ธพว. ดำเนินตามนโยบายรัฐบาล สนับสนุนผู้ประกอบการ SME เข้าถึงสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำในระบบ ผ่านโครงการสินเชื่อ “SMEs มีโอกาส” วงเงินรวม 3,000 ล้านบาท เพื่อนำไปใช้เสริมสภาพคล่อง ขยาย ปรับปรุงกิจการ หรือหมุนเวียนธุรกิจ วงเงินกู้สูงสุด 15 ล้านบาทต่อราย คิดอัตราดอกเบี้ย 2 เปอร์เซ็นต์ ต่อปี ใน 2 ปีแรก ผ่อนนาน 7 ปี
“นารถนารี รัฐปัตย์” กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank เปิดเผยว่า จากนโยบายของรัฐบาล ตามมติคณะรัฐมนตรี ในการช่วยเหลือผู้ประกอบการ SME ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ทั้งทางตรงและทางอ้อมเข้าถึงแหล่งทุน ธพว.ในฐานะสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ จึงดำเนินการตามนโยบายดังกล่าว เติมทุนภายใต้ชื่อ สินเชื่อ “SMEs มีโอกาส” โครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) สำหรับ SME ที่เข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุนในระบบ วงเงินรวม 3,000 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ไม่เคยขอสินเชื่อกับสถาบันการเงิน หรือไม่มีสินเชื่อคงค้างกับสถาบันการเงิน ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562 ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ประกอบการที่ไม่เข้าข่ายได้รับความช่วยเหลือทางการเงินตาม “พระราชกำหนดการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบการวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดต่อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2563” (พ.ร.ก. Soft loan) ให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ เพื่อนำไปลงทุน ขยาย ปรับปรุงกิจการ สำรองเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินธุรกิจ และเป็นเงินทุนหมุนเวียน สร้างความยั่งยืนให้กับธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ
สำหรับสินเชื่อดังกล่าว เปิดโอกาสให้ทั้งผู้ประกอบการบุคคลธรรมดา และนิติบุคคลที่ยังเข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุนในระบบสถาบัน มีเงื่อนไขสำคัญต้องเป็นผู้ประกอบการที่ไม่เคยขอสินเชื่อกับสถาบันการเงิน หรือไม่มีสินเชื่อคงค้างกับสถาบันการเงิน ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562 กำหนดวงเงินกู้ สำหรับบุคคลธรรมดา สูงสุด 2 ล้านบาท ส่วนนิติบุคคลหรือบุคคลธรรมดาจด (VAT) สูงสุด 15 ล้านบาท คิดอัตราดอกเบี้ย 2 เปอร์เซ็นต์ ใน 2 ปีแรก ตั้งแต่ปีที่ 3 เป็นต้นไป คิดอัตราดอกเบี้ยตามหลักประกัน ได้แก่ บสย. = MLR+2.5 เปอร์เซ็นต์ ต่อปี , บสย.ร่วมกับหลักประกันตามเกณฑ์ธนาคาร = MLR+1.5 เปอร์เซ็นต์ ต่อปี และหลักประกันตามเกณฑ์ธนาคาร = MLR+0.5 เปอร์เซ็นต์ ต่อปี ระยะเวลาสูงสุดไม่เกิน 7 ปี ปลอดชำระเงินต้นขึ้นอยู่กับความจำเป็นและความเหมาะสมสูงสุดไม่เกิน 12 เดือน
“ปัจจุบันมีกลุ่มผู้ประกอบการ SME ที่มีศักยภาพพอสมควร แต่ไม่มีวงเงินเดิมกับสถาบันการเงินในระบบ จึงไม่สามารถใช้บริการสินเชื่อ Soft Loan ธปท. ตาม พ.ร.ก. Soft loan ได้ ซึ่งกำหนดเกณฑ์ปล่อยกู้ไม่เกิน 20 เปอร์เซ็นต์ ของยอดสินเชื่อคงค้าง ดังนั้น รัฐบาลจึงมีนโยบายให้ออกสินเชื่อนี้มาเพื่อปิดช่องว่างดังกล่าว ช่วยสร้างโอกาสพาผู้ประกอบการกลุ่มที่ไม่เคยขอสินเชื่อกับสถาบันการเงิน หรือไม่มีสินเชื่อคงค้างกับสถาบันการเงิน สามารถเข้าถึงสินเชื่อดอกเบี้ยถูกในระบบได้ เพื่อนำเงินไปเสริมสภาพคล่อง ลงทุน ขยาย ปรับปรุงกิจการ และสำรองเป็นเงินทุนหมุนเวียน ประคองธุรกิจให้ก้าวผ่านทุกวิกฤตไปได้” นารถนารี กล่าว
ทั้งนี้ วงเงินอนุมัติสินเชื่อต่อรายจะพิจารณาตามความเหมาะสม ความจำเป็น และความสามารถในการชำระหนี้ โดยคุณสมบัติผู้กู้ ต้องเป็นผู้ประกอบการที่เป็นบุคคลสัญชาติไทย หรือนิติบุคคล ที่มีบุคคลสัญชาติไทยถือหุ้นเกินกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ ของทุนจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมด, เป็นการขอสินเชื่อใหม่ ทั้งลูกค้าเดิม หรือลูกค้าใหม่ ซึ่งไม่ใช่ลูกหนี้ Refinance, มีการยื่นภาษีจากภาครัฐ และไม่เป็น NPL ณ วันยื่นขอกู้ โดยเปิดรับคำขอกู้จนถึงวันที่ 30 ธันวาคม 2563 หรือจนกว่าวงเงินที่กำหนดไว้ถูกจัดสรรหมด แล้วแต่อย่างใดอย่างหนึ่งถึงก่อน ผู้สนใจขอสินเชื่อติดต่อได้ที่ช่องทางต่างๆ ของ ธพว.
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี