Main Idea
- ภายในเดือนกันยายน – ตุลาคม 2563 นี้ จะเป็นช่วงรอยต่อสำคัญสำหรับ SME เนื่องจากมาตรการพักชำระหนี้จะสิ้นสุดลง ซึ่งด้วยสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบันที่ยังคงมีความไม่แน่นอนสูง จึงทำให้อาจมีความจำเป็นที่ต้องพิจารณาต่ออายุโครงการ
- อีกทางเลือกหนึ่งคือการออกมาตรการใหม่ อย่าง โครงการที่เน้นการรักษาตำแหน่งงาน (Job Retention Scheme) โดยตรง หรือการโอนสินทรัพย์ให้บริษัทบริหารสินทรัพย์ (AMCs) ช่วยบริหาร ที่จะช่วยเพิ่มโอกาสให้ SME ได้รับอนุมัติสินเชื่อเพิ่มเติม
สถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงทั้งต่อภาพรวมเศรษฐกิจ และในระดับธุรกิจและครัวเรือน ซึ่งในช่วงครึ่งแรกของปี 2563 ที่ผ่านมา ในฝั่งภาคการเงินก็มีกระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสถาบันการเงิน ร่วมกันออกมาตรการให้ความช่วยเหลือทางการเงิน โดยพุ่งเป้าหมายไปยังกลุ่มผู้ที่ได้รับผลกระทบหนักเป็นลำดับต้นๆ ได้แก่ ธุรกิจ SME ซึ่งครอบคลุมกลุ่มที่เป็นนิติบุคคลไม่น้อยกว่า 7 แสนราย และในรูปบุคคลอีกกว่า 2.2 ล้านราย ขณะที่ ครอบคลุมการจ้างงานถึงประมาณ 14 ล้านตำแหน่ง
มาตรการช่วยเหลือด้านการเงินที่สำคัญ ได้แก่ มาตรการเลื่อนกำหนดการชำระหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย 6 เดือนเป็นการทั่วไป มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ มาตรการปรับโครงสร้างหนี้ รวมถึงการช่วยลดความเสี่ยงของผู้ประกอบการ SME โดยการค้ำประกันสินเชื่อจาก บสย. เป็นต้น ซึ่งสำหรับโครงการเลื่อนกำหนดการชำระหนี้จะสิ้นสุดลงประมาณเดือนตุลาคม 2563 นี้
จึงเกิดคำถามขึ้นว่า หลังจากนี้ความช่วยเหลือยังจำเป็นต่อไปหรือไม่ และปัจจุบันมีทางเลือกใดอีกบ้าง?
ต่ออายุมาตรการทางการเงินถึงต้นปีหน้า
เมื่อพิจารณาจากภาวะที่เศรษฐกิจไทยจะยังเผชิญความไม่แน่นอนต่อเนื่องไปถึงปีหน้า ตราบใดที่การพัฒนาวัคซีนยังไม่นำมาสู่การใช้จริง ภาคธุรกิจยังต้องคงนโยบาย Social Distancing ที่ทำให้มีต้นทุนดำเนินงานเพิ่ม และยอดขายยังไม่กลับสู่ระดับปกติ ดังนั้น ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงน่าจะยังมีความจำเป็นที่จะต้องออกมาตรการดูแลและเยียวยาธุรกิจ SME เพิ่มเติมเพื่อให้ผ่านพ้นช่วงระยะเวลาที่ยากลำบากนี้ไป ซึ่งอาจกินระยะเวลาช่วงครึ่งแรกของปีหน้าเป็นอย่างน้อย
เมื่อสถานการณ์ชัดเจนขึ้น ธปท. ก็อาจต้องทบทวนกรอบระยะเวลาของมาตรการว่าจำเป็นจะต้องขยายออกไปเพื่อให้ครอบคลุมระยะเวลาการฟื้นตัวของธุรกิจและความสามารถในการชำระหนี้หรือไม่ ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าอาจนานกว่าสิ้นปี 2564 ที่กำหนดไว้เดิม
มาตรการทางเลือกใหม่
นอกเหนือไปจากการพิจารณาต่ออายุโครงการเดิม ยังมีแนวโน้มการออกมาตรการใหม่เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ ไม่ว่าจะเป็น
- โครงการที่เน้นการรักษาตำแหน่งงาน (Job Retention Scheme) มีเงื่อนไขสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำพิเศษ หรือการอุดหนุนสินเชื่อให้เปล่าให้กับผู้ประกอบการ หากปฏิบัติตามเงื่อนไขการจ้างงานได้ตามที่กำหนด ทั้งนี้ มาตรการดังกล่าวมีข้อดีตรงที่ช่วยให้ลูกจ้างมีรายได้เพียงพอต่อการยังชีพและช่วยยับยั้งการชะลอตัวของการบริโภคในประเทศ ลดปัญหาเชิงสังคมจากการถูกเลิกจ้าง
ซึ่งผลสัมฤทธิ์ของมาตรการลักษณะนี้อยู่ที่ความพร้อมของระบบข้อมูลที่จะต้องสามารถตรวจสอบทั้งฝั่งนายจ้างและลูกจ้างได้ และต้องออกแบบโครงการเพื่อสร้างแรงจูงใจให้ธุรกิจสนใจกู้ยืมและนำสภาพคล่องที่ได้รับไปใช้ในการจ้างงานจริงๆ ยกตัวอย่างเช่น โครงการ Paycheck Protection Program ที่ภาครัฐจะเปลี่ยนจากเงินกู้เป็นเงินให้เปล่า (Forgivable Loans)
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะเป็นมาตรการที่ดีกับภาคธุรกิจและการจ้างงาน แต่โครงการลักษณะนี้ก็จะเป็นภาระกับงบประมาณและหนี้สาธารณะค่อนข้างมาก
- การโอนสินทรัพย์ให้บริษัทบริหารสินทรัพย์ (AMCs) ช่วยบริหาร ซึ่งมีข้อดีในหลักการตรงที่ช่วยโยกพอร์ตสินเชื่อที่มีแนวโน้มด้อยคุณภาพออกจากงบการเงินและช่วยให้สถาบันการเงินเดินหน้าปล่อยสินเชื่อต่อได้โดยกังวลลดลงต่อปัญหาหนี้เสีย เพิ่มโอกาสปล่อยสินเชื่อให้กับ SME ได้มากขึ้น
ต้องติดตามกันต่อไปว่าท้ายที่สุดแล้วมาตรการไหนจะเป็นตัวช่วยให้ SME ไปต่อ ซึ่งทั้งการต่ออายุมาตรการสำหรับลูกหนี้หรือออกมาตรการใหม่คงช่วยต่อลมหายใจของลูกหนี้และคุณภาพหนี้ได้อีกระยะหนึ่ง ขณะเดียวกันมาตรการดังกล่าว คงต้องมาควบคู่กับการคงมาตรการช่วยเหลือฝั่งสถาบันการเงินให้นานเพียงพอที่จะประคองภาพรวมให้ก้าวผ่านระยะเวลาที่ยากลำบากนี้ไปได้เช่นกัน
ที่มา : ศูนย์วิจัยกสิกรไทย
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี