Main Idea
- สถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทยกำลังคลี่คลาย เรากลับมาดำเนินชีวิตกันได้ปกติ ร้านค้าและธุรกิจได้ผ่านช่วงเวลาที่หนักหนาที่สุดกลับเปิดให้บริการเต็มรูปแบบเสียที
- แต่ผลกระทบในช่วงวิกฤติที่ผ่านมาสร้างบาดแผลให้กับธุรกิจไม่น้อย นี่คือ 5 สิ่งที่ SME ต้องคิดเพื่อให้ก้าวต่อไปอย่างแข็งแกร่ง
ภาพรวมสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทยมีทิศทางที่ดีขึ้นมาก เราได้เห็นภาพการดำเนินชีวิตในแบบที่ “เกือบ” ปกติ ต่างออกไปก็ตรงที่เรายังต้องป้องกันตัวเองจากโรค สวมหน้ากาก ล้างมือ และรักษาระยะห่างเท่าที่จะทำได้ตราบใดที่ยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรค
สำหรับภาคธุรกิจเอง นี่ถึงเวลาก้าวข้ามวิกฤต เชิดหน้า เดินตัวตรง วางแผนพาธุรกิจก้าวต่อไปอย่างแข็งแกร่ง แต่จะทำอย่างไรได้นั้น ลองมาเริ่มจาก 5 วิธีต่อไปนี้
- ปรับตัวให้ไวพร้อมกับทุกสถานการณ์
ธุรกิจส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 มากน้อยแตกต่างกันไปตามรูปแบบธุรกิจ ดังนั้น การปรับตัวรับกับความเปลี่ยนแปลงจึงเป็นสิ่งสำคัญในตอนนี้ โดยต้องวางแผนแบ่งเป็นการปรับตัวในระยะสั้น และสำหรับอนาคตในระยะยาว
ระยะสั้น ได้แก่ การนำวัตถุดิบมาแปรเปลี่ยนเป็นสินค้าที่เข้ากับสถานการณ์หรือปรับกระบวนการจัดจำหน่ายให้เข้ากับวิถี New Normal เช่น ผันธุรกิจเข้าสู่วงการออนไลน์ การปรับรูปแบบพื้นที่ร้านอาหารหรือร้านค้า เพื่อให้ธุรกิจยังคงมีเงินหมุนเวียนในธุรกิจ
ระยะยาว ได้แก่ การปรับรูปแบบบรรจุภัณฑ์สินค้าโดยเน้นสุขอนามัยและสะดวกปลอดภัยในการจัดส่ง การออกแบบพื้นที่ภายในร้านให้ถูกต้องตามหลักอนามัยแต่ยังคงรองรับลูกค้าได้ในปริมาณใกล้เคียงกับช่วงก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 รวมถึงการวางแผนตั้งรับหากเกิดสถานการณ์คล้ายคลึงกันอีกในอนาคต เพื่อให้สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
- เพิ่มช่องทางการขาย กระจายความเสี่ยง
ในช่วงวิกฤต เราตระหนักได้ว่าธุรกิจที่มีช่องทางการขายทางเดียวหรือมีกลุ่มลูกค้าเฉพาะกลุ่มจะได้รับผลกระทบมากกว่าธุรกิจที่มีช่องทางหลากหลายและกลุ่มลูกค้าที่หลากหลาย ดังนั้น การเพิ่มช่องทางการขาย โดยเฉพาะช่องทางออนไลน์จะสามารถช่วยธุรกิจได้มาก การศึกษาเรียนรู้ระบบออนไลน์จึงเข้ามามีบทบาทในธุรกิจเพื่อเพิ่มช่องทางการขาย รวมถึงสร้างกลุ่มลูกค้าใหม่ เพราะไม่ควรที่จะฝากความหวังทั้งหมดไว้กับลูกค้าเพียงกลุ่มเดียวอีกต่อไป
- จริงใจต่อพนักงาน คู่ค้า และลูกค้า
ช่วงการระบาด ธุรกิจต่างต้องเจอกับความไม่แน่นอนว่าจะมีเงินพอหล่อเลี้ยงธุรกิจหรือไม่ ต้องปิดตัวลงหรือเปล่า เรื่องเหล่านี้กระทบทั้งพนักงาน คู่ค้า และลูกค้า ผู้ประกอบการจึงควรเปิดเผยสถานการณ์ของธุรกิจให้กับพนักงานรับทราบเพื่อสร้างความมั่นใจและรู้สึกการมีส่วนร่วม พวกเขาจะพร้อมช่วยเหลือให้ธุรกิจสามารถดำเนินต่อไปได้ และเข้าใจเมื่อต้องโยกย้ายงาน มีภาระงานที่เพิ่มมากขึ้น หรือลดค่าตอบแทน เป็นต้น
สำหรับคู่ค้า ควรสื่อสารกันมากขึ้น และแบ่งเบากันในส่วนที่ช่วยเหลือได้ หรือหากทราบว่าคู่ค้าไม่สามารถทำธุรกิจต่อไปได้ควรเตรียมหาคู่ค้ารายอื่นได้อย่างทันท่วงที
ในส่วนของลูกค้า หากการดำเนินธุรกิจได้เปลี่ยนแปลงไปทั้งในแง่ดี เช่น การเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่าย มีสิ่งที่ไม่เป็นไปตามที่ลูกค้าได้รับ หรืออาจจะให้บริการได้ล่าช้ากว่าปกติ ต้องแจ้งให้ลูกค้ารับทราบก่อนจะได้รับสินค้าและบริการ
- รักษาสภาพคล่อง และคำนึงถึงเงินทุนสำรอง
สิ่งที่ SME ควรคำนึงถึงเสมอ คือ การรักษาสภาพคล่องทางการเงินให้เพียงพอ เพราะการจะดำเนินธุรกิจต่อไปได้ขึ้นอยู่กับมีเงินหมุนเวียนหรือไม่ การวางแผนด้านเงินหมุนเวียนเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง และยังต้องหาแหล่งเงินทุนสำรองยามคับขัน จึงควรต้องติดตามข่าวสารไม่ว่าจะเป็นนโยบายช่วยเหลือของภาครัฐ หรือผลิตภัณฑ์จากธนาคารพาณิชย์ เป็นต้น
- รักษามุมมองเชิงบวก
เมื่อธุรกิจเผชิญกับสถานการณ์ที่ย่ำแย่ มุมมองเชิงบวกของผู้ประกอบการเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง จะช่วยให้มีกำลังใจและหาหนทางพาธุรกิจข้ามผ่านอุปสรรคได้ง่ายขึ้น จิตใจที่เข้มแข็งจะทำให้สามารถพลิกมุมมองและดึงศักยภาพการบริหาร รวมถึงเป็นขวัญกำลังใจให้กับพนักงาน
นอกจากนี้ การมองหาข้อดีในสถานการณ์ลบ จะทำให้สามารถเตรียมระบบหลังบ้านให้พร้อมรับโอกาสใหม่ๆ ที่จะมาถึงในอนาคตได้ สิ่งเหล่านี้จะทำให้ธุรกิจดำเนินต่อได้อย่างมั่นคงขึ้น ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นในอนาคตก็ตาม
ที่มา : ทีเอ็มบีและธนชาต
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี