ่งในการชำระเงินในยุคนี้จากกระแสของสกุลเงินดิจิทัล อย่างเช่น บิทคอยน์ที่กำลังมาแรง ด้วยจุดเด่นของมูลค่าสกุลเงินดิจิทัลที่มีแนวโน้มเติบโต ทำให้มีผู้ประกอบการพัฒนาแพลตฟอร์มที่เปิดโอกาสให้ใช้สกุลเงินดิจิทัลที่ถืออยู่นำมาใช้จ่ายเงินได้โดยจะทำการแปลงสกุลเงินดิจิทัลให้เป็นเงินบาทให้ร้านค้ารับได้อย่างเรียลไทม์ หมดกังวลในเรื่องความผันผวนของราคา แม้แต่ Paypal ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มการชำระเงินระดับโลกยังเริ่มเปิดให้ใช้สกุลเงินดิจิทัลในการใช้จ่ายได้แล้ว
ในยุคที่โลกกำลังเข้าสู่สังคมไร้เงินสด การจับจ่ายซื้อของด้วยเงินสดจะเริ่มลดลง ผู้ประกอบการ SME ต้องปรับตัวตามเทคโนโลยีและแนวโน้มของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปให้ทัน ซึ่ง Digital Payment เป็นหนึ่งในเทคโนโลยีที่ต้องเริ่มศึกษาและนำมาใช้ตั้งแต่วันนี้
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี