แนะวิธีเป็นลูกหนี้น่ารัก พา SME รอดวิกฤตหลังคลายล็อกดาวน์

  • TEXT : รุจรดา วัฒนาโกศัย





Main Idea
 
 
  • การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบกับภาคธุรกิจอย่างรุนแรง บริษัท ห้างร้าน พ่อค้า แม่ค้า ไม่สามารถดำเนินธุรกิจได้ตามปกติ บางธุรกิจต้องปิดกิจการลงชั่วคราวจนรายได้หดหาย และขาดสภาพคล่อง จนต้องหันหน้าเข้าหาสถาบันการเงิน
 
  • อย่างไรก็ตาม แม้ภาครัฐคลายล็อกดาวน์ให้ธุรกิจกลับมาดำเนินการได้เป็นปกติแล้ว แต่ก็ยังไม่สามารถกลับมาฟื้นตัวได้เต็มที่และยังต้องการความช่วยเหลือทางการเงินอย่างต่อเนื่อง
 
  • “พัชร สมะลาภา” กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย แนะนำผู้ประกอบการในมุมของผู้ให้คำปรึกษาทางการเงินว่าทำอย่างไรจึงจะเป็นลูกหนี้นิสัยดีที่ธนาคารรักและยินดีให้ความช่วยเหลือจนกว่าธุรกิจจะกลับมาแข็งแรง




      นับตั้งแต่การระบาดของโควิด-19 รัฐบาลประกาศล็อกดาวน์จนทำให้ธุรกิจต่างๆ ไม่สามารถดำเนินกิจการได้ตามปกติ จนขาดรายได้มาหล่อเลี้ยงองค์กรและพนักงาน ซึ่งระหว่างทางสถาบันการเงินยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือลูกค้าผ่านมาตรการต่างๆ ทั้งการพักชำระหนี้ หรือกระทั่งการให้เงินทุนเพื่อเสริมสภาพคล่อง แต่นั่นยังไม่เพียงพอ เพราะแม้รัฐบาลจะประกาศคลายล็อกดาวน์แต่หลายธุรกิจยังไม่สามารถกลับมาฟื้นตัวได้เต็มที่และยังคงต้องการความช่วยเหลือทางการเงินอย่างต่อเนื่องอยู่
 


 
  • SME ต้องการความช่วยเหลือที่แตกต่าง
              

      ต่อให้เป็นธุรกิจที่มีศักยภาพมาตลอดหลายปีก็ยังได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ทั้งทางตรงและทางอ้อม ซึ่งที่ผ่านมาธนาคารแห่งประเทศไทยได้ออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้สถาบันการเงินต่างๆ เพื่อให้การช่วยเหลือธุรกิจได้อย่างทันการณ์ ผ่าน 5 ทางเลือก คือ
 
  • การยืดระยะเวลาผ่อนชำระหนี้
 
  • พักชำระเงินต้น
 
  • ลดดอกเบี้ยเงินกู้
 
  • เพิ่มสินเชื่อเงินทุนหมุนเวียน (อนุมัติสินเชื่อระยะสั้น)
 
  • เปลี่ยนแปลงประเภทหนี้จากสินเชื่อดอกเบี้ยสูงเป็นสินเชื่อที่มีดอกเบี้ยต่ำกว่า 





      ภายใต้ทางเลือกเหล่านั้น ธนาคารและผู้ประกอบการแต่ละรายต้องมาทำความเข้าใจร่วมกันว่าควรจะให้ความช่วยเหลือแต่ละธุรกิจด้วยมาตรการใดและเป็นจำนวนเท่าไร ซึ่งการ “พักชำระเงินต้น” เป็นมาตรการเบื้องต้นที่ธนาคารจะนำเสนอให้กับธุรกิจระหว่างการเจรจารายละเอียดอื่นๆ


      ยกตัวอย่าง ธนาคารกสิกรไทยได้ให้การช่วยเหลือลูกค้าในช่วงวิกฤตโควิด-19 ที่ผ่านมา ด้วยการพักชำระหนี้ให้กับลูกค้าบุคคลและลูกค้าธุรกิจและให้เงินทุนเพิ่มเพื่อเสริมสภาพคล่องสำหรับลูกค้าธุรกิจ โดยที่ปัจจุบันธนาคารยังคงเดินหน้าให้ความช่วยเหลือลูกค้าอย่างต่อเนื่องสำหรับลูกค้าที่ยังเดือดร้อนให้สามารถดำเนินธุรกิจอยู่รอดต่อไปจนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้น ซึ่งในภาวะปัจจุบันยังคาดการณ์ได้ยากว่าอีก 6 เดือน ธุรกิจจะฟื้นตัวกลับมาได้หรือไม่
 




 
  • ลดจำนวนกองหนี้คือหนทางรอด
              

      แม้ว่าธนาคารจะยื่นข้อเสนอ “พักชำระหนี้” โดยยังไม่ต้องจ่ายคืนเงินต้นในระยะเวลาหนึ่ง แต่สิ่งที่ต้องยอมรับคือดอกเบี้ยยังคงวิ่งไปทุกวัน “พัชร สมะลาภา” กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย ได้ให้คำแนะนำว่า หากมีเงินอยู่ในมือควรจ่ายหนี้ก่อน และหากมีหนี้อยู่หลายกองควรจ่ายสินเชื่อที่มีดอกสูงอย่าง บัตรเครดิตเป็นอันดับแรกเพราะสินเชื่อบุคคลจะมีดอกเบี้ยสูงที่สุด เพื่อเก็บวงเงินสินเชื่อและสร้างเครดิตเอาไว้ หากภายหลังต้องการเงินจะสามารถนำเครดิตจำนวนนี้มาใช้ได้



 
  • ลูกหนี้นิสัยดี
              

        ในความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันการเงินกับลูกหนี้ ความเชื่อใจซึ่งกันและกันเป็นเรื่องสำคัญอันดับแรกๆ ลูกค้านิสัยดีของธนาคารจึงหมายถึง ลูกค้าที่นำเงินที่ได้รับการอนุมัติจากธนาคารไปใช้ได้ตรงจุดประสงค์ของสินเชื่อ เช่น ใช้สำหรับพยุงธุรกิจหรือเสริมสภาพคล่องของธุรกิจ ไม่ใช่นำไปซื้อของใช้ส่วนตัว






       ปัจจุบันการเก็บข้อมูลของธนาคารยังไปไม่ถึงขั้นที่สามารถบอกได้ว่าลูกค้ารายใดนิสัยดีหรือไม่ แต่บอกได้เพียงลูกหนี้ชำระเงินตรงเวลาหรือไม่ ซึ่งมีกรณีที่มีคนชำระไม่ตรงเวลาเพราะธุรกิจกำลังมีปัญหาอยู่จริงจำนวนไม่น้อย แต่ไม่ได้หมายความว่าพวกเขาเป็นลูกหนี้นิสัยไม่ดี หากเดินเข้าหาธนาคารและทำความเข้าใจเพื่อหาทางไปต่อกันได้ในอนาคต
 

       แม้ในช่วงวิกฤตที่ธุรกิจต้องเผชิญกับความยากลำบาก แต่หากผู้ประกอบการยังมีวินัยทางการเงินและมีการชำระหนี้ตรงเวลาก็จะฝ่าวิกฤตไปได้อย่างแน่นอน
 
 


www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
 
 

RECCOMMEND: FINANCE

หมัดเด็ด วิธีเอาชนะเงินเฟ้อ ฉบับคุณปู่ Warren Buffett ที่ใครก็ใช้ได้

หนึ่งในปัญหาของคนทำธุีกิจวันนี้คือ “ภาวะเงินเฟ้อ” เงินเท่าเดิม แต่กลับซื้อสินค้าและวัตถุดิบได้น้อยลงกว่าเดิม ทำให้ต้นทุนเพิ่มสูงขึ้น แถมขายของก็ไม่ได้ดีเหมือนเก่า เลยชวนมาดูเคล็ดลับบริหารการเงินและลงทุนในภาวะเงินเฟ้อ จาก “วอร์เรน บัฟเฟตต์” เจ้าพ่อนักลงทุนกัน

รวมสินเชื่อรีไฟแนนซ์ ช่วยลดภาระหนี้ ธุรกิจไม่สะดุด

ภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ และวิกฤตที่รุมเร้าเข้ามา อาจทำให้ธุรกิจต้องสะดุด ขาดสภาพคล่องเลยอยากชวนมารีไฟแนนซ์สินเชื่อธุรกิจ อย่างน้อยเพื่อช่วยยืดระยะเวลาการใช้หนี้ออกไป ช่วยลดดอกเบี้ย ไปจนถึงอาจได้เงินอีกสักก้อนมาช่วยหมุนเวียนในธุรกิจ

ขายดีอย่างไรไม่ให้มีความเสี่ยง 5 เคล็ดลับบริหารสภาพคล่องจาก บสย.

อุปสรรคสำคัญที่ทำให้ธุรกิจของเอสเอ็มอีต้องสะดุดหยุดชะงักหรือไปต่อได้ไม่สุด คือ เงินทุนที่มีอยู่จำกัดจำเขี่ย ต่อให้ขายดีเพียงใด ถ้าไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันก็กู้เงินจากธนาคารไม่ได้