ไปรษณีย์ไทย ร่วมกับ SME D Bank ปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ “ผู้ค้าออนไลน์เก็บเงินปลายทาง”




     บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ร่วมกับ ธนาคารธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย หรือ SME D Bank เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบธุรกิจออนไลน์ที่ส่งของพัสดุเก็บเงินปลายทาง หรือ COD สามารถขอยื่นสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำกับ SME D Bank เพื่อเสริมสภาพคล่อง ลงทุน ปรับปรุง ตลอดจนสำรองเป็นค่าใช้จ่ายในการประกอบธุรกิจ เพียงนำประวัติการซื้อขายผ่านแอปพลิเคชัน wallet@POST ที่แสดงให้เห็นถึงการหมุนเวียนของรายได้ มาเป็นหลักฐานประกอบการขอสินเชื่อ
 
 
     พิษณุ วานิชผล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานธุรกิจองค์กร บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (ปณท) กล่าวว่า  ปัจจุบันผู้ประกอบธุรกิจต่างให้ความสนใจทำธุรกิจออนไลน์มากขึ้น เพราะสามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้อย่างกว้างขวาง ทุกที่ ทุกเวลา ซึ่งผู้ประกอบธุรกิจกลุ่มนี้มีความจำเป็นต้องมีเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินกิจการให้มีความต่อเนื่อง แต่บางรายก็ยังไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนนั้นได้ เนื่องจากขาดเอกสาร/หลักฐานสำคัญในการใช้ประกอบการขอสินเชื่อ
 
 
     ทั้งนี้ ไปรษณีย์ไทยจึงได้ร่วมมือกับ ธนาคารธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย หรือ SME D Bank เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบธุรกิจออนไลน์โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าที่ส่งของพัสดุเก็บเงินปลายทาง หรือ COD ของไปรษณีย์ไทยสามารถขอสินเชื่อได้ เพียงนำประวัติการซื้อขายผ่านแอปพลิเคชัน wallet@POST ที่แสดงให้เห็นถึงการหมุนเวียนของรายได้ มาเป็นหลักฐานประกอบการขอสินเชื่อนี้
 
 
     สำหรับคุณสมบัติของผู้ที่จะขอสินเชื่อโครงการนี้ นอกจากจะต้องเป็นลูกค้าที่ใช้บริการเก็บเงินปลายทาง หรือ COD ของไปรษณีย์ไทยแล้ว จะต้องมีใบทะเบียนพาณิชย์หรือใบอนุญาตประกอบกิจการในกรณีเป็นบุคคลธรรมดา และกรณีเป็นนิติบุคคลจะต้องมีสัดส่วนผู้ถือหุ้นไทยมากกว่า 50  เปอร์เซ็นต์  รวมทั้ง มีประวัติการใช้บริการ COD ของไปรษณีย์ไทยไม่น้อยกว่า 60 วัน มาแสดงประกอบการขอรับสินเชื่อของ SME D Bank และทางธนาคารจะเป็นผู้พิจารณาอนุมัติสินเชื่อให้ลูกค้าแต่ละราย
 
 
     ด้านนารถนารี รัฐปัตย์ กรรมการผู้จัดการธนาคารธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ธนาคารเล็งเห็นโอกาสในการเติบโตของตลาดการค้าขายออนไลน์ หรือธุรกิจ e-Commerce ที่มีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว จากกำลังซื้อของประชาชนที่สั่งซื้อมากขึ้นในยุค New Normal หรือวิถีชีวิตใหม่ โดยความร่วมมือของ 2 หน่วยงานในครั้งนี้ จะมีส่วนสำคัญในการสนับสนุนและให้ความช่วยเหลือกับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี สามารถขยายธุรกิจให้เติบโตในยุคปัจจุบันได้อย่างมีประสิทธิภาพ
 
 
     ขณะที่อุบลรัตน์ ค่าแพง ผู้อำนวยการอาวุโส ผู้รับผิดชอบสายงานพัฒนาผู้ประกอบการและลูกค้าสัมพันธ์ ธนาคารธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย กล่าวเสริมว่า จากนโยบาย “ความรู้คู่ทุน” ของธนาคาร ผ่านความร่วมมือครั้งนี้ ธนาคารได้จัดเตรียมสินเชื่อดอกเบี้ยพิเศษไว้รองรับความร่วมมือดังกล่าว เช่น สินเชื่อเพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชน (Local Economy Loan) วงเงินกู้สูงสุด 1 ล้านบาท เพื่อเสริมสภาพคล่อง ลงทุน ปรับปรุง ตลอดจนสำรองเป็นค่าใช้จ่ายในการประกอบธุรกิจ ผ่อนนานสูงสุด 7 ปีบุคคลธรรมดาอัตราดอกเบี้ย 4.875 เปอร์เซ็นต์ ต่อปี 3 ปีแรกและนิติบุคคล อัตราดอกเบี้ย  2.875 เปอร์เซ็นต์ ต่อปี 3 ปีแรก ลูกค้าผู้สนใจสามารถแสดงความจำนงกรอกข้อมูลเพื่อสมัครขอสินเชื่อได้ที่ https://bit.ly/3ksVAQE หรือผ่าน QR Code อย่างสะดวกสบาย และจะได้รับการติดต่อจากธนาคารภายใน 24 ชั่วโมงถือเป็นมิติใหม่ในการบูรณาการร่วมมือระหว่างหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ทั้งสองซึ่งจะอำนวยความสะดวกให้กับผู้รับบริการ
 
 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: FINANCE

หมัดเด็ด วิธีเอาชนะเงินเฟ้อ ฉบับคุณปู่ Warren Buffett ที่ใครก็ใช้ได้

หนึ่งในปัญหาของคนทำธุีกิจวันนี้คือ “ภาวะเงินเฟ้อ” เงินเท่าเดิม แต่กลับซื้อสินค้าและวัตถุดิบได้น้อยลงกว่าเดิม ทำให้ต้นทุนเพิ่มสูงขึ้น แถมขายของก็ไม่ได้ดีเหมือนเก่า เลยชวนมาดูเคล็ดลับบริหารการเงินและลงทุนในภาวะเงินเฟ้อ จาก “วอร์เรน บัฟเฟตต์” เจ้าพ่อนักลงทุนกัน

รวมสินเชื่อรีไฟแนนซ์ ช่วยลดภาระหนี้ ธุรกิจไม่สะดุด

ภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ และวิกฤตที่รุมเร้าเข้ามา อาจทำให้ธุรกิจต้องสะดุด ขาดสภาพคล่องเลยอยากชวนมารีไฟแนนซ์สินเชื่อธุรกิจ อย่างน้อยเพื่อช่วยยืดระยะเวลาการใช้หนี้ออกไป ช่วยลดดอกเบี้ย ไปจนถึงอาจได้เงินอีกสักก้อนมาช่วยหมุนเวียนในธุรกิจ

ขายดีอย่างไรไม่ให้มีความเสี่ยง 5 เคล็ดลับบริหารสภาพคล่องจาก บสย.

อุปสรรคสำคัญที่ทำให้ธุรกิจของเอสเอ็มอีต้องสะดุดหยุดชะงักหรือไปต่อได้ไม่สุด คือ เงินทุนที่มีอยู่จำกัดจำเขี่ย ต่อให้ขายดีเพียงใด ถ้าไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันก็กู้เงินจากธนาคารไม่ได้