เรื่อง อชิระ ประดับกุล
เคยเกิดเป็นข่าวครึกโครมกันมาแล้ว สำหรับดาราสาวชื่อดัง กรณีนำสำเนาบัตรประชาชนของผู้อื่นมารับค่าจ้าง จะด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของเธอเองหรือความบกพร่องของสำนักงานบัญชี ตามที่เธอแถลงข่าวนั้นก็ตาม ก็ทำให้ดาราท่านอื่นๆ ถึงกับเสียวสันหลังวาบเพราะท้ายที่สุดแล้วอาจโดนตรวจสอบภาษีย้อนหลังได้ในที่สุดเป็นรายๆ ไป
นักแสดงส่วนใหญ่ที่ไม่อยากเสียภาษีตอนสิ้นปี หรือเสียให้น้อยที่สุดก็จะหาวิธีกระจายฐานภาษี ด้วยวิธีการต่างๆ นาๆ ไม่ว่าจะเป็น การจัดตั้งคณะบุคคล, ห้างหุ้นส่วน (จำกัด) หรือบริษัท จำกัด เป็นต้น หรือหากไม่จัดตั้งลักษณะดังกล่าวก็ต้องหาสำเนาบัตรประชาชนใครสักคนที่แน่ใจได้ว่าจะไม่มีรายได้และไม่จำเป็นต้องยื่นเสียภาษีในปีนั้นๆ มารับเงินค่าตัวแทนตัวเอง!
เรื่องลักษณะดังกล่าวเกิดขึ้นมานานแล้วล่ะครับ จะด้วยคำแนะนำจากสำนักงานบัญชีที่อยากได้ลูกค้าเป็นนักแสดงมีชื่อเสียงจึงพยายามหาวิธีการให้นักแสดงเหล่านั้นเสียภาษีน้อยที่สุดก็ตาม, จากคำแนะนำของเพื่อนนักแสดงด้วยกัน หรือความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ และแม้กระทั่งในทางธุรกิจอื่นๆ เองก็มีการปฎิบัติกรณีดังกล่าวเช่นกัน
กรณีที่ธุรกิจทั่วไปนำเรื่องลักษณะดังกล่าวมาปฏิบัติ ซึ่งถือได้ว่าเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายนั่น เช่น กรณีต้องการบันทึก ค่าใช้จ่ายมากๆ เพื่อให้กำไรสุทธิของกิจการมียอดต่ำๆ จนทำให้เสียภาษีได้ในจำนวนที่น้อยที่สุดหรือไม่เสียเลย
หากมีค่าใช้จ่ายมากจนเกิดผลขาดทุน ค่าใช้จ่ายลักษณะดังกล่าวมักจะเป็นกรณีที่ผู้รับเป็นบุคลธรรมดา เช่น กรณี ค่าจ้าง, ค่าที่ปรึกษา, หรือค่าบริการ เป็นต้น ซึ่งแท้จริงแล้วอาจไม่มีการจ่ายเงินแต่แสร้งทำเสมือนว่ามีการจ่ายโดยการแนบสำเนาบัตรประชาชนของใครสักคนที่มีการเซ็นรับเงินเรียบร้อยนำมาแนบเอกสารในการจัดทำบัญชี
จากนั้น นำเงินได้ดังกล่าวที่ไม่มีการจ่ายจริงมาคำนวณ ภาษี หัก ณ ที่ จ่าย ในอัตรา 3 เปอร์เซ็นต์ หรือ 5 เปอร์เซ็นต์ แล้วแต่ค่าใช้จ่ายนั้นๆ ซึ่งเมื่อเทียบกับการเสียภาษีเงินได้สิ้นปีที่อัตรา 30 เปอร์เซ็นต์ ก็จะถือว่าต่ำมาก
ตัวอย่าง
ขั้นที่ 1 หากกิจการมีการบันทึก ค่าจ้าง 100,000 บาท (ไม่มีการจ่ายจริงแต่มีการแนบเอกสำเนาบัตรประชาชนที่มี
ลายเซ็นผู้รับเงินเรียบร้อยประกอบการบันทึกบัญชี)
ขั้นที่ 2 จากนั้นนำส่งภาษี หัก ณ ที่จ่าย 3 เปอร์เซ็นต์ = 100,000 x 3% = 3,000 บาท
ขั้นที่ 3 ค่าใช้จ่ายที่ไม่มีการจ่ายจริงดังกล่าวเมื่อมีการปิดบัญชีตอนสิ้นปีจะช่วยให้กำไรสุทธิของกิจการลดลงได้ถึง 100,000 บาท
หรือไม่ต้องเสียภาษีเท่ากับจำนวนเงิน 100,000 x 30% = 30,000 บาท
ผลที่ได้ ประหยัดภาษีไปถึง 30,000 – 3,000 = 27,000 บาท
หมายเหตุ
หากแต่การกระทำลักษณะดังกล่าวมักจะนำสำเนาบัตรประชาชนของผู้ที่ไม่มีเงินได้หรือมีฐานเงินได้ต่ำจนไม่ถึงขั้นที่ต้องเสียภาษีในปีดังกล่าว เช่น สำเนาบัตรประชาชนของพ่อบ้าน, แม่บ้าน หรือผู้ที่มีอายุมาก
เชื่อว่าการกระทำลักษณะดังกล่าวยังคงมีอยู่ในหลายธุรกิจ แต่จะมากหรือน้อยก็เท่านั้น แต่หากโดนตรวจสอบพบการปฏิบัติเช่นว่านี้ กฏหมายที่เกี่ยวข้องก็เอาผิดได้อย่างไม่ต้องสงสัยเช่นกัน
ตามประมวลรัษฎากร “มาตรา 37 ผู้ใด
(1) โดยรู้อยู่แล้วหรือโดยจงใจแจ้งข้อความเท็จ หรือให้ถ้อยคำเท็จ หรือ ตอบคำถามด้วยถ้อยคำอันเป็นเท็จ หรือนำพยานหลักฐานเท็จมาแสดง เพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากรตามลักษณะนี้ หรือ
(2) โดยความเท็จ โดยฉ้อโกงหรืออุบาย หรือโดยวิธีการอื่นใดทำนองเดียวกัน หลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากรตามลักษณะนี้ ต้องระวางโทษจำคุก ตั้งแต่สามเดือนถึงเจ็ดปี และปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสองแสนบาท(พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 16) พ.ศ. 2502 ใช้บังคับ 5 พ.ย. 2502เป็นต้นไป )”
การวางแผนภาษีของธุรกิจของคุณอาจปรึกษาได้กับทางสำนักงานบัญชี หากคุณไม่มีความรู้ในขั้นตอนและกระบวนการ แต่ทั้งนี้ การวางแผนภาษีที่เกิดขึ้นจะต้องไม่ขัดกับข้อกฏหมายด้วยเช่นกัน ซึ่งก็มีหลายวิธีที่สามารถกระทำได้และไม่ผิดกฏหมาย ดังนั้นหากธุรกิจของคุณมีการวางแผนภาษีไว้แต่เนิ่นๆ
เจ้าของธุรกิจอย่างคุณควรมีส่วนรับทราบในการวางแผนภาษีดังกล่าวอย่างคร่าวๆว่ามีขั้นตอนอย่างไรและสอบถามถึงผู้ที่ให้คำแนะนำว่าขัดต่อกฏหมายข้อใดหรือไม่ เพราะหากมีการวางแผนภาษีด้วยวิธีการที่ขัดต่อกฎหมายและตรวจสอบพบได้โดยกรมสรรพากรในที่สุด คุณเองคงจะไม่สามารถ “โบ้ย” ความผิดไปให้สำนักงานบัญชี หรือ ผู้ที่ให้คำแนะนำในการวางแผนภาษี ว่าเป็นผู้จัดทำและ ตัวเองไม่ทราบเรื่องดังกล่าว ได้
Crate by smethailandclub.com