สภาพคล่อง ต.ค.57 ผ่อนคลายลง...ส่วนท้ายปีตึงตัวเล็กน้อย


            


    ศูนย์วิจัยกสิกรไทย รวบรวมข้อมูลสินเชื่อ เงินฝาก และสภาพคล่องของระบบธนาคารพาณิชย์ไทย 14 แห่ง ณ สิ้นเดือนตุลาคม 2557 (ข้อมูลเบื้องต้น) เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และสิ้นปี 2556 พร้อมประเมินแนวโน้มสินเชื่อ เงินฝาก และสภาพคล่องในระยะถัดไป โดยมีรายละเอียด ดังนี้    

    เงินให้สินเชื่อขยายตัวชะลอลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 7 ขณะที่ สภาพคล่องผ่อนคลายขึ้น อันเป็นผลจากการแข่งขันระดมเงินฝากอัตราดอกเบี้ยพิเศษของธนาคารพาณิชย์ 

    - ยอดเงินให้สินเชื่อแก่ลูกหนี้สุทธิ  ของธนาคารพาณิชย์ไทย 14 แห่ง ณ สิ้นเดือนตุลาคม 2557 มีจำนวน 9.646 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.39 หมื่นล้านบาท จากยอดคงค้างที่ 9.632 ล้านล้านบาท ณ สิ้นเดือนกันยายน 2557 หรือเติบโตชะลอลงมาที่ร้อยละ 4.42 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากระดับ 4.60 ในเดือนก่อนหน้า ซึ่งถือเป็นการเติบโตที่ชะลอลงเป็นเดือนที่ 7 ติดต่อกันนับตั้งแต่เดือนเมษายน 2557 เป็นต้นมา 

    ทั้งนี้ ยอดเงินให้สินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ยังคงได้รับแรงกดดันจากการชำระคืนสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ของลูกค้ารายย่อย ขณะที่ สินเชื่อเพื่อผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และสินเชื่อรายย่อย โดยเฉพาะสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย และสินเชื่อบัตรเครดิต ยังมีทิศทางการปรับตัวเพิ่มขึ้น
 
 

    - ด้านยอดเงินฝาก มีจำนวน 10.50 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.24 แสนล้านบาท จากเดือนก่อนหน้า ขณะที่ ?ตราสารหนี้ที่ออกและเงินกู้ยืม (ซึ่งมีตั๋วแลกเงินเป็นหนึ่งในองค์ประกอบ) อยู่ที่ระดับ 7.98 แสนล้านบาท ลดลง 3,668 ล้านบาทจากเดือนก่อนหน้า ทำให้ยอดรวมเงินฝากกับตราสารหนี้ที่ออกและเงินกู้ยืม มีจำนวนทั้งสิ้น 11.30 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.20 แสนล้านบาท จากระดับ 11.18 ล้านล้านบาท ในเดือนก่อนหน้า หรือเติบโตร้อยละ 4.70 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ชะลอลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 จากร้อยละ 4.86 ณ สิ้นเดือนก่อนหน้า

    ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาสภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ไทยในเดือนตุลาคม 2557 พบว่า มีทิศทางผ่อนคลายมากขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า โดยสังเกตได้จาก อัตราส่วนสินทรัพย์สภาพคล่องตามความหมายกว้าง  ต่อสินทรัพย์รวมของธนาคารพาณิชย์ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น     ทั้งนี้ ณ สิ้นเดือนตุลาคม 2557 อัตราส่วนดังกล่าวอยู่ที่ระดับร้อยละ 21.1 เพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากระดับร้อยละ 20.4 ในเดือนก่อนหน้า ซึ่งสะท้อนว่าธนาคารพาณิชย์มีสินทรัพย์สภาพคล่องสำหรับรองรับการดำเนินธุรกิจเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ขณะที่ หากเทียบกับค่าเฉลี่ยระหว่างปี 2551 – ตุลาคม 2557 ซึ่งอยู่ที่ระดับร้อยละ 21.9 แล้ว จะพบว่าอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกัน
 
แนวโน้มสภาพคล่องมีโอกาสตึงตัวขึ้นเล็กน้อย...ในช่วงส่งท้ายปี
    
    เมื่อต่อภาพออกไปในช่วง 2 เดือนที่เหลือของปี 2557 คาดว่า สินเชื่อสุทธิน่าจะมีแรงส่งในลักษณะเดือนต่อเดือน (MoM) ที่ดีขึ้นกว่าที่ปรากฏในเดือนตุลาคม 2557 ตามแรงหนุนจากทั้งฝั่งความต้องการกู้ยืมจากภาคครัวเรือนและธุรกิจที่เร่งขึ้นตามกิจกรรมการใช้จ่ายส่งท้ายปี ซึ่งน่าจะส่งผลบวกต่อสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภค และสินเชื่อธุรกิจ โดยเฉพาะสินเชื่อประเภทเงินทุนหมุนเวียน   

    นอกจากนี้ การปล่อยสินเชื่อยังน่าจะได้รับแรงหนุนเพิ่มเติมจากฝั่งธนาคารพาณิชย์ ผ่านการนำเสนอรายการส่งเสริมการตลาดสำหรับกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งมีความเสี่ยงและความสามารถในการชำระหนี้อยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้ เพื่อให้สามารถขับเคลื่อนสินเชื่อฝ่าการชะลอตัวทางเศรษฐกิจตลอดปีให้เข้าใกล้เป้าหมายสินเชื่อรายปีที่ตั้งไว้เดิมได้

 

    อย่างไรก็ตาม คงต้องยอมรับว่า ด้วยผลของฐานในเดือนพฤศจิกายนและธันวาคม 2556 ที่มีการขยายสินเชื่อสุทธิในแต่ละเดือนสูงกว่าหลักแสนล้านบาท ทำให้แม้ธนาคารพาณิชย์จะสามารถขับเคลื่อนสินเชื่อสุทธิให้ก้าวหน้าเร็วขึ้นได้ในช่วงสองเดือนสุดท้ายของปีนี้ แต่ก็ยังไม่น่าจะสูงเท่ากับที่เคยทำได้ในปีก่อน และคงเห็นอัตราการขยายตัวของสินเชื่อสุทธิเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน (YoY) ที่ค่อยๆ ชะลอลงอย่างยากจะหลีกเลี่ยง

    โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าอัตราการขยายตัวของสินเชื่อสุทธิสำหรับธนาคารพาณิชย์ไทย คงปิดปีด้วยอัตราใกล้เคียงกับระดับร้อยละ 4 ซึ่งชะลอตัวลงค่อนข้างชัดเจนจากร้อยละ 10.5 ณ สิ้นปี 2556 และถือเป็นอัตราการเติบโตที่ต่ำที่สุดในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา


    ด้านเงินฝากนั้น คาดว่าจะเห็นการแข่งขันกับผลิตภัณฑ์การออมและการลงทุนประเภทอื่นๆ ชัดเจนขึ้น โดยเฉพาะกองทุนรวมและประกันชีวิต เพื่อสิทธิประโยชน์ทางภาษี ซึ่งทำให้เงินฝากมีโอกาสเติบโตในลักษณะเดือนต่อเดือนที่อาจไม่สูงเท่าเงินให้สินเชื่อได้บ้าง แม้ธนาคารพาณิชย์หลายแห่งจะทยอยออกแคมเปญเงินฝากพิเศษมาอย่างต่อเนื่องก็ตาม โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า อัตราการเติบโตของเงินฝากรวมกับตราสารหนี้ที่ออกและเงินกู้ยืม คงชะลอลงเข้าหาระดับประมาณร้อยละ 3.5 เทียบกับระดับร้อยละ 9.3 ณ สิ้นปี 2556

    ดังนั้นแล้ว แนวโน้มสภาพคล่องในช่วงโค้งสุดท้ายของปี จึงอาจตึงตัวขึ้นได้เล็กน้อย ซึ่งก็ยังน่าจะอยู่ในวิสัยที่ธนาคารพาณิชย์สามารถบริหารจัดการได้ โดยที่ยังไม่จำเป็นต้องปรับอัตราดอกเบี้ยเป็นการทั่วไป ขณะที่ประเด็นติดตามสำคัญ คงอยู่ที่การประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันที่ 17 ธันวาคม 2557 ว่าจะมีท่าทีเชิงนโยบายที่เปลี่ยนไปหรือไม่ อย่างไร ซึ่งย่อมจะมีผลต่อการดำเนินงานของธนาคารพาณิชย์ในระยะถัดไป

 

RECCOMMEND: FINANCE

หมัดเด็ด วิธีเอาชนะเงินเฟ้อ ฉบับคุณปู่ Warren Buffett ที่ใครก็ใช้ได้

หนึ่งในปัญหาของคนทำธุีกิจวันนี้คือ “ภาวะเงินเฟ้อ” เงินเท่าเดิม แต่กลับซื้อสินค้าและวัตถุดิบได้น้อยลงกว่าเดิม ทำให้ต้นทุนเพิ่มสูงขึ้น แถมขายของก็ไม่ได้ดีเหมือนเก่า เลยชวนมาดูเคล็ดลับบริหารการเงินและลงทุนในภาวะเงินเฟ้อ จาก “วอร์เรน บัฟเฟตต์” เจ้าพ่อนักลงทุนกัน

รวมสินเชื่อรีไฟแนนซ์ ช่วยลดภาระหนี้ ธุรกิจไม่สะดุด

ภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ และวิกฤตที่รุมเร้าเข้ามา อาจทำให้ธุรกิจต้องสะดุด ขาดสภาพคล่องเลยอยากชวนมารีไฟแนนซ์สินเชื่อธุรกิจ อย่างน้อยเพื่อช่วยยืดระยะเวลาการใช้หนี้ออกไป ช่วยลดดอกเบี้ย ไปจนถึงอาจได้เงินอีกสักก้อนมาช่วยหมุนเวียนในธุรกิจ

ขายดีอย่างไรไม่ให้มีความเสี่ยง 5 เคล็ดลับบริหารสภาพคล่องจาก บสย.

อุปสรรคสำคัญที่ทำให้ธุรกิจของเอสเอ็มอีต้องสะดุดหยุดชะงักหรือไปต่อได้ไม่สุด คือ เงินทุนที่มีอยู่จำกัดจำเขี่ย ต่อให้ขายดีเพียงใด ถ้าไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันก็กู้เงินจากธนาคารไม่ได้