Main Idea
บริหารลูกหนี้อย่างมีประสิทธิภาพ
- จัดทำตารางอายุลูกหนี้
- ให้คะแนน แบ่งลูกหนี้ออกเป็นเกรดคุณภาพต่างๆ
- ตั้งข้อกำหนด เงื่อนไขร่วมกันอย่างชัดเจน
เป็นปัญหาสุดคลาสสิกยอดนิยมตลอดกาลที่ไม่ว่ายุคสมัยใด ธุรกิจจะเล็กหรือใหญ่ก็มักต้องประสบพบเจอกับปัญหาหนักอกกับการติดตามลูกหนี้ที่บางส่วนมักถือคติ ไม่มี ไม่หนี ไม่จ่าย เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ซึ่งในสถานการณ์ปกติดีก็ยังพอผ่อนปรนกันได้บ้าง แต่ในภาวะที่เศรษฐกิจเป็นอย่างทุกวันนี้ที่เจ้าของธุรกิจเองก็ยังเรียกว่าแทบจะเอาตัวไม่รอด เราควรจะจัดมีวิธีการจับมือกับลูกหนี้ หรือแหล่งเงินทุนที่พึ่งได้อย่างไร เพื่อให้พอมีรายได้เข้ามาจุนเจือรักษาสภาพคล่องธุรกิจผ่านพ้นวิกฤตไปได้บ้าง
ลองมาดู How to จัดการลูกหนี้ฉบับเร่งรัดกัน
จัดทำตารางอายุลูกหนี้
เชื่อว่าในหนึ่งธุรกิจย่อมไม่ได้มีลูกหนี้อยู่แค่รายเดียวแน่นอน ดังนั้นแล้ววิธีการที่จะทำให้เจ้าของกิจการสามารถบริหารจัดการลูกหนี้ที่มีอยู่ได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด อันดับแรกควรจัดทำตารางอายุลูกหนี้แต่ละช่วงออกมาก่อน เพื่อจะได้วางแผนบริหารจัดการได้ถูกต้อง เช่น กลุ่มลูกหนี้ที่อยู่ภายในกำหนดชำระ (ยังไม่ครบกำหนดชำระ), กลุ่มลูกหนี้ที่ค้างชำระไม่เกิน 30 วัน กลุ่มลูกหนี้, กลุ่มลูกหนี้ที่ค้างชำระตั้งแต่ 30 – 90 วัน, กลุ่มลูกหนี้ที่ค้างชำระตั้งแต่ 180 วันขึ้นไป
โดยเบื้องต้นเมื่อเราสามารถจัดแบ่งลูกหนี้ออกตามอายุของการค้างชำระได้แล้ว จะทำให้ผู้ประกอบการมองเห็นภาพรวมของธุรกิจว่า จริงๆ แล้วเรามีลูกหนี้ที่ต้องครบกำหนดสัญญาต้องชำระหนี้ในระยะเวลาอันใกล้ หรือไกลอยู่จำนวนเท่าไหร่ ซึ่งหากมีลูกหนี้ที่มีกำหนดค้างชำระระยะยาวมมากกว่า ก็ค่อนข้างเสี่ยงที่กิจการจะต้องประสบปัญหาขาดสภาพคล่องไปด้วย ดังนั้นอาจลองใช้วิธีเจรจากับลูกหนี้เพื่อขอบางส่วนก่อนล่วงหน้า เพื่อเข้ามาช่วยจุนเจือกิจการให้ไปต่อ
สำหรับลูกหนี้ที่ค้างชำระระยะเวลาสั้น เช่น 30 วัน อาจต้องลองใช้วิธีติดตามอย่างใกล้ชิด และเด็ดขาด เพื่อให้ได้เงินทุนเข้ามามากที่สุด แม้ว่าอาจไม่ได้มาทั้งหมดตามสัญญาที่ตกลงกันไว้ แต่ก็ต้องมีความชัดเจนว่าจะสามารถผ่อนชำระเข้ามาให้ได้เท่าไหร่ โดยอาจหาวิธีหาทางออกร่วมกัน เช่น การแปลงทรัพย์สินให้เป็นทุน การหาวิธีจำหน่ายสินค้าออกไปเร็วที่สุด แน่นอนว่าอาจไม่ใช่หน้าที่ของเจ้าหนี้ที่จะต้องมาช่วยหาวิธีแก้ไขปัญหา แต่ในภาวะวิกฤตเช่นนี้ที่ต่างแย่ไปตามๆ กัน การช่วยเหลือเห็นอกเห็นใจก็เป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยกันพยุงธุรกิจให้ไปรอดร่วมกันนั่นเอง เรียกง่ายๆ ว่ามีน้อย จ่ายน้อย ก็ยังดีกว่าไม่จ่ายเลย
แบ่งชั้นลูกหนี้
การเลือกคบคนคบเพื่อนมีหลายประเภทฉันใด ลูกหนี้ที่เป็นตัวคนเป็นๆ ก็มีหลายประเภทฉันนั้น ลูกหนี้บางคนก็ดีแสนดีตรงเวลาตลอด ไม่ต้องทวง แถมบางทีมีก็จ่ายเข้ามาให้ก่อน แต่บางคนก็กลับตรงกันข้าม ไม่มี ไม่หนี ไม่จ่าย แถมไม่บอกอะไรล่วงหน้าเลย ได้แต่นิ่งเงียบอยู่เฉยๆ ดังนั้นผู้ประกอบการควรจัดลำดับแบ่งชั้นลูกหนี้ของตนออกเป็นแต่ละเกรด โดยการลองให้คะแนนการตรงต่อเวลาตามเกรด A, B, C เพื่อนำมาเป็นพื้นฐานข้อมูลในการให้เครดิตต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นวงเงิน หรือระยะเวลาการชำระหนี้
บางคนอาจคิดว่าวิธีการดังกล่าวน่าจะได้ผลสำหรับลูกหนี้รายใหม่ แต่ในวิกฤตเช่นนี้จะแบ่งไปเพื่ออะไร จริงอยู่ว่าอาจเราอาจวางแผนในการให้เครดิตวงเงินหรือระยะเวลาการชำระหนี้ไม่ทันแล้ว แต่ข้อมูลดังกล่าวนี้ก็สามารถนำเก็บไปใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจในครั้งหน้าได้เช่นกันว่าสำหรับลูกหนี้รายนี้แล้วควรจะร่วมทำธุรกิจหรือให้โอกาสต่อไปหรือไม่ในอนาคต
ตั้งข้อกำหนดเร่งรัดติดตามหนี้แบบเร่งด่วน
ข้อสุดท้ายสำหรับการบริหารจัดการลูกหนี้ในภาวะวิกฤตเช่นนี้ นอกจากการวางแผนบริหารจัดการลูกหนี้แต่ละรายแล้ว อีกสิ่งที่ผู้ประกอบการต้องทำอย่างเป็นรูปธรรมชัดเจน คือ การตั้งข้อกำหนดและเงื่อนไขการชำระหนี้อย่างชัดเจน โดยอาจเขียนเป็นชุดปฏิบัติการลงไปเลยว่า อันดับแรกต้องทำอย่างไร เช่น เบื้องต้นอาจทวงถามล่วงหน้าเพื่อเตือนความจำ ต่อมาเมื่อเลยกำหนดชำระไปแล้วควรทำอย่างไร หรือขั้นตอนสุดท้ายถ้าหากไม่สามารถชำระหนี้ได้จริงๆ ควรทำเช่นไร
เพื่อให้เกิดความน่าเชื่อถือและมีน้ำหนัก ผู้ประกอบการควรจัดทำเป็นลายลักษณ์อักษรออกมา เพื่อให้ทั้งพนักงานผู้ดูแลรับผิดชอบได้รับรู้และมีแนวทางการบริหารจัดการที่ชัดเจน หรือแม้แต่ผู้ประกอบการรายเล็กๆ ที่ดูแลกิจการด้วยตัวเอง มีความสนิทสนมกับลูกหนี้เป็นอย่างดี พูดง่ายๆ ว่าอาจเป็นเพื่อนๆ กัน การทำลายลักษณ์อักษรแจ้งให้ทราบ หรือมีข้อตกลงร่วมกัน ก็จะช่วยให้ทุกอย่างจัดการได้ง่ายขึ้นกว่าการพูดหรือบอกด้วยปากเปล่าเพียงอย่างเดียวเท่านั้น
และนี่คือ How To ช่วยจัดการลูกหนี้ เพื่อรักษาสภาพคล่องธุรกิจในวิกฤตที่นำมาฝากกัน เชื่อสิว่าสุดท้ายแล้ว ไม่มีเจ้าหนี้หรือผู้ประกอบการคนไหนใจร้ายจริงๆ หรอก ขอแค่กล้าเผชิญหน้า พูดคุยกันอย่างตรงไปตรงมา เห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน เราแย่ เขาก็แย่ หันหน้าเข้าหากัน ช่วยกันหาทางออกเพื่อแก้ไขปัญหา เชื่อว่าสุดท้ายทุกคนก็จะสามารถรอดไปด้วยกันได้อย่างแน่นอน
อ้างอิงข้อมูลจาก DIP
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี