ทำธุรกิจแบบไหนดีสุด! ก่อหนี้เพื่อขยายกิจการ VS ปล่อยให้โตตามธรรมชาติ

TEXT : นเรศ เหล่าพรรณราย





Main Idea
 
 
     ข้อคิดการกู้เงินมาลงทุนหรือขยายธุรกิจ
 
 
  • ในภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ต้นทุนการกู้เงินไม่สูงมาก จึงเป็นโอกาสให้นำมาขยายกิจการ
 
  • จะช่วยให้สถาบันการเงินเข้าใจในธุรกิจ และพร้อมจะปล่อยเงินกู้ในวงเงินที่สูงขึ้นในอนาคต
 
  • การขยายธุรกิจด้วยตัวเองอย่างช้าๆ อาจเสียเปรียบคู่แข่งที่ใช้เครื่องมือทางการเงินมาขยายกิจการ
 
  • การเป็นหนี้ในระดับที่พอดี สร้างลาภอันประเสริฐได้ หากต้องการขยายกิจการในอนาคต
 


 
     ผู้ประกอบการ SME ที่กิจการยังสามารถเติบโตได้แม้ในภาวะที่เกิดวิกฤตเช่นในปัจจุบัน อาจจะได้รับข้อเสนอจากสถาบันการเงินให้ตัดสินใจกู้เงินมาลงทุนหรือขยายธุรกิจเพิ่มในเวลานี้ โดยได้ปัจจัยบวกมาจากอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่อยู่ในระดับต่ำเป็นประวัติการณ์ซึ่งจะทำให้ต้นทุนการกู้ยืมต่ำลง
               

     คำถามคือธุรกิจที่มีกระแสเงินสดดีอยู่แล้วและมีฐานเงินทุนที่มากพอ มีความจำเป็นต้องกู้เงินจากธนาคารให้เป็นภาระอีกหรือไม่??



               

     โบราณอาจมีคำกล่าวว่า “การไม่มีหนี้คือลาภอันประเสริฐ” แต่ในยุคปัจจุบันการเป็นหนี้ในระดับที่พอดีน่าจะสร้างลาภอันประเสริฐได้ในอนาคต หากต้องการจะขยายกิจการ
               

     ในยุคปัจจุบันเป็นการยากที่จะขยายกิจการโดยไม่มีการใช้เครื่องมือทางการเงินหรือการระดมทุน ในขณะที่กิจการของเรายังสามารถขยายไปได้ด้วยตัวเองอย่างช้าๆ แต่อีกด้านหนึ่งกิจการคู่แข่งของเราอาจจะใช้เครื่องมือทางการเงินมาใช้ขยายกิจการจนสามารถขึ้นมาเทียบเคียงหรือแซงหน้าไปได้
               

     นอกจากนี้การเริ่มต้นกู้เงินคือการทำให้สถาบันการเงินทำความรู้จักกับกิจการของเรา ตั้งแต่ประเภทธุรกิจ กระแสเงินเข้าออกในแต่ละเดือน เพื่อที่เวลาเราต้องการจะกู้เงินมาขยายธุรกิจในวงเงินที่ใหญ่ขึ้น หรือการจะนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในอนาคต สถาบันการเงินจะได้ไม่ต้องเสียเวลาทำความรู้จักกิจการของเรามากนัก



                

     หากเรากังวลว่าการกู้เงินจะทำให้เป็นภาระในอนาคตอาจจะเริ่มต้นจากการใช้ผลิตภัณฑ์การเงินที่ไม่ก่อให้เกิดหนี้สินผูกพันระยะยาว เช่น วงเงินเบิกเกินวงเงิน (O/D) เพื่อรองรับการทำธุรกรรมในวงเงินที่สูงขึ้นและจะเป็นเพียงหนี้สินในระยะสั้นเท่านั้น


     อีกทางหนึ่งคือการจำกัดระดับหนี้ไม่ให้สูงจนเกินไปเช่นหนี้สินต่อทุน (D/E Ratio) ไม่เกิน 1:2 เท่า หรืออาจเจรจาต่อรองกับสถาบันการเงินในการกำหนดอัตราดอกเบี้ยตายตัวเอาไว้ในกรณีที่ดอกเบี้ยนโยบายปรับตัวขึ้นเป็นต้น เพียงเท่านี้ก็ไม่ทำให้หนี้ที่สร้างเป็นภาระให้เราในอนาคต



               

     กรณีที่กิจการของเราไม่มีความจำเป็นต้องลงทุนใดๆ เพื่อการขยายกิจการ อีกทางเลือกหนึ่งนั่นคือการกู้เงินเพื่อที่จะซื้อกิจการหรือทรัพย์สินอื่น หรือเทคโอเวอร์เพื่อให้ได้มีความเป็นเจ้าของในภาวะที่เศรษฐกิจตกต่ำ ผู้ประกอบการบางรายอาจจะไม่สามารถประคองธุรกิจต่อไปได้หรือบางทรัพย์สิน อย่างเช่น ที่ดิน ตึกอาคาร อาจมีราคาปรับตัวลดลง นี่คือโอกาสในการเข้าซื้อเพื่อได้เป็นเจ้าของในต้นทุนที่ต่ำ
               

     อนาคตเมื่อเศรษฐกิจดีขึ้นสินทรัพย์ที่เราเข้าไปถือในต้นทุนต่ำจะมีราคาสูงขึ้นจะส่งผลต่อค่า Good Will ของกิจการของเราสูงขึ้นอีกด้วย ซึ่งจะส่งผลต่อการพิจารณาเงินกู้ของสถาบันการเงินในอนาคต



               

     บทสรุปคือในภาวะที่เศรษฐกิจตกต่ำ ต้นทุนการกู้เงินไม่สูงมากนัก นี่เป็นโอกาสในการกู้เงินจากสถาบันการเงินเพื่อนำมาใช้ขยายกิจการซึ่งจะช่วยให้สถาบันการเงินเข้าใจในธุรกิจของเรา และพร้อมจะปล่อยเงินกู้ในวงเงินที่สูงขึ้นในอนาคต หากเราถึงเวลาต้องขยายกิจการจริงๆ







 
 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: FINANCE

หมัดเด็ด วิธีเอาชนะเงินเฟ้อ ฉบับคุณปู่ Warren Buffett ที่ใครก็ใช้ได้

หนึ่งในปัญหาของคนทำธุีกิจวันนี้คือ “ภาวะเงินเฟ้อ” เงินเท่าเดิม แต่กลับซื้อสินค้าและวัตถุดิบได้น้อยลงกว่าเดิม ทำให้ต้นทุนเพิ่มสูงขึ้น แถมขายของก็ไม่ได้ดีเหมือนเก่า เลยชวนมาดูเคล็ดลับบริหารการเงินและลงทุนในภาวะเงินเฟ้อ จาก “วอร์เรน บัฟเฟตต์” เจ้าพ่อนักลงทุนกัน

รวมสินเชื่อรีไฟแนนซ์ ช่วยลดภาระหนี้ ธุรกิจไม่สะดุด

ภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ และวิกฤตที่รุมเร้าเข้ามา อาจทำให้ธุรกิจต้องสะดุด ขาดสภาพคล่องเลยอยากชวนมารีไฟแนนซ์สินเชื่อธุรกิจ อย่างน้อยเพื่อช่วยยืดระยะเวลาการใช้หนี้ออกไป ช่วยลดดอกเบี้ย ไปจนถึงอาจได้เงินอีกสักก้อนมาช่วยหมุนเวียนในธุรกิจ

ขายดีอย่างไรไม่ให้มีความเสี่ยง 5 เคล็ดลับบริหารสภาพคล่องจาก บสย.

อุปสรรคสำคัญที่ทำให้ธุรกิจของเอสเอ็มอีต้องสะดุดหยุดชะงักหรือไปต่อได้ไม่สุด คือ เงินทุนที่มีอยู่จำกัดจำเขี่ย ต่อให้ขายดีเพียงใด ถ้าไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันก็กู้เงินจากธนาคารไม่ได้