กลุ่มทุนเอเชียหันมาปล่อยสินเชื่อช่วยผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรม

 

 
     อดัม บิวรีย์ รองกรรมการผู้จัดการฝ่ายการลงทุน และนายคอรีย์ ฮามาบาตะ ผู้ช่วยกรรมการอาวุโส หน่วยธุรกิจบริการการลงทุนด้านโรงแรมของเจแอลแอล แสดงความเห็นร่วมกันว่ามาตรการห้ามประชาชนเดินทางบีบให้เจ้าของโรงแรมต้องมองหาทางเลือกในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าทางการเงิน ซึ่งอาจก่อให้เกิดโอกาสใหม่ๆ ในธุรกิจการกู้ยืมในตลาดเนื่องจากตลาดการลงทุนยังคงมีเม็ดเงินเหลืออยู่เป็นจำนวนมาก


     “จากการพูดคุยกับเจ้าของโรงแรมและสถาบันการเงินทั่วภูมิภาค เราพบว่าทั้งสองฝ่ายมีความพยายามร่วมกันในการบรรเทาสถานการณ์เพื่อป้องกันการนำไปสู่สถานะของการผิดนัดชำระหนี้หรือสถานการณ์ที่เลวร้ายกว่านั้น เจ้าของโรงแรมหลายรายได้เร่งขอขยายวงเงินสินเชื่อเพื่อสร้างเสถียรภาพให้กับธุรกิจและรับมือกับภาวะธุรกิจตกต่ำไปจนกว่าความต้องการจะฟื้นตัว โดยเจ้าของโรงแรมที่อยู่ในสถานการณ์ที่น่าห่วงมากที่สุด คือ กลุ่มที่อยู่ในหัวเมืองรีสอร์ทที่เน้นรองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นหลัก ซึ่งเป็นตลาดที่มีแนวโน้มฟื้นตัวช้าที่สุดหลังวิกฤติโควิด-19 สิ้นสุดลง”


     ในส่วนของภาคธนาคาร พบว่าเพื่อเป็นการบรรเทาสถานการณ์สถาบันการเงินที่เป็นเจ้าหนี้ยินดีที่จะพิจารณาปรับเงื่อนไขการชำระหนี้หรือปรับโครงสร้างหนี้ อาทิ การผ่อนผันระยะเวลาชำระหนี้ระยะสั้น ส่วนในกรณีของประเทศไทยคาดว่า เจ้าของโรงแรมจะให้ความสนใจการกู้ยืมระยะสั้นสำหรับใช้แก้ปัญหาเฉพาะหน้าทางการเงิน เพื่อให้สามารถประคองตัวต่อไปได้ ทั้งนี้หัวเมืองท่องเที่ยวหลักๆ ของไทยพึ่งพาตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติค่อนข้างมาก โดยในสถานการณ์ปกติโรงแรมในเมืองท่องเที่ยวสำคัญอย่างเช่น กรุงเทพฯ ภูเก็ตและเกาะสมุย จะมีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเข้าใช้บริการห้องพักคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 60 - 85 เปอร์เซ็นต์


     โดยในปีที่ผ่านมาตลาดโรงแรมในเอเชียแปซิฟิกจะมีการซื้อขายมูลค่าสูงถึง 1.2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ยังมีเงินทุนอีกเป็นจำนวนมากที่ยังคงหาโอกาสการลงทุนซื้อกิจการโรงแรมที่มีคุณภาพดี ซึ่งจะช่วยพยุงมูลค่าราคาของโรงแรมไว้ได้ในระยะปานกลาง


     เจแอลแอลเห็นว่าปัจจัยเหล่านี้สร้างโอกาสให้กับผู้ให้กู้ประเภทอื่นๆ ที่เล็งการณ์ไกลกว่าช่วงเวลานี้ที่โรงแรมมีปัญหาสภาพคล่อง และตัดสินอนุมัติการให้กู้ยืมโดยพิจารณาจากมูลค่าทรัพย์สินซึ่งมีความมั่นคงในระยะยาว และมูลค่าของหลักประกันอื่นๆ ของผู้กู้


     “จากการที่ภาคธุรกิจโรงแรมกำลังต้องการเงินทุนจำนวนมาก พบว่ามีนักลงทุนไม่ว่าจะเป็นกลุ่มทุนที่ลงทุนในหุ้นนอกตลาด และสำนักงานครอบครัว (family office องค์กรที่รับหน้าที่บริหารจัดการทรัพย์สินของครอบครัว) ขยายตัวเข้ามาในธุรกิจการให้สินเชื่อ ช่วยเสริมแหล่งเงินทุนเพิ่มเติมนอกเหนือจากสินเชื่อที่สถาบันการเงินให้กู้ยืมอยู่ก่อนแล้ว แม้แหล่งเงินทุนใหม่นี้โดยทั่วไปจะคิดดอกเบี้ยในอัตราที่สูงกว่า แต่จุดแข็ง คือ การมีความรวดเร็วกว่าในการตัดสินใจและมีความคล่องตัวมากกว่า จึงสามารถให้ความช่วยเหลือในการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าให้กับเจ้าของโรงแรมได้ จนกว่าเจ้าของโรงแรมจะสามารถมีทางออกสำหรับการแก้ปัญหาทางการเงินระยะยาวได้ หรือจนกว่าจะมีโอกาสขายโรงแรมในราคาที่สมเหตุสมผลมากกว่าที่จะตัดขายออกไปในเวลานี้”


     โดยเจแอลแอลยังคาดการณ์อีกว่า ตลาดรีสอร์ทในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะ ไทย อินโดนีเซีย และเวียดนาม รวมไปจนถึงมัลดิฟส์ จะมีความต้องการเงินกู้สูง ซึ่งผู้ประกอบการโรงแรมบางรายในประเทศเหล่านี้กำลังประสบปัญหาจากการไม่สามารถกู้ยืมเงินจากภาคธนาคาร อัตราดอกเบี้ยที่ค่อนข้างสูง และการพึ่งพาตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มีแนวโน้มว่าจะเป็นตลาดที่ฟื้นตัวได้ช้าที่สุดหลังสิ้นสุดวิกฤติการณ์โควิด-19


     “เจ้าของโรงแรมที่มีสถานภาพทางการเงินที่ยังเข้มแข็งจะสามารถร่วมกับสถาบันการเงินที่เป็นเจ้าหนี้ในการหาทางออกร่วมกันได้ แต่ตลาดโรงแรมของบางประเทศจะมีความจำเป็นต้องอาศัยเงินทุนเพื่อเสริมสภาพคล่องระยะสั้น ในกรณีที่หาแหล่งเงินทุนไม่ได้มีความเป็นไปได้ว่าเจ้าของอาจต้องนำโรงแรมออกเสนอขายในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ เจแอลแอลเชื่อว่าหลังวิกฤติการณ์โควิด-19 จะเห็นโรงแรมเปิดใหม่น้อยลงเนื่องจากเจ้าของโรงแรมต้องการที่จะพัฒนาสถานะทางการเงินของตนเองให้เข้มแข็งขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้ปัจจัยพื้นฐานของภาคธุรกิจโรงแรมแข็งแกร่งขึ้นกว่าเดิมในอนาคต”
 
 
 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: FINANCE

หมัดเด็ด วิธีเอาชนะเงินเฟ้อ ฉบับคุณปู่ Warren Buffett ที่ใครก็ใช้ได้

หนึ่งในปัญหาของคนทำธุีกิจวันนี้คือ “ภาวะเงินเฟ้อ” เงินเท่าเดิม แต่กลับซื้อสินค้าและวัตถุดิบได้น้อยลงกว่าเดิม ทำให้ต้นทุนเพิ่มสูงขึ้น แถมขายของก็ไม่ได้ดีเหมือนเก่า เลยชวนมาดูเคล็ดลับบริหารการเงินและลงทุนในภาวะเงินเฟ้อ จาก “วอร์เรน บัฟเฟตต์” เจ้าพ่อนักลงทุนกัน

รวมสินเชื่อรีไฟแนนซ์ ช่วยลดภาระหนี้ ธุรกิจไม่สะดุด

ภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ และวิกฤตที่รุมเร้าเข้ามา อาจทำให้ธุรกิจต้องสะดุด ขาดสภาพคล่องเลยอยากชวนมารีไฟแนนซ์สินเชื่อธุรกิจ อย่างน้อยเพื่อช่วยยืดระยะเวลาการใช้หนี้ออกไป ช่วยลดดอกเบี้ย ไปจนถึงอาจได้เงินอีกสักก้อนมาช่วยหมุนเวียนในธุรกิจ

ขายดีอย่างไรไม่ให้มีความเสี่ยง 5 เคล็ดลับบริหารสภาพคล่องจาก บสย.

อุปสรรคสำคัญที่ทำให้ธุรกิจของเอสเอ็มอีต้องสะดุดหยุดชะงักหรือไปต่อได้ไม่สุด คือ เงินทุนที่มีอยู่จำกัดจำเขี่ย ต่อให้ขายดีเพียงใด ถ้าไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันก็กู้เงินจากธนาคารไม่ได้