เตรียมพร้อมก่อนร่วมทุน Private Equity

 

       นอกเหนือจากการกู้ยืมเงินมาจาสถาบันการเงินปกติมาเพื่อลงทุนในธุรกิจแล้ว ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีขนาดกลางที่มีสินทรัพย์ถาวรไม่เกิน 200 ล้านบาท ยังมีโอกาสที่จะเปิดรับการลงทุนจากบุคคลภายนอก ภายใต้รูปแบบกองทุนร่วมลงทุน หรือ Private Equity ได้ด้วย นอกเหนือจากมีต้นทุนต่ำแล้ว ยังมีโอกาสพัฒนาศักยภาพการบริหารสู่ความเป็นมืออาชีพมากขึ้น เพียงแต่ต้องแลกมากับอำนาจการบริหารที่ต้องแบ่งให้กับ ‘คนนอก’ มาตรวจสอบ

       แม้ในประเทศไทยจะยังไม่ได้เปิดรับแนวทางการร่วมทุนดังกล่าวนัก เนื่องจากวัฒนธรรมการค้าของคนตะวันออก โดยเฉพาะคนจีนยังยึดติดกับระบบความเป็นเจ้าของหรือธุรกิจครอบครัว แต่ในชาติตะวันตกโดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา กองทุนร่วมลงทุนได้รับความนิยมอย่างมากโดยเฉพาะธุรกิจไอทีและเทคโนโลยี ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากการรวมตัวของวิศวกรซึ่งมีความชำนาญเฉพาะเรื่องการผลิตแต่ไม่ถนัดเรื่องการบริหารธุรกิจรวมถึงขาดเงินทุนในการขยายธุรกิจ

       กล่าวได้ว่าสาเหตุการเติบโตของอุตสาหกรรมเทคโนโลยีในสหรัฐฯ ตั้งแต่สมัย 20 ปีที่แล้ว จนถึงปัจจุบัน ตัวอย่างเช่น เว็บไซต์ชื่อดังอย่าง กูเกิล เฟซบุ๊ค ฯลฯ ล้วนแล้วแต่ได้รับร่วมลงทุนมาก่อนทั้งสิ้นและส่วนใหญ่สามารถเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แนสแดกซ์ ซึ่งเน้นบริษัทด้านเทคโนโลยี ในสหรัฐฯ

       นับว่าตลาดกองทุนร่วมลงทุนมีขนาดที่ใหญ่มาก แม้แต่วานิชธนกิจขนาดใหญ่อย่าง โกลด์แมน แซค มอร์แกนสแตนเลย์  ยังมีหน่วยงานด้านนี้เฉพาะ ลงไปจนถึงกองทุนขนาดเล็กที่เกิดขึ้นโดยกลุ่มบุคคล

       สำหรับประเทศไทยส่วนใหญ่ยังคุ้นเคยกับธุรกิจเงินร่วมลงทุนหรือ Venture Capital ซึ่งได้รับการพัฒนามากว่าสิบปี และผู้ประกอบการต้องได้รับการอนุมัติจากสำนักงานกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต) อย่างชัดเจน ส่วนใหญ่เป็นบริษัทลูกของธนาคารพาณิชย์ บริษัทเงินทุน (ในอดีต) บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน เป็นต้น

       แต่กองทุนร่วมลงทุน Private Equity ในประเทศไทยปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายที่ออกมารับรองอย่างชัดเจน แต่ไม่ได้หมายความว่าเป็นวิธีการที่ผิดกฎหมาย เพราะผู้ที่จะนำเงินมาลงทุนจะต้องจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลเท่านั้น และต้องรายงานต่อกรมทะเบียนการค้ากระทรวงพาณิชย์ ในฐานะที่เป็นผู้ถือหุ้นคนหนึ่งตามกฎหมายเช่นกัน

       แวดวงการเงินปัจจุบันเริ่มมีกระแสกลุ่มนักลงทุนโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่จบการศึกษาด้านไฟแนนซ์จากต่างประเทศเริ่มเข้ามาอาศัยเครือข่ายลูกค้าของธนาคาร หาผู้ประกอบการที่จะขอเข้าร่วมลงทุน โดยมีธนาคารจัดหาลูกค้าที่มีศักยภาพเป็นคนกลางให้สองฝ่ายมีโอกาสได้พบกัน

       ขณะเดียวกันธนาคารพาณิชย์บางแห่งตั้งบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนเพื่อเข้าไปลงทุนในเอสเอ็มอีโดยเฉพาะเช่นกัน รวมถึงตลาดหลักทรัพย์เอ็มเอไอก็ให้การสนับสนุนการร่วมทุนลักษะนี้เช่นกัน

       ข้อดีของการร่วมลงทุนลักษณะนี้ คือผู้ประกอบการจะได้รับการสนับสนุนเงินทุนที่มีต้นทุนต่ำหรือแทบจะไม่มีต้นทุนเลย ขณะเดียวกันจะได้รับคำปรึกษาทางด้านการเงินและการบริหารหรือองค์ความรู้ที่ยังขาดจากผู้ลงทุน เหมือนเช่นในต่างประเทศ กองทุนร่วมลงทุนจะถูกแบ่งว่ามีความชำนาญพิเศษด้านไหนเช่น เทคโนโลยี พลังงานทดแทน ฯลฯ และจะเลือกเข้าไปลงทุนกิจการที่มีความเกี่ยวข้องดังกล่าว 

       นอกจากนี้ยังเพิ่มความเป็นมืออาชีพในการบริหารสำหรับกิจการที่มีแผนจะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในอนาคต การมีผู้ถือหุ้นและคณะกรรมการจากบุคคลภายนอกจากเดิมตัดสินใจเองในครอบครัวรวมถึงระบบบัญชีชุดเดียวจะเป็นการเตรียมความพร้อมก่อนเป็นบริษัทมหาชนได้ในอนาคต

       อย่างไรก็ตาม อาจมีข้อเสียที่ว่าเจ้าของเดิมอาจสูญเสียสัดส่วนการถือหุ้น รวมถึงอำนาจในการตัดสินใจบางส่วนไป ซึ่งก่อนที่จะตัดสินใจเปิดรับผู้ร่วมลงทุนเจ้าของกิจการต้องตระหนักถึงข้อตกลงดังกล่าวให้ดีเสียก่อน

       สำหรับกฎเกณฑ์ที่กองทุนร่วมลงทุนใช้เป็นนโยบายการลงทุนมีตั้งแต่ร่วมลงทุนในกิจการที่มีมูลค่าสินทรัพย์ถาวรโดยไม่รวมที่ดินไม่เกิน 200 ล้านบาท และมีการจ้างงานไม่เกิน 200 คน ในวันที่เข้าร่วมลงทุน โดยจะเข้าถือหุ้นสัดส่วนตั้งแต่ 10 เปอร์เซ็นต์ แต่ไม่เกินกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ของทุนจดทะเบียน และเจ้าของบริษัทเดิมต้องถือหุ้นในสัดส่วนที่มากกว่า และอาจจะเข้ามานั่งเป็นกรรมการบริษัท

       อย่างไรก็ตามแม้ผู้ร่วมลงทุนจะไม่มีนโยบายเข้าไปนั่งเป็นผู้บริหารในเชิงปฎิบัติการจะปล่อยให้เป็นหน้าที่ของผู้บริหารชุดเดิม แต่จะให้คำแนะนำในเชิงนโยบายหรือให้คำปรึกษาด้านการเงิน รวมถึงมีสิทธิออกเสียงลงคะแนนในฐานะผู้ถือหุ้นคนหนึ่งเท่านั้น บางครั้งบทบาทสำคัญของผู้ร่วมลงทุนจะร่วมตรวจสอบความโปร่งใสในการบริหารงาน เช่น เรื่องของระบบบัญชีด้วย

       คุณสมบัติของเอสเอ็มอีที่กลุ่ม Private Fund ต้องการเข้าถือหุ้นจะพิจารณาจากความสามารถในการบริหารของผู้ถือหุ้นและผู้บริหาร จากการเข้าเยี่ยมชมกิจการและสัมภาษณ์ ตามหลักการแล้วกองทุนฯจะตั้งกฎว่าธุรกิจนั้นต้องดำเนินการมาแล้วไม่ต่ำกว่า3ปี แต่ถ้าไม่ถึง3ปีจะพิจารณาจากประสบการณ์ในธุรกิจของผู้ถือหุ้นหรือผู้บริหารนั้นๆ ซึ่งจะต้องมีมากกว่า 5 ปี ที่สำคัญผู้บริหารและผู้ถือหุ้นต้องไม่มีประวัติที่เสียหายทั้งคดีแพ่งและอาญา หรือเป็นบุคคลล้มละลายมาก่อน

       นอกจากนั้นต้องมีแผนธุรกิจที่ชัดเจนเช่นกลุ่มลูกค้า แผนการเงิน ขั้นตอนการผลิต การกระจายสินค้า จุดคุ้มทุน อยู่ในอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพจะเติบโตได้ในอนาคตหรือมีคู่แข่งน้อยราย (Blue Ocean) อัตราการทำกำไรสูงไม่ใช่สินค้า หรือบริการทั่วไปในตลาดที่คู่แข่งสามารถเลียนแบบได้ทันที หรือมีแนวโน้มจะเกิดสงครามราคาในอนาคต ส่วนอื่นๆ เช่นเป็นธุรกิจที่ไม่ขัดต่อศีลธรรมและหลักศาสนา มีการทำธุรกิจที่จะสร้างประโยชน์ทางเศรษฐกิจในระยะยาว

       รูปแบบการเข้าลงทุนอาจจะมีตั้งแต่เข้าไปถือหุ้นสามัญของบริษัท หรือหุ้นบุริมสิทธิ์ซึ่งกองทุนฯจะไม่มีสิทธิส่งคนเข้าไปนั่งเป็นกรรมการบริษัท แต่จะกำหนดผลตอบแทนรูปของเงินปันผลที่ชัดเจนในแต่ละปี บางกองทุนอาจลงทุนโดยการซื้อตราสารที่มีออปชั่นสามารถแปลงเป็นหุ้นสามัญได้ภายในระยะเวลาที่กำหนด ทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่กับการเจรจาระหว่างผู้ถือหุ้นเดิมและกองทุนฯ

       ทั่วไปกองทุนร่วมลงทุนจะมีนโยบายถือหุ้นในกิจการตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไปและไม่เกินกว่า 7 ปี มีแผนที่จะลดการถือหุ้น หรือขายหุ้นออกไปทั้งหมด เพื่อที่จะไปลงทุนกิจการอื่นที่มีศักยภาพต่อไป เมื่อบริษัทนั้นกำลังจะเข้าตลาดหลักทรัพย์ ทั้งนี้ผลตอบแทนการลงทุน (Return On Investment) ที่กองทุนต้องการจะอยู่ในระดับเลขสองหลักขึ้นไปค่าเฉลี่ยอยู่ที่15 เปอร์เซ็นต์

       ความเห็นของนักการเงินที่คลุกคลีกับเอสเอ็มอีที่มีแผนจะเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ สมภพ ศักดิ์พันธ์พนม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอสเซทโปรแมเนจเมนท์ จำกัด กล่าวว่า แม้ปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายมารับรองกองทุน Private Equity อย่างเป็นรูปธรรม แต่ในต่างประเทศโดยเฉพาะเอเชียเริ่มได้รับความนิยมมากขึ้น

       แม้กระทั่งประเทศจีนที่เป็นต้นแบบของระบบธุรกิจกงสี ทายาทธุรกิจรุ่นใหม่ก็เปิดรับการร่วมทุนของคนภายนอกมากขึ้น ส่วนในประเทศไทยยังค่อนข้างอยู่ในวงจำกัด แต่ธนาคารพาณิชย์ปัจจุบันเริ่มเข้าหาคนรุ่นใหม่ที่บริหารกองทุนเหล่านี้มากขึ้นเพื่อลดความเสี่ยงในการปล่อยเงินกู้รวมถึงความเสี่ยงในการจับคู่หาผู้ร่วมทุน

       มุมมองส่วนตัวยังคิดว่าเอสเอ็มอีไทยในอนาคตจะต้องเดินเข้าหากลไกของตลาดทุนมากขึ้นมากกว่าพึ่งกลไกตลาดเงินหรือแหล่งเงินกู้ธนาคารเพียงอย่างเดียว ถ้าคิดที่จะแข่งขันเรื่องต้นทุนดำเนินงานกับคู่แข่งต่างชาติ โดยเฉพาะธุรกิจที่มีศักยภาพหาผู้อื่นเลียนแบบยากจะได้รับความสนใจจากกองทุน Private Equity เป็นพิเศษ

       และนี่ก็คืออีกหนึ่งแหล่งทุนทางเลือกสำหรับ SME ที่หลายๆ คนอาจยังไม่เคยรู้มาก่อน...!!!

 

RECCOMMEND: FINANCE

หมัดเด็ด วิธีเอาชนะเงินเฟ้อ ฉบับคุณปู่ Warren Buffett ที่ใครก็ใช้ได้

หนึ่งในปัญหาของคนทำธุีกิจวันนี้คือ “ภาวะเงินเฟ้อ” เงินเท่าเดิม แต่กลับซื้อสินค้าและวัตถุดิบได้น้อยลงกว่าเดิม ทำให้ต้นทุนเพิ่มสูงขึ้น แถมขายของก็ไม่ได้ดีเหมือนเก่า เลยชวนมาดูเคล็ดลับบริหารการเงินและลงทุนในภาวะเงินเฟ้อ จาก “วอร์เรน บัฟเฟตต์” เจ้าพ่อนักลงทุนกัน

รวมสินเชื่อรีไฟแนนซ์ ช่วยลดภาระหนี้ ธุรกิจไม่สะดุด

ภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ และวิกฤตที่รุมเร้าเข้ามา อาจทำให้ธุรกิจต้องสะดุด ขาดสภาพคล่องเลยอยากชวนมารีไฟแนนซ์สินเชื่อธุรกิจ อย่างน้อยเพื่อช่วยยืดระยะเวลาการใช้หนี้ออกไป ช่วยลดดอกเบี้ย ไปจนถึงอาจได้เงินอีกสักก้อนมาช่วยหมุนเวียนในธุรกิจ

ขายดีอย่างไรไม่ให้มีความเสี่ยง 5 เคล็ดลับบริหารสภาพคล่องจาก บสย.

อุปสรรคสำคัญที่ทำให้ธุรกิจของเอสเอ็มอีต้องสะดุดหยุดชะงักหรือไปต่อได้ไม่สุด คือ เงินทุนที่มีอยู่จำกัดจำเขี่ย ต่อให้ขายดีเพียงใด ถ้าไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันก็กู้เงินจากธนาคารไม่ได้