อวสานโลกสวย! เขาว่าผู้ประกอบการหญิงเข้าถึงสินเชื่อยากกว่าชายจริงไหม?




Main Idea
 
  • จริงหรือไม่ที่กิจการ SME ซึ่งมีผู้หญิงเป็นเจ้าของหรือบริหารมักจะเข้าถึงสินเชื่อจากธนาคารได้ยากกว่ากิจการที่กุมบังเหียนโดยผู้ชาย ทำไมสังคมที่ก้าวไปไกล อยู่ในยุคที่ใครๆ เรียกว่าดิจิทัล ถึงยังมีประเด็นปัญหาเรื่องความเท่าเทียมทางเพศให้เห็น
 
  • การมาถึงของ “พันธบัตรสนับสนุนผู้ประกอบการหญิง” สะท้อนความจริงในเรื่องนี้ เมื่อสถาบันการเงินต้องลุกมาประกาศสร้างความเท่าเทียม โดยใช้บทเรียนจากต่างประเทศ มาสร้างโอกาสเข้าถึงแหล่งทุนให้ SME สตรีไทย  




     การพูดเรื่องความเท่าเทียมทางเพศในปี 2562 อาจเป็นประเด็นที่หลายคนมองว่าเอ้าท์ ล้าหลัง ก็ยุคดิจิทัลแบบนี้เป็นยุคแห่งความเท่าเทียม ความเสรี ไม่มีใครเขาแบ่งแยกความเป็นหญิงชาย หรือไม่ได้อยู่ในยุคที่ชายเป็นใหญ่เหมือนในอดีตอีกต่อไปแล้ว
               

      ในรายงานการศึกษาความเป็นผู้ประกอบการทั่วโลกประจำปี 2560/2561 โดย Global Entrepreneurship Monitor (GEM) ยังเผยให้เห็นว่า ผู้ประกอบการหญิงมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น และความเสมอภาคทางเพศก็มีมากขึ้นด้วย โดยอัตราผู้ประกอบการหญิงเพิ่มขึ้น 6.6 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศเดียวกัน 50 ประเทศที่เข้าร่วมการสำรวจในปี 2559/2560  และในปี 2560 กิจกรรมความเป็นผู้ประกอบการหญิงก็เพิ่มขึ้นถึง 10 เปอร์เซ็นต์ทั่วโลก นี่ก็น่าจะเป็นสัญญานที่ดีในโลกของผู้ประกอบการหญิง
               

      แต่ในโลกแห่งความเป็นจริง ผู้ประกอบการ SME ที่เป็นผู้หญิง หรือกิจการที่มีผู้หญิงบริหารนั้นยังต้องเผชิญกับความยากลำบากมากมาย หลายคนต้องดิ้นรนต่อสู้สร้างธุรกิจขึ้นมาด้วยสองมือ เพราะหลายครอบครัว ยังให้ความสำคัญกับทายาทที่เป็นชาย ขณะที่เมื่อถึงเวลาต้องพึ่งพาสินเชื่อจากธนาคาร ความเป็นหญิงกลับเป็นอุปสรรคที่ลดทอนโอกาสในการเข้าถึงแหล่งทุนของพวกเธอด้วย
 



            
    ส่องอุปสรรคการเข้าถึงแหล่งทุนของ SME ที่เป็นหญิง


       “จากสถิติทั่วโลกพบว่าผู้หญิงมีโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้น้อยกว่าผู้ชาย เพราะการรับรู้ของคนมักจะมองว่าผู้หญิงอาจมีความสามารถในบริหารจัดการหรือประสบการณ์ที่ไม่เทียบเท่ากับผู้ชาย ขณะที่ในประเทศไทยกลุ่มธุรกิจ SME เป็นแรงขับเคลื่อนในระบบเศรษฐกิจที่สำคัญ โดยเรามีบริษัทที่จดทะเบียนเป็น SME ทั่วประเทศกว่า 3 ล้านบริษัท ก่อให้เกิดการจ้างงานกว่า 12 ล้านตำแหน่ง ปัญหาสำคัญของกลุ่ม SME คือการเข้าถึงแหล่งเงินทุน โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้า SME ที่มีผู้หญิงเป็นเจ้าของหรือเป็นผู้บริหารด้วยแล้ว ก็มักจะเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ยากขึ้นไปอีก เป็น SME ว่ายากแล้ว แต่เป็น SME ผู้หญิงนั้นยากยิ่งกว่า”


       “พูนสิทธิ์ ว่องธวัชชัย” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานการพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อม  สังคม  และธรรมาภิบาลสู่ความยั่งยืน  ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด  (มหาชน) บอกความจริงที่เกิดขึ้นกับกลุ่มผู้ประกอบการหญิงทั้งในประเทศไทยและระดับโลก 


      สอดรับกับความเห็นของ “ชุลีกร สถิตพงศ์พิพัฒน์” ผู้ประกอบการการหญิงเจ้าของบริษัท แคสชาย จำกัด  และ บริษัท ร้อยแปด ฟู้ดส์ จำกัด เธอยอมรับว่า การเป็นผู้ประกอบการหญิงนั้นเข้าถึงสินเชื่อได้ยากกว่าผู้ประกอบการชายจริง เพราะวัฒนธรรมองค์กรของธนาคารส่วนใหญ่ยังไม่ค่อยเปิดในเรื่องความสามารถของผู้หญิงเท่าที่ควร  โดยยังให้การยอมรับและเชื่อมั่นกับผู้ประกอบการที่เป็นชายมากกว่า


     “ธุรกิจที่ทำอยู่มีสองบริษัท หนึ่งในนั้นคือบริษัทรับเหมาก่อสร้างและตกแต่งภายใน ซึ่งทำมาประมาณ 9 ปีแล้ว แต่คนส่วนใหญ่มักจะมองว่านี่เป็นธุรกิจของผู้ชาย ไม่ใช่ผู้หญิงอย่างเรา ถ้าพูดในแง่ของลูกค้าเขาเชื่อใจนะ แต่ถ้าเป็นหน่วยงานราชการหรือแบงก์นี่ เขาจะไม่ค่อยโอเคกับผู้หญิงเท่าไร ทีนี้เลยทำให้การขอสินเชื่อต่างๆ ยากตามไปด้วย เพราะทัศนคติที่มีต่อผู้ประกอบการที่เป็นผู้หญิง โดยที่เขาไม่ได้มาดูว่าเวลาเราทำงานคุมลูกน้องเป็นอย่างไร และทุ่มเทจริงจังกับการทำธุรกิจแค่ไหน” ชุลีกรบอก






      ขณะที่บางคนมองว่าผู้ชายมีความแข็งแกร่ง การใช้แรงในการทำงานจึงเก่งกว่าผู้หญิง แต่ชุลีกรมองว่า ในการทำธุรกิจสิ่งสำคัญคือการใช้หัวในการบริหารงาน ฉะนั้นสิ่งที่ผู้ประกอบการต้องมีคือความรู้ลึก รู้จริงในงานที่ทำ และเธอยังเชื่อว่าความสำเร็จในการทำงานไม่เกี่ยวกับเพศ แต่อยู่ที่ความรู้ความสามารถ ความคิด ความละเอียดใส่ใจและความรับผิดชอบงานต่องานที่ทำ ฉะนั้นไม่ว่าเพศหญิงหรือชายก็มีโอกาสประสบความสำเร็จในโลกธุรกิจได้เท่ากัน และนั่นคือสิ่งที่อยากให้สถาบันการเงินนำมาพิจารณาในการให้สินเชื่อ


        “อย่างในบริษัทเรามีพนักงานที่เป็นผู้หญิงอยู่เยอะมาก โดยเฉพาะในระดับหัวหน้างาน ไล่มาตั้งแต่ บัญชี การเงิน จัดซื้อ ต่างก็เป็นผู้หญิง เหตุผลเพราะมองว่าผู้หญิงมีความละเอียดรอบคอบและใส่ใจในการทำงานมากกว่า คิดทั้งแนวกว้างและแนวลึก และคิดป้องกันปัญหาสำหรับอนาคตได้ดีด้วย แต่อย่างไรก็ตามด้วยธุรกิจที่เราทำ เขาเองก็ต้องมีความรู้เกี่ยวกับตัววัสดุต่างๆ อย่างละเอียดด้วย เช่น เอามือลูบดูก็ต้องรู้ว่าเป็นวัสดุอะไร ดีหรือไม่ดีอย่างไร ฉะนั้นไม่ใช่ว่าเขาเป็นผู้หญิงก็พอ แต่ต้องเป็นคนที่มีความรู้จริงในงานที่ทำด้วย”


       เธอบอกว่า วันนี้สัดส่วนของผู้ประกอบการผู้หญิงมีเยอะกว่าผู้ชาย และสังเกตเลยว่าส่วนใหญ่จะต้องล้มลุกคลุกคลานมาด้วยตัวเอง โดยที่ไม่ค่อยมีการสนับสนุนในเรื่องเงินทุนจากแหล่งใดสักเท่าไร ต่างกับผู้ชายที่ส่วนใหญ่จะมีฐานจากครอบครัวเป็นหลัก ผู้หญิงจึงต้องสู้และสร้างทุกอย่างขึ้นมาด้วยตัวเอง


        “ทำธุรกิจมา 9 ปี กำลังเข้าสู่ปีที่ 10 ก็ยังเจอปัญหานี้ ทัศนคติที่หลายคนมีต่อผู้ประกอบการที่เป็นผู้หญิงไม่ได้เปลี่ยนไปเลย โดยที่ลืมมองว่าไปว่าตอนนี้ผู้หญิงมีความสามารถแค่ไหนและโลกไปถึงไหนกันแล้ว”เธอย้ำในตอนท้าย
               



 
  
        เมื่อแบงก์ขยับ ลุกมาออกพันธบัตรเพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการหญิง


         ประเด็นการเข้าถึงสินเชื่อของผู้ประกอบการหญิง ยังเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นทั่วโลก ไม่เฉพาะแต่ประเทศไทย และจากจุดนี้เองที่ทำให้ล่าสุด ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ประกาศตัวเป็นธนาคารแรกที่ออกพันธบัตรเพื่อผู้ประกอบการหญิง (Women Entrepreneurs Bonds) ซึ่งเป็นพันธบัตรที่คำนึงถึงเพศสภาพ (Gender Bond) ให้แก่ผู้ลงทุนในต่างประเทศ รวม 220 ล้านเหรียญ หรือราว 7,000 ล้านบาท  เพื่อจัดหาแหล่งสินเชื่อให้แก่กิจการ SME ที่มีผู้หญิงเป็นเจ้าของหรือผู้บริหารในประเทศไทย ซึ่งนับเป็นครั้งแรกในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และเป็นพันธบัตรเพื่อสังคมที่ออกเป็นครั้งแรกในตลาดเกิดใหม่ในเอเชียตามหลักการพันธบัตรเพื่อสังคมของสมาคมตลาดทุนสากล และมาตรฐานพันธบัตรเพื่อสังคมแห่งอาเซียน (ASEAN Social Bond Standards)


        โดยเซอิจิโระ อาคิตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกรุงศรี บอกว่า ธนาคารพร้อมช่วยสนับสนุนด้านเงินทุนอย่างทั่วถึงในลูกค้าทุกกลุ่ม ซึ่งรวมถึงกลุ่มลูกค้าที่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ อาทิ ผู้ประกอบการ SME ที่มีเจ้าของหรือผู้บริหารเป็นผู้หญิงด้วย ซึ่งผู้ประกอบการ SME มากกว่าครึ่งในประเทศไทยโดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการหญิงยังขาดโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน โดยคาดว่าความต้องการเงินทุนของผู้ประกอบการหญิงเหล่านี้มีมูลค่ากว่า 2.5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ เทียบเท่าร้อยละ 61 ของความต้องการเงินทุนที่ยังขาดแคลนสำหรับผู้ประกอบการรายย่อยและผู้ประกอบการ SME ทั้งหมดในประเทศไทย


        ขณะที่ “พูนสิทธิ์ ว่องธวัชชัย” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานการพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อม  สังคม  และธรรมาภิบาลสู่ความยั่งยืน  ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ให้ข้อมูลว่า


      “เราออกพันธบัตรเพื่อสังคมโดยที่เอาเงินที่ได้มาไปปล่อยกู้ให้กับธุรกิจ SME ที่มีเจ้าของหรือผู้บริหารระดับสูงเป็นผู้หญิง โดยจะปล่อยผ่านกลุ่มลูกค้าธุรกิจรายย่อย (SME-BB) ซึ่งปัจจุบันพอร์ตสินเชื่อ SME ของธนาคารมีมูลค่ารวม 2.7 แสนล้านบาท และเป็นสินเชื่อกลุ่มลูกค้าธุรกิจรายย่อย ที่มีวงเงินให้สินเชื่อที่เป็นบุคคลไม่เกิน 15 ล้านบาท และนิติบุคคลไม่เกิน 20 ล้านบาท อยู่ที่ 4 หมื่นล้านบาท ขณะที่จำนวนลูกค้า SME ของธนาคารมีอยู่ 26,000 ราย เป็นธุรกิจที่มีผู้ประกอบการเป็นผู้หญิงประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์ โดยคาดว่าภายใน 3 ปี จะสามารถให้สินเชื่อแก่ SME ที่มีผู้ประกอบการเป็นผู้หญิง ได้ราว 350 ราย”
               





      เขายกตัวอย่างความสำเร็จที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ ของการลงทุนในธุรกิจที่มีผู้ประกอบการหรือผู้บริหารเป็นผู้หญิง อย่างกรณีศึกษาของ ธนาคาร กรามีน  (Grameen Bank) ประเทศบังกลาเทศ ที่มีการปล่อยกู้ในกลุ่มผู้หญิง โดยพบว่า มีหนี้เสียลดลง และก่อให้เกิดการจ้างงานมากขึ้น เพิ่มโอกาสการมีส่วนร่วมในระบบเศรษฐกิจมากขึ้น คุณภาพชีวิตของคนในสังคมดีขึ้น ขณะที่การศึกษาในระดับโลกยังพบอีกว่า การให้เงินสนับสนุนผู้ประกอบการที่เป็นผู้หญิง ก่อให้เกิดผลดีทั้งในเรื่องของการจ้างงานและในเชิงสังคมตามมาด้วย
 






     ทั่วโลกเดินหน้าผลักดันผู้ประกอบการหญิง 


      ความพยายามในการสนับสนุนผู้ประกอบการที่เป็นหญิง ไม่ได้หยุดแค่ในประเทศไทย แต่ทั่วโลกกำลังตระหนักถึงความสำคัญในเรื่องนี้ เช่นเดียวกับ Mary Kay Inc. ผู้ให้การสนับสนุนชั้นนำด้านการเสริมสร้างศักยภาพและการเป็นผู้ประกอบการของผู้หญิง ที่ได้จับมือหน่วยงานของสหประชาชาติเปิดตัวโครงการ Women’s Entrepreneurship Accelerator เพื่อลงทุนในด้านการเป็นผู้ประกอบการของผู้หญิงทั่วโลก
               


      โครงการ Women’s Entrepreneurship Accelerator หรือ ตัวเร่งการเป็นผู้ประกอบการของผู้หญิง ออกแบบมาเพื่อสร้างแรงบันดาลใจ ให้ความรู้ และเพิ่มศักยภาพผู้ประกอบการสตรีทั่วโลก โดยที่ผู้หญิงสามารถเข้าร่วมได้อย่างไร้อุปสรรค โครงการนี้จะนำเสนอหลักสูตรดิจิทัลที่มีคนช่วยสอนผ่านการฝึกอบรมและการให้คำปรึกษา นอกจากนี้ยังจะทำหน้าที่เป็นแพลตฟอร์มสนับสนุนในการขจัดสิ่งกีดขวางและอุปสรรคสำหรับผู้ประกอบการผู้หญิง เริ่มตั้งแต่ความสามารถด้านดิจิทัลไปจนถึงการปฏิรูปกฎหมาย ซึ่งจะช่วยให้ผู้หญิงมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ในการเติบโตของเศรษฐกิจระดับท้องถิ่นและระดับชาติ  โครงการจะสนับสนุนให้ธุรกิจต่างๆ สร้างและขยายความสัมพันธ์กับธุรกิจของผู้หญิง รวมไปถึงการจัดซื้อจัดจ้างขององค์กร รวมถึงโอกาสการระดมทุนที่สามารถเข้าถึงได้โดยผู้หญิงที่จบหลักสูตรนี้มากขึ้นด้วย
               
               

      นี่คือตัวอย่างของสัญญานที่ดีที่จะช่วยปิดช่องว่างหรืออุดรอยโหว่ในเรื่องความเท่าเทียมทางเพศสภาพในโลกธุรกิจ เพราะไม่ว่าจะเป็น SME ชายหรือหญิง ก็ควรมีโอกาสเข้าถึงความสำเร็จได้อย่างเท่าเทียม ด้วยความมุ่งมั่น และความรู้ความสามารถ ไม่ใช่แค่คำนำหน้าที่มาพร้อมกับชื่อของพวกเขา
               


 
 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
 

RECCOMMEND: FINANCE

หมัดเด็ด วิธีเอาชนะเงินเฟ้อ ฉบับคุณปู่ Warren Buffett ที่ใครก็ใช้ได้

หนึ่งในปัญหาของคนทำธุีกิจวันนี้คือ “ภาวะเงินเฟ้อ” เงินเท่าเดิม แต่กลับซื้อสินค้าและวัตถุดิบได้น้อยลงกว่าเดิม ทำให้ต้นทุนเพิ่มสูงขึ้น แถมขายของก็ไม่ได้ดีเหมือนเก่า เลยชวนมาดูเคล็ดลับบริหารการเงินและลงทุนในภาวะเงินเฟ้อ จาก “วอร์เรน บัฟเฟตต์” เจ้าพ่อนักลงทุนกัน

รวมสินเชื่อรีไฟแนนซ์ ช่วยลดภาระหนี้ ธุรกิจไม่สะดุด

ภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ และวิกฤตที่รุมเร้าเข้ามา อาจทำให้ธุรกิจต้องสะดุด ขาดสภาพคล่องเลยอยากชวนมารีไฟแนนซ์สินเชื่อธุรกิจ อย่างน้อยเพื่อช่วยยืดระยะเวลาการใช้หนี้ออกไป ช่วยลดดอกเบี้ย ไปจนถึงอาจได้เงินอีกสักก้อนมาช่วยหมุนเวียนในธุรกิจ

ขายดีอย่างไรไม่ให้มีความเสี่ยง 5 เคล็ดลับบริหารสภาพคล่องจาก บสย.

อุปสรรคสำคัญที่ทำให้ธุรกิจของเอสเอ็มอีต้องสะดุดหยุดชะงักหรือไปต่อได้ไม่สุด คือ เงินทุนที่มีอยู่จำกัดจำเขี่ย ต่อให้ขายดีเพียงใด ถ้าไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันก็กู้เงินจากธนาคารไม่ได้