หมดห่วงเรื่องเงินกู้! มาดูวิธีธุรกิจ SME กู้เงินได้ฉลุยผ่านช่องทางดิจิทัล

TEXT : นเรศ เหล่าพรรณราย





     ปัญหาหนึ่งที่ผู้ประกอบการ SME ต้องประสบพบเจอก็คือการที่ไม่สามารถขอกู้เงินจากธนาคารได้ เนื่องจากรายได้ไม่แน่นอน อีกทั้งยังขาดผู้ค้ำประกัน ต่างจากผู้ที่ทำงานประจำที่มีรายได้อย่างสม่ำเสมอที่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้ได้ไม่ยากเท่า
               

     แต่ปัจจุบันได้มีกฎเกณฑ์ใหม่รวมถึงเทคโนโลยีที่ช่วยให้ผู้ประกอบการ SME สามารถที่จะเข้าถึงเงินกู้จากธนาคาร ไม่ว่าจะกู้มาเพื่อใช้ในกิจการหรือส่วนตัวก็ตาม ไปดูกันว่ามีแนวทางใดบ้าง



 
 
​Digital Lending พิจารณาวงเงินกู้จากยอดการทำธุรกรรม
               

     ปัจจุบันได้มีบางธนาคารที่ให้บริการสินเชื่อทางระบบดิจิทัลหรือ Digital Lending โดยที่ผู้กู้มีบัญชีธนาคารนั้นๆและมียอดการทำธุรกรรมต่างๆ เช่น รับเงินโอนหรือใช้จ่ายต่างๆ ผ่านแอปพลิเคชันของธนาคาร ระบบจะทำการรวบรวมและประมวลผลข้อมูลการทำธุรกรรมและพิจารณาเป็นเงินกู้ส่วนบุคคลให้ โดยสามารถปล่อยกู้ให้ได้สูงสุดถึง 3 เท่าของรายรับโดยเฉลี่ย แต่อาจจะลดทอนลงตามความเสี่ยงอื่นๆ


     โดยที่ขั้นตอนการขอสินเชื่อสามารถทำได้ผ่านทางช่องทางออนไลน์ทั้งหมด โดยไม่จำเป็นต้องไปที่สาขาแต่อย่างไร เพียงแค่ลูกค้าจะต้องยืนยันตัวเองก่อนการใช้บริการ




 
กู้ผ่านแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซที่ร่วมกับธนาคาร               


     ผู้ประกอบการที่ขายของผ่านทางอีคอมเมิร์ซถือเป็นกลุ่มที่สามารถวิเคราะห์วงเงินให้สินเชื่อได้ผ่านทางยอดขายและยอดการทำธุรกรรมต่างๆ โดยปัจจุบันได้มีผู้ให้บริการอีคอมเมิร์ซหลายรายที่ทำงานร่วมกับธนาคารในการปล่อยสินเชื่อหมุนเวียนทางธุรกิจให้กับผู้ประกอบการที่เปิดร้านผ่านทางแพลตฟอร์มออนไลน์ จุดเด่นคือความเร็วในการอนุมัติเนื่องจากมีการเก็บข้อมูลการทำธุรกรรมไว้อยู่แล้ว




               
กู้ผ่าน P2P Lending           

 
     ธนาคารแห่งประเทศไทยเพิ่งจะอนุญาตให้สามารถกู้ยืมเงินระหว่างบุคคลผ่านทางช่องทางอิเล็กทรอนิกส์หรือ P2P Lending ได้เมื่อไม่นานมานี้ โดยผู้ให้บริการแพลตฟอร์มทำหน้าที่เป็นคนกลางเชื่อมระหว่างผู้ปล่อยเงินกู้กับผู้ขอกู้เท่านั้น ซึ่งจะช่วยเปิดโอกาสให้ผู้ที่ไม่มีอาชีพและรายได้ที่เป็นหลักแหล่งแน่นอนได้มีโอกาสเข้าถึงเงินกู้ได้    โดยช่วงแรกจำกัดวงเงินกู้อยู่ที่ไม่เกินรายละ 15,000 บาทต่อปี



               
 
กู้ผ่าน Pico Finance               


     Pico Finance หรือสินเชื่อสำหรับกลุ่มผู้ที่ขาดแหล่งรายได้ที่ชัดเจน เป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับผู้ประกอบธุรกิจที่แม้ว่าอัตราดอกเบี้ยจะอยู่ในระดับสูงแต่ถือว่ายังต่ำกว่าการกู้เงินนอกระบบ ปัจจุบันมีผู้ให้บริการดังกล่าวกระจายอยู่ทั่วประเทศในรูปแบบของ Non Bank
               

     ส่วนการกู้เงินในรูปแบบของ Mortgage Loan หรือการกู้เพื่อที่อยู่อาศัยจะยังไม่เข้าข่ายที่อยู่ในบริการที่กล่าวมานี้ หากต้องการจะกู้สามารถขอคำปรึกษาได้ที่แต่ละธนาคารโดยตรง ซึ่งสถาบันการเงินจะพิจารณาจากวงเงินหมุนเวียนในกิจการของเรารวมถึงประเภทของธุรกิจประกอบการพิจารณา
           







    
 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: FINANCE

หมัดเด็ด วิธีเอาชนะเงินเฟ้อ ฉบับคุณปู่ Warren Buffett ที่ใครก็ใช้ได้

หนึ่งในปัญหาของคนทำธุีกิจวันนี้คือ “ภาวะเงินเฟ้อ” เงินเท่าเดิม แต่กลับซื้อสินค้าและวัตถุดิบได้น้อยลงกว่าเดิม ทำให้ต้นทุนเพิ่มสูงขึ้น แถมขายของก็ไม่ได้ดีเหมือนเก่า เลยชวนมาดูเคล็ดลับบริหารการเงินและลงทุนในภาวะเงินเฟ้อ จาก “วอร์เรน บัฟเฟตต์” เจ้าพ่อนักลงทุนกัน

รวมสินเชื่อรีไฟแนนซ์ ช่วยลดภาระหนี้ ธุรกิจไม่สะดุด

ภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ และวิกฤตที่รุมเร้าเข้ามา อาจทำให้ธุรกิจต้องสะดุด ขาดสภาพคล่องเลยอยากชวนมารีไฟแนนซ์สินเชื่อธุรกิจ อย่างน้อยเพื่อช่วยยืดระยะเวลาการใช้หนี้ออกไป ช่วยลดดอกเบี้ย ไปจนถึงอาจได้เงินอีกสักก้อนมาช่วยหมุนเวียนในธุรกิจ

ขายดีอย่างไรไม่ให้มีความเสี่ยง 5 เคล็ดลับบริหารสภาพคล่องจาก บสย.

อุปสรรคสำคัญที่ทำให้ธุรกิจของเอสเอ็มอีต้องสะดุดหยุดชะงักหรือไปต่อได้ไม่สุด คือ เงินทุนที่มีอยู่จำกัดจำเขี่ย ต่อให้ขายดีเพียงใด ถ้าไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันก็กู้เงินจากธนาคารไม่ได้