Main idea
- ไม่ว่าจะเวลาไหน เรื่องเงินก็ยังยืนหนึ่งในใจของคนทำธุรกิจอยู่เสมอ ยิ่งในช่วงนี้ที่ต้องลำบากเพิ่มขึ้นอีกหลายเท่าตัว การรับมือและจัดการกับกระแสเงินสด หรือ Cash Flow จึงเป็นอะไรที่ต้องมีมากกว่าแค่ความใส่ใจ
- และเพื่อที่จะทำให้เงินเข้าและออกได้อย่างคล่องตัว ไปดูกันว่า ผู้ประกอบการควรทำอย่างไร ในวันที่ความฝืดเคืองนั้นอยู่ไม่ไกล แถมยังคอยขยับเข้ามาใกล้แบบนี้
___________________________________________________________________________________________
ไม่เพียงแต่จะต้องรอดจากวิกฤตในครั้งนี้ไปให้ได้เท่านั้น ผู้ประกอบการยังมองหาแผนการรับมือต่างๆ เพื่อที่จะเดินหน้าพาธุรกิจให้เติบโตได้อย่างมั่นคงอีกด้วย ซึ่งสิ่งสำคัญที่จะมองข้ามไม่ได้เลยคือ เรื่องของเงินๆ ทองๆ สำหรับธุรกิจขนาดเล็กแล้ว การจัดการกระแสเงินสดในช่วงเวลาที่ยากลำบากเช่นนี้มีความสำคัญอย่างยิ่ง เรียกได้ว่าเป็นกรรมการตัดสินชะตาธุรกิจได้เลยทีเดียวว่า จะ “อยู่” หรือ “ไป” หลังจากนี้
อย่างที่รู้ๆ กันว่า กระแสเงินสด (Cash Flow) เป็นน้ำหล่อเลี้ยงสำคัญที่คอยสนับสนุนให้ธุรกิจเจริญเติบโตและผลิดอกออกผลได้อย่างสวยงาม แต่ในสภาวการณ์ที่อะไรๆ ก็ดูไม่เป็นใจ คนทำธุรกิจควรจัดการและรับมืออย่างไร เพื่อให้แหล่งน้ำแหล่งนี้ยังคงไหลเวียนพัดพาเงินเข้า-ออกกระเป๋าได้อย่างคล่องตัว มาดูกัน
1. ทำความเข้าใจกับสถานะทางการเงินในปัจจุบัน
ในช่วงเวลาเช่นนี้ อย่างแรกที่ควรทำคือ การประเมินสถานะของกระแสเงินสดแบบรายวันหรือรายสัปดาห์ และผลกระทบทางการเงินระยะสั้นและระยะกลางที่อาจเกิดขึ้นได้จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยมุ่งไปที่เรื่องของสภาพคล่อง ข้อตกลงสัญญาต่างๆ ที่ทำไว้ รวมถึงทบทวนการคาดการณ์กระแสเงินสดระยะสั้น พร้อมอัปเดตแผนธุรกิจและงบประมาณต่างๆ นอกจากนี้ ควรจำลองสถานการณ์เลวร้ายที่สุดที่อาจเกิดขึ้นได้ และควรทำความเข้าใจในเรื่องของผลกระทบของอัตราการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศต่อสถานะเงินสดของธุรกิจที่มีอยู่ด้วย เพื่อเตรียมแผนรับมือล่วงหน้า
2. ตรวจสอบลูกหนี้การค้าอย่างรอบคอบ
Accounts Receivable (A/R) หรือ ลูกหนี้การค้า คือ เงินที่ลูกค้าของกิจการค้างชำระ ไม่ว่าจะเป็นสินค้าหรือบริการที่ได้ส่งมอบไปแล้ว ซึ่งหากตัวเลขของลูกหนี้การค้าสูงเกินไป อาจส่งผลกระทบต่อการเงินและสภาพคล่องของธุรกิจได้ โดยเฉพาะในช่วงวิกฤตเช่นนี้ที่ลูกค้าบางรายอาจจ่ายเงินล่าช้า หรือลูกค้าที่ชำระผ่านบัตรเครดิตอาจจะชะลอการจ่ายออกไป ดังนั้น ต้องตรวจสอบสิ่งเหล่านี้อย่างใกล้ชิด เพื่อมองให้เห็นภาพอย่างชัดเจนและวางแผนหาวิธีจัดการกับปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงที
3. กระตุ้นลูกค้าจ่ายเงินให้เร็วขึ้น
กลยุทธ์ที่ดีอย่างหนึ่งในการกระตุ้นให้ลูกค้าชำระเงินให้เร็วขึ้นและหลีกเลี่ยงการไม่ชำระเงินเลยคือ การมอบส่วนลดหากชำระเงินในทันทีนั่นเอง ซึ่งแม้ว่าตามใบแจ้งหนี้ ระยะเวลาของการชำระเงินอาจครบกำหนดภายใน 30 วัน แต่การเสนอส่วนลดให้แบบนี้ จะช่วยดึงดูดใจให้พวกเขาจ่ายได้เร็วขึ้น หรือถ้าจะให้ดี อาจมีข้อเสนอส่วนลดพิเศษให้คนที่จ่ายล่วงหน้าด้วยก็ได้ ซึ่งการเสนอส่วนลดแบบนี้ ถือเป็นตัวเลือกที่ยอดเยี่ยมที่จะทำให้ธุรกิจได้รับการชำระเงินล่วงหน้าและมีเงินสดได้อย่างรวดเร็ว
4. ชะลอการจ่ายของตัวเองลงเล็กน้อย
เช่นเดียวกับลูกค้า ผู้ประกอบการเองก็มีสิ่งที่ต้องจ่ายเหมือนกัน โดยเฉพาะ Accounts Payable (A/P) หรือ เจ้าหนี้การค้า ซึ่งก็คือเงินที่กิจการค้างชำระ ไม่ว่าจะเป็นสินค้าหรือบริการที่ได้รับไปแล้วนั่นเอง ยิ่งชะลอการจ่ายได้นานเท่าไร ยิ่งมีเงินสดอยู่ในมือได้มากเท่านั้น แต่อย่าลืมว่า ยิ่งจ่ายช้าเท่าไร ผู้ขาย (Vendor) หรือเจ้าหนี้ยิ่งไม่ชอบมากเท่านั้นเช่นกัน ดังนั้น ควรชั่งน้ำหนักถึงข้อดีและข้อเสียตรงนี้ให้ดี เพราะการชำระเงินที่ช้าเกินไป อาจส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างกันได้ ในขณะที่การจ่ายเงินเร็วเกินไปก็อาจส่งผลกระทบต่อกระแสเงินสดได้เช่นกัน เพราะฉะนั้น ผู้ประกอบการต้องหาตรงกลางให้เจอ เพื่อให้ทั้งตัวเองอยู่รอดและเจ้าหนี้ก็ชอบใจ
5. ซื้อสินค้าคงคลังให้น้อยลง
ผู้ประกอบการไม่น้อยมักสร้างความผิดพลาดด้วยการซื้อสินค้าคงคลังมากเกินไป ซึ่งทำให้เกิดค่าใช้จ่ายจำนวนมากโดยไม่จำเป็น ดังนั้น ทางที่ดีควรตรวจสอบดูว่า ธุรกิจสามารถลดจำนวนสินค้าคงคลังลงได้บ้างหรือไม่ และควรสั่งซื้อสินค้าเข้ามาเมื่อจำเป็นจริงๆ เท่านั้น โดยเฉพาะในช่วงเวลานี้ ควรดูว่าจะเปลี่ยนสินค้าคงคลังที่ไม่จำเป็นที่มีอยู่เป็นเงินได้อย่างไร และหนึ่งในวิธีที่ได้ผลเสมอก็คือ การนำมาขายแบบลดราคานั่นเอง
6. ต่อรองเพื่อส่วนลด
อีกวิธีที่จะช่วยฟื้นกระแสเงินสดของกิจการได้คือ การขอส่วนลดจากคู่ค้า โดยเริ่มจากการทำรายชื่อผู้ขายและคู่ค้าทั้งหมดเรียงตามค่าใช้จ่ายจากมากไปน้อย จากนั้นลองเจรจากับเจ้าที่ใหญ่ที่สุดเพื่อต่อรองลดราคา หรือทำสัญญาระยะยาวเพื่อแลกกับการชำระเงินที่ราคาต่ำกว่า เพื่อต่ออายุให้กระแสเงินสดของธุรกิจหมุนเวียนได้อย่างไม่ฝืดเคืองมากนัก
7. ขอสินเชื่อ
อีกแหล่งสำคัญของการได้มาซึ่งเงินสดในมือคือ การขอสินเชื่อจากธนาคารและสถาบันการเงิน แม้ว่าการยื่นขอสินเชื่อในช่วงวิกฤตอาจเป็นเรื่องยาก แต่ก็คุ้มค่ากับการลงทุน ซึ่งหากผู้ประกอบการมีสินทรัพย์ เช่น อสังหาริมทรัพย์ หรือสินทรัพย์ที่มีตัวตน (Tangible Assets) อย่างเงินฝากธนาคาร ตั๋วเงินรับ ลูกหนี้ สินค้าคงเหลือ วัสดุสำนักงาน ที่ดิน และอุปกรณ์ต่างๆ สามารถใช้สินทรัพย์เหล่านี้ เพื่อค้ำประกันวงเงินสินเชื่อได้
การวางแผนที่ดี จะช่วยชี้ให้เห็นว่า ธุรกิจต้องปรับลดต้นทุน ตัดค่าใช้จ่าย และทำการตลาดอย่างไร เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ซึ่งหากผู้ประกอบการรายไหนมีการวางแผนงบประมาณและการประเมินการด้านธุรกิจที่ช่วยคาดการณ์เรื่องของกระแสเงินสดอยู่แล้ว ตอนนี้ก็เป็นเวลาที่จะต้องมองให้ลึกลงไปมากขึ้น พร้อมจำลองสถานการณ์ต่างๆที่อาจเกิดขึ้นได้ เพื่อทำให้เข้าใจมากขึ้นว่า การเปลี่ยนแปลงของยอดขายหรือปัจจัยต่างๆ นั้น จะส่งผลกระทบต่อกระแสเงินสดและการเงินของธุรกิจอย่างไร
หรือหากผู้ประกอบการรายไหนยังไม่เคยวางแผนและประเมินสถานการณ์ด้านกระแสเงินสดมาก่อน ควรใช้เวลาเช่นนี้เป็นจุดเริ่มต้น โดยอาจตั้งคำถามกับตัวเองง่ายๆ เช่น เราใช้เงินสดสำรองหมดไวแค่ไหน? เรามีเงินสดอยู่ในมือนานเท่าไรก่อนที่จะใช้มันหมด? และ มีแผนการตลาดไหนบ้างที่เราควรลดหรือตัดออก?
นอกจากนี้ สำหรับธุรกิจส่วนใหญ่ เงินเดือนถือเป็นค่าใช้จ่ายที่กินสัดส่วนมากที่สุด ซึ่งผู้ประกอบการควรทำการทบทวนในประเด็นนี้ให้ดีว่า มีวิธีไหนบ้างที่จะเข้ามาตอบโจทย์ และจะช่วยลดรายจ่ายและเพิ่มเงินในมือให้มากขึ้นได้ขนาดไหน เช่น ไม่จ้างแรงงานเพิ่ม ปลดพนักงานออก ลดเงินเดือนทุกคนลง 20 เปอร์เซ็นต์ และผู้บริหารไม่รับเงินเดือน เป็นต้น รวมถึงการตัดค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่ไม่จำเป็นออก
ดังนั้น ด้วยการวางแผนด้านการเงินที่ดี จะช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถปรับการคาดการณ์ในเรื่องต่างๆได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นด้านยอดขาย งบประมาณ และค่าใช้จ่ายต่างๆ ซึ่งจะเป็นแนวทางชี้ให้เห็นว่า จะมีผลกระทบอย่างไรต่อกระแสเงินสดของกิจการในอนาคต ที่สำคัญ การคาดการณ์กระแสเงินสดจะเน้นให้เห็นจุดที่เป็นปัญหาของธุรกิจได้ล่วงหน้า ซึ่งจะช่วยให้เจ้านายตัวเองทั้งหลายมีเวลาในการตอบสนองและหาวิธีแก้ปัญหานั้นๆ ได้ดียิ่งขึ้น
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี