SME มีเฮ! แบงก์ชาติออกมาตรการร้อน ปรับอัตราดอกเบี้ย ช่วยเอสเอ็มอีสู้วิกฤต




Main Idea
 
 
  • เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระหนี้สินให้กับเหล่าผู้ประกอบการ SME ธนาคารแห่งประเทศไทยได้มีมติสั่งให้แบงก์และสถาบันการเงินต่างๆ ปรับทบทวนอัตราดอกเบี้ยที่เป็นธรรมและเหมาะสม
 
  • หนึ่งในมาตรการสำคัญที่น่าสนใจ คือ การปรับค่าธรรมเนียมจากการไถ่ถอนสินเชื่อก่อนกำหนด จากเดิมที่เคยคิดจากฐานวงเงินสินเชื่อทั้งก้อน ก็ให้คิดจากยอดเงินต้นคงเหลือ หรือการปรับอัตราดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ จากเดิมที่คำนวณจากฐานเงินต้นที่เหลือทั้งหมด ก็เปลี่ยนเป็นคิดจากเฉพาะเงินต้นของค่างวดนั้นๆ เท่านั้น



     แม้ในภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ ที่หลายธุรกิจอาจต้องปิดตัวลง เพราะทนแบกรับภาระกับแรงต้านทานต่างๆ ที่เข้ามาไม่ไหว SME บางคนอาจรู้สึกหดหู่หมดหนทางสู้กับภาระที่ต้องแบกรับไว้หลายทาง ทั้งตัวธุรกิจเองที่ต้องพยุงให้รอด การดูแลพนักงานให้อยู่กันไปตลอดรอดฝั่งด้วยกัน ไหนจะหนี้สินที่เป็นภาระกับแบงก์ เรียกว่าต้องดูทุกทางพยายามบาลานซ์ทุกอย่างให้ไปด้วยกันได้ดีที่สุด แต่ในวันนี้ก็เหมือนจะมีแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ส่องเข้ามาให้ใจชื่นกันขึ้นมาบ้าง เมื่อธนาคารแห่งประเทศไทยได้ให้ความสำคัญและตระหนักถึงภาระที่ผู้ประกอบการธุรกิจต่างๆ ต้องแบกรับในภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ จึงได้สั่งให้สถาบันการเงินต่างๆ ปรับทบทวนอัตราดอกเบี้ยให้เป็นธรรม เหมาะสม เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระหนี้ รวมถึงส่งเสริมความสามารถในการชำระหนี้ให้เกิดความคล่องตัวและเป็นไปได้อย่างราบรื่นมากที่สุด นับเป็นข่าวดีต้อนรับปีชวด ที่ธุรกิจจะไม่ชวดจริงๆ มีนัยยะสำคัญอะไรบ้างนั้นไปดูกัน
 




     ไถ่ถอนก่อนกำหนด ให้คิดค่าปรับจากยอดเงินต้นคงเหลือ

               

     จากค่าปรับการไถ่ถอนสินเชื่อก่อนกำหนด (Prepayment) สำหรับสินเชื่อ SME และสินเชื่อส่วนบุคคล ซึ่งมีลักษณะการผ่อนชำระเป็นงวด โดยจากเดิมที่แบงก์หรือสถาบันการเงินเคยคิดค่าปรับจากฐานวงเงินสินเชื่อทั้งก้อน ก็ให้ใช้หลักเกณฑ์ใหม่ คือ ให้คิดค่าปรับแค่ยอดเงินต้นคงเหลือ รวมทั้งให้กำหนดช่วงเวลาที่จะยกเว้นการเรียกเก็บค่าปรับการไถ่ถอนให้ชัดเจน ยกตัวอย่างเช่น กู้เงินมา 10 ล้านบาท กำหนดชำระหนี้ในระยะเวลา 10 ปี ผ่านไป 3 ปี สามารถชำระได้ 3 ล้านบาท จากเดิมจะต้องมีการคำนวณค่าธรรมเนียมจากยอดเงินกู้ทั้งหมดที่ 10 ล้านบาท ก็ให้เปลี่ยนมาเป็นคำนวณจากยอดเงินต้นคงเหลือที่ 7 ล้านบาทแทน ซึ่งจากมาตรการดังกล่าวคาดว่าจะช่วยให้ผู้ให้บริการเกิดการแข่งขันมากขึ้นในระบบ ซึ่งจะเป็นประโยชน์และสร้างทางเลือกที่น่าสนใจแก่ผู้ประกอบการ SME รวมถึงทำให้ตลาด Refinancing เกิดขึ้นในไทย
 
 

 

     ผิดนัดชำระหนี้ ให้คิดดอกเบี้ยเฉพาะเงินต้นของค่างวดนั้นเท่านั้น
               

     ในการผิดนัดชำระหนี้บนค่างวด (Installment) จากเดิมที่แบงก์หรือสถาบันการเงินมักจะคิดค่าปรับโดยคำนวณจากฐานเงินต้นที่เหลือทั้งหมด ให้เปลี่ยนมาเป็นคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้เฉพาะส่วนที่เป็นเงินต้นของค่างวดนั้นเท่านั้น ตัวอย่างเช่น มีการกู้ซื้ออสังหาริมทรัพย์ 5 ล้านบาท ผ่อนชำระ 20 ปี ดอกเบี้ย 8 เปอร์เซ็นต์ต่อปี คิดเป็นค่างวดตกเดือนละ 42,000 บาท (แบ่งเป็นเงินต้น 10,000 บาท, ดอกเบี้ย 32,000 บาท) ชำระมาแล้ว 24 งวด แต่มาผิดนัดชำระในงวดที่ 25 จากเดิมที่ผู้กู้จะต้องถูกคิดดอกเบี้ยในการผิดนัดชำระบนยอดเงินต้นคงเหลือ 4.77 ล้านบาท (งวดที่ 25 – 240) ก็ให้เปลี่ยนคิดดอกเบี้ยบนยอดเงินต้นของค่างวดที่ผิดนัด คือ 10,000 บาทแทน ซึ่งจากมาตรการดังกล่าวนั้นทำให้เกิดความเป็นธรรมและคำนึงถึงความสามารถของลูกหนี้ที่เป็นจริงได้มากขึ้น เป็นการช่วยลดโอกาสที่ลูกหนี้จะไม่สามารถชำระหนี้คืนได้ด้วย
 




       คืนส่วนต่างค่าธรรมเนียมบัตร ATM ทันทีที่เลิกใช้
               

     อีกเรื่องถึงเป็นเรื่องเล็กๆ แต่ก็ส่งผลดีต่อใจทั้งต่อผู้ประกอบการ SME และประชาชนทั่วไปในยามที่สภาวะเศรษฐกิจฝืดเคืองเช่นนี้ นั่นคือ การคืนค่าธรรมเนียมรายปีตามสัดส่วนระยะเวลาคงเหลือของบัตรนั้นๆ แก่ผู้ใช้บริการทันที โดยไม่ต้องร้องขอ ซึ่งจากเดิมจะไม่มีการคืนให้ หรือคืนเฉพาะกรณีที่มีการร้องขอเท่านั้น นอกจากนี้ยังให้มีการยกเว้นค่าธรรมเนียมในกรณีที่มีการขอออกบัตรใหม่หรือรหัสทดแทน ซึ่งจากเดิมมักเรียกเก็บทุกรณี มาตรการใหม่ แต่หากมีต้นทุนที่สูง ก็สามารถยกเว้นได้ตามความเหมาะสม

 

       
        
     นอกจาก 3 ข้อหลักๆ ที่กล่าวมาแล้วนั้น แบงก์ชาติยังได้ออกมาตรการชั่วคราว เพื่อปรับโครงสร้างหนี้ เพื่อช่วยเหลือ SME แบ่งเบาภาระในยามที่เศรษฐกิจโลกไม่แน่นอนเช่นนี้ โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 63 – 31 ธ.ค. 64 เป็นต้นไป ได้แก่


     1. ปรับโครงสร้างหนี้เชิงป้องกันสำหรับลูกหนี้ที่ไม่เป็น NPL โดยการลดดอกเบี้ย และการขยายระยะเวลาชำระหนี้


     2. ปรับโครงสร้างหนี้สำหรับลูกหนี้ที่เป็น NPL ให้เลื่อนขั้นเป็นลูกหนี้ปกติได้ เมื่อลูกหนี้ปรับโครงสร้างและชำระหนี้ได้ 3 เดือน หรือ 3 งวดติดต่อกัน จากเดิมที่ต้องรอถึง 12 เดือน


     3. สนับสนุนสถาบันการเงิน และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (SFIs) โดยให้ลูกหนี้สามารถขอสินเชื่อใหม่ได้ เพื่อใช้เป็นทุนหมุนเวียน และสามารถจัดชั้นเป็นหนี้ปกติได้ หากลูกหนี้มีกระแสเงินสดรองรับการชำระหนี้ เพื่อให้ลูกหนี้สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง


     4. สนับสนุนให้สถาบันการเงินไม่ลดวงเงินที่ยังไม่ได้ใช้ของลูกหนี้ และไม่ต้องกันสำรองสำหรับวงเงินสินเชื่อที่ลูกหนี้ยังไม่ได้ใช้


     5. ให้สถาบันการเงินรายงานเป้าหมายสินเชื่อตามมาตรการและยอดคงค้างสินเชื่อของลูกหนี้ เป็นรายเดือนภายใน 21 วันนับจากวันสิ้นเดือน เพื่อประโยชน์ในการติดตามสถานการณ์การให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ โดยเริ่มตั้งแต่สิ้นเดือนมกราคม 2563 – ธันวาคม 2564
 
               
      และนี่คือ มาตรการร้อนฉบับเร่งด่วนที่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ส่งออกมาช่วยเหลือ SME หวังว่าอย่างน้อยๆ ผู้ประกอบการคนใดได้ฟังคงพอช่วยสร้างกำลังใจ และแบ่งเบาภาระลงไปได้บ้าง

     จับมือไว้แล้วสู้ไปด้วยกันนะ..สู้ๆ!
 
 





www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
 

RECCOMMEND: FINANCE

หมัดเด็ด วิธีเอาชนะเงินเฟ้อ ฉบับคุณปู่ Warren Buffett ที่ใครก็ใช้ได้

หนึ่งในปัญหาของคนทำธุีกิจวันนี้คือ “ภาวะเงินเฟ้อ” เงินเท่าเดิม แต่กลับซื้อสินค้าและวัตถุดิบได้น้อยลงกว่าเดิม ทำให้ต้นทุนเพิ่มสูงขึ้น แถมขายของก็ไม่ได้ดีเหมือนเก่า เลยชวนมาดูเคล็ดลับบริหารการเงินและลงทุนในภาวะเงินเฟ้อ จาก “วอร์เรน บัฟเฟตต์” เจ้าพ่อนักลงทุนกัน

รวมสินเชื่อรีไฟแนนซ์ ช่วยลดภาระหนี้ ธุรกิจไม่สะดุด

ภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ และวิกฤตที่รุมเร้าเข้ามา อาจทำให้ธุรกิจต้องสะดุด ขาดสภาพคล่องเลยอยากชวนมารีไฟแนนซ์สินเชื่อธุรกิจ อย่างน้อยเพื่อช่วยยืดระยะเวลาการใช้หนี้ออกไป ช่วยลดดอกเบี้ย ไปจนถึงอาจได้เงินอีกสักก้อนมาช่วยหมุนเวียนในธุรกิจ

ขายดีอย่างไรไม่ให้มีความเสี่ยง 5 เคล็ดลับบริหารสภาพคล่องจาก บสย.

อุปสรรคสำคัญที่ทำให้ธุรกิจของเอสเอ็มอีต้องสะดุดหยุดชะงักหรือไปต่อได้ไม่สุด คือ เงินทุนที่มีอยู่จำกัดจำเขี่ย ต่อให้ขายดีเพียงใด ถ้าไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันก็กู้เงินจากธนาคารไม่ได้