Main Idea
- การออกมานำเสนอรายงาน จากสำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย ที่ย้ำว่า เศรษฐกิจไทยผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว และจะเริ่มเห็นการขยายตัวแบบช้าๆ ในช่วงครึ่งปีหลัง คือ สัญญานบวกที่ผู้ประกอบการ SME คงพอใจชื้นขึ้นมาได้บ้าง หลังต้องเจอกับสถานการณ์วิกฤตอย่างหนักหน่วงมาตั้งแต่ต้นปี
- โดยซีไอเอ็มบี ไทย มองว่า เมื่อหลายประเทศเริ่มเปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ก็จะเริ่มมีการสั่งซื้อสินค้าจากไทยมากขึ้น การส่งออกก็น่าจะดีขึ้น หรือติดลบจากปีก่อนน้อยลง โดยเฉพาะกลุ่มอาหาร และสินค้าเกษตรน่าจะขยายตัวได้เร็วกว่ากลุ่มอื่น ขณะที่กลุ่มยานยนต์และชิ้นส่วนอาจฟื้นตัวช้าจากกำลังซื้อและความเชื่อมั่นของผู้บริโภคต่างประเทศที่ยังคงอ่อนแอ
- การที่เศรษฐกิจไทยมีการกระจายตัวในหลายอุตสาหกรรม และมีเมืองเศรษฐกิจและท่องเที่ยวในภูมิภาคต่างๆ มาช่วยลดผลกระทบจากความวุ่นวายทางการเมือง เปรียบเหมือนสารเทฟล่อนที่ช่วยเคลือบกระทะ ทำให้เวลามีความไม่แน่นอนต่างๆ เศรษฐกิจไทยจะไม่สะดุด เป็น Teflon Thailand หรือเศรษฐกิจกระทะเหล็กนั่นเอง
- เศรษฐกิจไทยผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว
“ดร.อมรเทพ จาวะลา” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย ออกมาเปิดเผยว่าเศรษฐกิจไทยผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว และจะเริ่มเห็นการขยายตัวแบบช้าๆ ในช่วงครึ่งปีหลัง เขาคาดการณ์ว่า เมื่อหลายประเทศเริ่มเปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ จะเริ่มมีการสั่งซื้อสินค้าจากไทยมากขึ้น การส่งออกน่าจะดีขึ้น แม้จะติดลบ แต่น่าจะติดลบน้อยลง โดยเฉพาะกลุ่มอาหาร และสินค้าเกษตรน่าจะขยายตัวได้เร็วกว่ากลุ่มอื่น
ในส่วนกลุ่มยานยนต์และชิ้นส่วนอาจฟื้นตัวช้าจากกำลังซื้อและความเชื่อมั่นของผู้บริโภคต่างประเทศที่ยังคงอ่อนแอ การผลิตในภาคส่วนต่างๆ ก็เริ่มมีกำลังการผลิตที่ดีขึ้น การจ้างงานและการขยายชั่วโมงการทำงานจะเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ ขณะที่กลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวอาจฟื้นตัวช้า เพราะแม้นักท่องเที่ยวในประเทศจะเพิ่มขึ้น แต่ไม่อาจชดเชยการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติได้ และอาจกระจุกตัวในจังหวัดรอบๆ กรุงเทพมากกว่าจังหวัดท่องเที่ยวในภูมิภาคอื่น
“มองว่าเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลังน่าจะขยายตัวแบบช้าๆ เทียบไตรมาสที่สอง แต่ยังคงหดตัวได้ราวร้อยละ 10 เทียบครึ่งปีหลังปีก่อน โดยจะปรับมุมมองเศรษฐกิจไทยปีนี้ว่าจะหดตัวร้อยละ 8.9 จากปีที่แล้ว อย่างที่คาดไว้ก่อนหน้าหรือไม่ จะขอรอดูตัวเลขเดือนกรกฎาคม และนโยบายเศรษฐกิจประกอบ อีกทั้งความไม่แน่นอนทางการเมืองจากการประท้วงก็นับเป็นปัจจัยเสี่ยงทางเศรษฐกิจที่ต้องให้น้ำหนัก”
- เศรษฐกิจไทย กระทะเหล็กที่ยังลื่นแม้เป็นรอย
สำหรับปัจจัยการเมือง เขามองว่า ในอดีตช่วงที่ประเทศไทยเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เช่น การประท้วง การรัฐประหาร และการเลือกตั้ง เศรษฐกิจไทยไม่ได้รับผลลบมากนัก เนื่องจากเศรษฐกิจกระจายตัวในหลากหลายอุตสาหกรรม และมีเมืองเศรษฐกิจและท่องเที่ยวในภูมิภาคต่างๆ ช่วยลดผลกระทบจากความวุ่นวายทางการเมืองในกรุงเทพ เสมือนสารเทฟล่อนที่ช่วยเคลือบกระทะ ทำให้เวลามีความไม่แน่นอนต่างๆ เศรษฐกิจไทยไม่สะดุด เช่นเดียวกับที่วารสารดิอิโคโนมิสต์ เคยเรียกไทยว่า “เทฟล่อนไทยแลนด์” (Teflon Thailand) เมื่อราวกว่าสิบปีก่อน
เช่นเดียวกับในวันนี้ที่แม้เศรษฐกิจไทยจะได้รับผลกระทบรุนแรงจากเชื้อไวรัสโควิด-19 กระทะที่เราใช้กันแม้จะเก่าและเป็นรอย แต่เขามองว่าสารเทฟล่อนยังใช้การได้ดีอยู่
“ผมเชื่อในการปรับตัวของเอกชนไทย แม้เผชิญวิกฤตเศรษฐกิจหรือการเมือง ก็จะหาทางรอดได้เสมอ นอกจากนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยก็พร้อมลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายและอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเพิ่มเติม อีกทั้งเศรษฐกิจไทยยังมีคนที่มีกำลังซื้ออยู่มาก จึงมองว่าสารที่จะช่วยชดเชยสารเทฟล่อนที่เสื่อมลงน่าจะเป็นความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจหรือมาตรการดึงเงินจากคนชั้นกลางขึ้นไปให้มาช่วยพยุงเศรษฐกิจได้
ส่วนปัจจัยการเมืองหากมีความวุ่นวาย ผลกระทบทางเศรษฐกิจที่ชัดเจน คือ คนจะระมัดระวังการใช้จ่ายและการเดินทางไปสถานที่แหล่งชุมชน อุตสาหกรรมที่อาจได้รับผลกระทบ ได้แก่ โรงแรม ธุรกิจอีเวนท์ ร้านอาหาร ห้างสรรพสินค้า ร้านขายเครื่องใช้ไฟฟ้า ตัวแทนจำหน่ายรถยนต์-รถมอเตอร์ไซค์ ร้านค้าวัสดุก่อสร้าง ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจขนส่ง (อาจจำกัดเพียงขนส่งคน แต่ขนส่งสินค้ายังพอไปได้) และหากปัญหาบานปลายรุนแรง ก็อาจกระทบต่อภาคการผลิตที่อาจลดชั่วโมงการทำงานหรือเลิกจ้างพนักงาน ซึ่งธุรกิจกลุ่มนิคมอุตสาหกรรม โกดังสินค้าให้เช่า หรือห้องเช่าประเภท อพาร์ตเมนต์ตามนิคมอุตสาหกรรมก็อาจได้รับผลกระทบได้ ปัญหาหนี้เสียในระบบสถาบันการเงินก็จะตามมา และลามไปสู่ปัญหาเศรษฐกิจที่โตช้าลากยาว แม้อาจไม่ทรุดเป็นจุดต่ำสุดใหม่ แต่ก็อาจทำให้เราโตช้ากว่าที่คาดไว้ก่อนหน้า
นอกจากนี้ คนในสังคมขาดความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมเนื่องจากยังเคลือบแคลงและไม่ได้รับความชัดเจนในการตัดสินคดี โดยเฉพาะหลายกรณีที่ผู้มีฐานะในสังคมมักพ้นผิดทางกฎหมาย อาจกระทบต่อการเข้ามาลงทุนจากนักลงทุนต่างชาติ
อย่างไรก็ตามถ้าเศรษฐกิจสามารถปรับตัวได้อย่างเทฟล่อนไทยแลนด์ เศรษฐกิจจะยังคงประคองตัวอยู่ได้ เพราะการประท้วงหรือการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งนี้อาจไม่รุนแรงและอยู่ในขอบเขต ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไม่มากนัก เพราะเชื่อว่าแต่ละคนจะเข้าใจสถานการณ์และปรับตัวได้ และท้ายสุด มาตรการทางการเงินและการคลังก็จะออกมารองรับและประคองเศรษฐกิจได้ เศรษฐกิจไทยจึงไม่น่าจะหดตัวแรงดังเช่น Q2 แต่อาจฟื้นตัวช้ากว่าที่คาด” เขาบอก
สำหรับผู้ประกอบการ SME ไทย แม้จะมีสัญญาณที่ดี แต่การทำธุรกิจท่ามกลางความไม่แน่นอนเช่นนี้ ยังต้องอาศัยความระมัดระวัง และจับตาสถานการณ์ต่างๆ อย่างใกล้คิด เพื่อพร้อมปรับตัว ปรับเปลี่ยนกลยุทธ์รับมือต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงทีนั่นเอง
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี