Main Idea
- โอกาสที่ประเทศไทยจะกลับไปเติบโตที่ระดับร้อยละ 4 อย่างที่เคยทำได้ในช่วงปี 2560-61 ยังไม่น่าจะเป็นไปได้ในช่วงนี้
- ค่าเงินบาทที่แข็งค่าไม่สอดคล้องกับเศรษฐกิจประเทศที่การเติบโตชะลอลง สร้างความกังวลให้กับธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นอย่างมาก
- เราคาดว่าจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25 เปอร์เซ็นต์ ในไตรมาส 1 ของปีนี้ ทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายลดลงไปทำสถิติตำสุดใหม่ที่ 1 เปอร์เซ็นต์
ภาพรวมเศรษฐกิจไทยน่าจะเติบโตแบบชะลอตัว ยังไม่มีสัญญาณการฟื้นตัวที่ชัดเจน
ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) มองว่าโอกาสที่ประเทศไทยจะกลับไปเติบโตที่ระดับร้อยละ 4 อย่างที่เคยทำได้ในช่วงปี 2560-61 ยังไม่น่าจะเป็นไปได้ในช่วงนี้ เนื่องจากเศรษฐกิจในภาพรวมยังคงชะลอตัว การบริโภคภายในประเทศที่อ่อนกำลังลง ประกอบกับสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน ที่ส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรม สะท้อนให้เห็นว่าโอกาสการฟื้นตัวในระยะสั้นนี้ยังไม่น่าเป็นไปได้ การชะลอตัวของเศรษฐกิจที่ยืดเยื้ออาจนำไปสู่ปัญหาหนี้ครัวเรือนเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากรายได้ฝืดเคืองทำให้คนต้องหันหาเงินกู้เพื่อดูแลค่าใช้จ่ายประจำวัน ยอดการนำเข้าที่ปรับลดลง สะท้อนให้เห็นถึงกิจกรรมทางเศรษฐกิจภายในประเทศที่อ่อนกำลังลง และแสดงให้เห็นว่าประเทศไทยยังไม่ได้ประโยชน์จากการย้ายฐานการลงทุนที่เคยคาดว่าจะเกิดขึ้นจากสงครามการค้า
“การบริโภค การลงทุนภายในประเทศ ไม่น่าจะปรับตัวขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในปีนี้ นอกจากนี้ยังมีความไม่แน่นอนในเรื่องงบประมาณประจำปี และความเคลื่อนไหวทางการเมือง ซึ่งเป็นปัจจัยให้เรามองว่าเศรษฐกิจจะเติบโตช้า ในขณะที่ความเสี่ยงจากภายนอก ประกอบไปด้วยความขัดแย้งทางการค้าสหรัฐฯ-จีน และความตึงเครียดในตะวันออกกลาง” ดร. ทิม ลีฬหะพันธุ์ นักเศรษฐศาสตร์ ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) กล่าว
“ยังไม่เห็นภาพชัดเจนว่าประเทศไทยได้ประโยชน์จากการย้ายฐานการลงทุนอันเป็นผลมาจากสงครามการค้า หรือการเพิ่มขึ้นของการลงทุนจากต่างชาติ”
มองค่าเงินบาทยังคงแข็งค่าในระยะสั้น
ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดคาดค่าเงินบาทจะอยู่ที่ 29.25 ต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ในสิ้นไตรมาสหนึ่ง บัญชีเดินสะพัดเกินดุลของประเทศปรับเพิ่มขึ้นอีกในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ทั้งๆ ที่เงินบาทแข็งค่าขึ้น โดยปกติแล้ว ไตรมาส 1 มักเป็นไตรมาสที่ดีสำหรับบัญชีเดินสะพัดและค่าเงินบาท เนื่องจากเป็นฤดูกาลท่องเที่ยว ยิ่งไปกว่านั้น ความล่าช้าในการผ่านงบประมาณปี 2563 (ซึ่งเลื่อนมาจากเดือนตุลาคม 2562) น่าจะส่งผลให้การเบิกจ่ายล่าช้า ปัจจัยนี้น่าจะช่วยประคับประคองบัญชีเดินสะพัดในระยะสั้น เนื่องจากความล่าช้าในการเบิกจ่ายงบลงทุน อาจหมายถึงการลดการนำเข้าสินค้าทุน หรือการเกินดุลการค้าต่อเนื่อง แม้กระนั้น ความเสี่ยงสำคัญที่มีต่อมุมมองค่าเงินบาทแข็งในระยะสั้นของเราคือ โอกาสการใช้มาตรการใหม่ที่เข้มงวดขึ้น เพื่อจำกัดการแข็งค่าของเงินบาท
ดอกเบี้ยนโยบาย – แนวโน้มการปรับลดยังไม่จบ
อย่างน้อยตลอดไตรมาส 1 นี้ นโยบายการเงินจะยังคงเป็นเครื่องมือหลักในการดูแลเศรษฐกิจ ในระยะสั้นไม่น่าจะมีมาตรการกระตุ้นทางการคลังที่มีนัยสำคัญ เนื่องจากงบประมาณปี 2563 ยังอยู่ในกระบวนการประกาศใช้ แม้ว่าการเบิกจ่ายงบประมาณจะเริ่มขึ้น นโยบายการเงินที่เกื้อหนุน หรือดอกเบี้ยในระดับต่ำ ยังคงมีความจำเป็นในการช่วยส่งเสริมการใช้จ่ายทางการคลัง รัฐบาลดูเหมือนจะให้ความสำคัญกับการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้น โดยมุ่งไปที่การบริโภค มากกว่าการลงทุน
“เราคาดว่าธนาคารแห่งประเทศไทยจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีก 0.25 เปอร์เซ็นต์ ในไตรมาส 1 ทำให้ดอกเบี้ยนโยบายลดลงไปทำสถิติใหม่ที่ 1 เปอร์เซ็นต์ มุมมองของเราอาจต่างจากตลาด ที่ยังมองว่าดอกเบี้ยนโยบายไม่น่าจะลดลงไปต่ำกว่าสถิติเดิมที่ 1.25 เปอร์เซ็นต์” ดร. ทิม กล่าว
“หลังไตรมาส 1 เรามองว่า การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายยังคงเป็นไปได้อีก หากภาพรวมเศรษฐกิจยังคงชะลอตัว” ดร. ทิม กล่าวสรุปในตอนท้าย
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี